JKN ดิ่งฟลอร์ 29% หลังยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ‘โบรกเกอร์’ เตือน ‘เลี่ยงลงทุน’

JKN ดิ่งฟลอร์ 29% หลังยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ‘โบรกเกอร์’ เตือน ‘เลี่ยงลงทุน’

ราคาหุ้น JKN เปิดตลาดดิ่งฟลอร์ที่ระดับ 29.36% หรือราคาลดลง 0.32 บาท มาอยู่ที่ 0.77 บาท หลังยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ‘โบรกเกอร์’ เตือน ‘เลี่ยงลงทุน’

ช่วงเช้าของวันนี้ (9 พ.ย.66) บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) มีรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พ.ย.66 มีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ส่งผลให้ราคาหุ้น JKN เปิดตลาดดิ่งฟลอร์ที่ระดับ 29.36% หรือราคาลดลง 0.32 บาท มาอยู่ที่ 0.77 บาท 

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า JKN มีการยื่นขอคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเอง ซึ่งการยื่นขอฟื้นฟูกิจการคือ การปกป้องกิจการของตนเอง เนื่องจาก JKN ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง หากมีคนอื่นเข้ามายื่นให้ JKN ชำระหนี้หรือคืนหนี้แทน JKN อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ฉะนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะส่งผลให้สภาวะกิจการสามารถหยุดพักชำระหนี้ได้ หมายความว่า เจ้าหนี้จะเข้ามาเรียกร้องมิได้ หรืออาจจะต้องมีการแสดงตนว่า ใครบ้างที่เป็นเจ้าหน้าที่ และมีสิทธิเรียกร้องอะไรได้บ้าง ดังนั้น JKN จึงต้องไปทำแผนเพื่อมายื่นต่อศาลล้มละลายกลาง ว่าแผนจะเป็นในลักษณะอย่างใด เพื่อพิจารณาว่าจะได้รับการอนุมัติต่อไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในการทำแผนฟื้นฟูกิจการบางครั้งลูกหนี้ได้มีการทำแผนมา แต่เจ้าหนี้ก็สามารถเข้ามาคัดค้านขอเป็นคนทำแทนเองก็ได้สามารถทำได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหนี้เชื่อมั่นลูกหนี้มากน้อยแค่ไหน หากมองว่า ลูกหนี้ทำแผนฟื้นฟูแล้วไม่น่าจะดี เจ้าหนี้ก็สามารถทำเองได้ เช่น ทั้งการฟื้นฟูธุรกิจหรือการตัดขายสินทรัพย์ หรือการแบ่งธุรกิจออกมาก็สามารถเกิดขึ้นได้ 

“การที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการเอง เป็นการขอหยุดพักชำระหนี้ก่อน และขณะเดียวกันขอทำแผนฟื้นฟูไปด้วย เผื่ออาจจะดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเจ้าหนี้มาทำแผน เจ้าหนี้อาจจะไม่ได้คิดถึงลูกหนี้ในระยะยาว และขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะแสดงตนอย่างไร”

แนะนำนักลงทุนให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปลงทุน เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ JKN มีการเข้าซื้อมิสยูนิเวิร์ส มีความเสี่ยงของการเพิ่มทุน โดยธุรกิจแล้วมีการใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นกลายเป็นกระแสเงินสดติดลบในเรื่องของการลงทุน ซึ่ง ณ วันนั้นมีกระแสเงินสดที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว และยังไปลงทุนในธุรกิจมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งมิสยูนิเวิร์สเองก็ขาดทุนอยู่ ณ ขณะนั้น เมื่อธุรกิจมีกระแสเงินสดไม่ดี และยังไปซื้อกิจการที่เงินไหลออก รวมกันแล้วโอกาสแย่มากกว่าดี ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้เห็นพัฒนาการมากนัก และยังไม่ได้เห็นจุดเปลี่ยนในเชิงของธุรกิจ

ขณะเดียวกัน จุดที่เป็นคำถามคือ สินทรัพย์ที่กิจการมีจริงนั้น มีมูลค่าที่แสดงในงบการเงินหรือไม่ เพราะเมื่อซื้อคอนเทนต์มา 1 เรื่อง มีการตัดค่าเสื่อมราคาอย่างไร หรือเช่น ถ้ามีการตัดราคา จากการทำซีดี ดีวีดี ขายได้ 5 ปี และตัดค่าเสื่อมราคาไปส่วนหนึ่ง จะเหลือมูลค่านั้นอยู่ในงบการเงิน แต่คำถามคือ แท้จริงแล้วคอนเทนต์นั้นจะดีไปถึง 5 ปีนั้นจริงหรือไม่ หรือดูรอบแรกแล้วต่อไปไม่สามารถนำไปทำผลประโยชน์ต่อได้อย่างที่คิด ถ้าเป็นเช่นนั้น มูลค่าของสินทรัพย์ที่เห็นอยู่ในงบการเงินอาจจะเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงหรือไม่ แต่เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้ในรายละเอียดที่แท้จริงตรงส่วนนี้ 

“สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้น JKN ทำได้คือ ติดตามความคืบหน้า การฟื้นฟูกิจการของบริษัท และแนวทางการฟื้นฟู แต่ถือว่าเป็นความเจ็บปวดระยะยาว เนื่องจากสภาวะหนี้ปัจจุบันค่อนข้างมาก ทำให้แนวทางแก้ไขมีโอกาสเหนื่อย ทั้งธุรกิจทีวี และธุรกิจขายคอนเทนต์เป็นธุรกิจใช้เงินเกือบทั้งหมด”

JKN ดิ่งฟลอร์ 29% หลังยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ‘โบรกเกอร์’ เตือน ‘เลี่ยงลงทุน’

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์