ดาวโจนส์บวกกว่า 200 จุด ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร

ดาวโจนส์บวกกว่า 200 จุด ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(3พ.ย.)ปรับตัวขึ้นกว่า 200 จุด ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และดัชนีภาคบริการที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 222.24 จุด หรือ 0.66% ปิดที่ 34,061.32 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 40.56 จุด หรือ 0.94% ปิดที่ 4,358.34 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 184.09 จุด หรือ 1.38% ปิดที่ 13,478.28 จุด

 

นักลงทุนเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.2567 เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.2567

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 90.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนม.ค.และเดือนมี.ค.ของปี 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นเพียง 150,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 188,000 ตำแหน่ง  

ส่วน อัตราการว่างงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.8%

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 51.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 53.6 ในเดือนก.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.0

ดัชนีได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงาน แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 4.6% หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานในวันนี้

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน