KTC ส่งไม้ต่อ ซีอีโอใหม่ เดินหน้าทำ’กำไรนิวไฮ’ ทุกปี

KTC ส่งไม้ต่อ ซีอีโอใหม่  เดินหน้าทำ’กำไรนิวไฮ’ ทุกปี

ซีอีโอใหม่ ‘เคทีซี’ ปักธงเดินหน้าทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องทุกปีให้ถึง 1 หมื่นล้านบาท จากปี 65 อยู่ที่ 7 พันล้านบาท พร้อมกางแผนธุรกิจปี 67 ชู 3 ธุรกิจหลัก รักษาพอร์ตสินเชื่อทุกผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและเติบโต พร้อมคาดแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีนี้ยังคึกคัก

นายระเฑียร ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า บริษัทแต่งตั้งซีอีโอใหม่ คือ นางสาวพิทยา วรปัญญาสกุล มีผลเริ่ม 1 ม.ค.2567  โดยร่วมงาน กับเคทีซีมายาวนานถึง 26 ปี รวมทั้งทีมผู้บริหารระดับสูงในสายงานต่างๆ ที่ร่วมงานกับเคทีซีมายาวนาน มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญมีดีเอ็นเอของความเป็นเคทีซีอยู่เต็มเปี่ยม

“เรายังเชื่อมั่นว่า กำไรยังนิวไฮในปีนี้และปีหน้าต่อเนื่องให้ถึง10,000 ล้านบาท ภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่นี้ จะสามารถส่งต่อและสานต่อหน้าที่และภารกิจสำคัญของเคทีซีให้สำเร็จได้อย่างราบรื่นต่อเนื่อง พร้อมคุมคุณภาพสินเชื่อ ปัจจุบันมี หนี้ไม่ก่อรายได้ (NPL) ที่ 2% ยังอยู่ในระดับทรงตัว และปีหน้าอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังควบคุมไว้ให้ต่ำกว่าอุตสาหกรรม ” 

KTC ส่งไม้ต่อ ซีอีโอใหม่  เดินหน้าทำ’กำไรนิวไฮ’ ทุกปี

ขณะที่แนวโน้มการใช้จ่ายปลายปีนี้ ยังมั่นใจว่า มีการเติบโตดีต่อเนื่องในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่พารากอน แต่ไม่มีผลกระทบมากนัก และนักท่องเที่ยวยังเดินทางเข้ามา ประกอบกับไตรมาส 4ของปี เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่มียอดการจับใช้จ่ายสอยผ่านบัตรเครดิตสูงอยู่แล้ว 

ส่วนนโยบายภาครัฐที่จะมีการแจกเงินดิจิทัล ในปี 2567 มองว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับ  ข้อดี คือ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แรงมาก ข้อเสีย คือ ต้องระวังการทุกจริต  ซึ่งภาครัฐเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น ประเด็นนี้ยังเป็นโจทย์ภาครัฐ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดโมเมนตัมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้จริง 

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ว่าที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี กล่าวถึงทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2567 และก้าวต่อไปว่าเรายังคงเป้าหมายทำกำไรให้เติบโตถึง 10,000 ล้านบาท โดยมุ่งทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องทุกปี  รวมถึงในปีนี้ด้วย 

จากปี2565 มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 7,079 ล้านบาท  ขณะที่ครึ่งปีแรก 2566 มีกำไรสุทธิ 3,678 ล้านบาท เติบโต1%จากครึ่งปีแรก 2565 อยู่ที่ 3,641 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี2567 ยังมีความไม่แน่นอนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่เรามีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมมาโดยตลอดเคทีซีเชื่อมั่นว่า 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม ยังมีโอกาสการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและพร้อมรุกตลาดในปีหน้า 

“ในปีหน้ามั่นใจว่า เรามีความสามารถในการปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รักษาฐานพอร์ตที่มีอยู่และแสวงหาโอกาสใหม่ ต่อยอดธุรกิจเคทีซีบนฐานลูกค้าใหม่และบนแพลตฟอร์มพันธมิตรที่แข็งแรง ส่วนในช่วงปลายปีนี้หากทางภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา จะส่งผลดีต่อเราด้วยเช่นกัน  

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิต จะเน้นขยายฐานสมาชิกใหม่ กลุ่มระดับบน  ที่มีการใช้จ่ายสูง มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน  และไปยังกลุ่มผู้ที่ต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกิดจำเป็น  สอดคล้องกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ของธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)  

ตั้งเป้าหมาย 2567 มียอดการใช้จ่าย เติบโต 15% จากเติบโต13-14% ในปีนี้ และมียอดบัตรเครดิตใหม่ 230,000 บัตร จากฐานสมาชิกใหม่ 2.3 ล้านคน มีอัตราการใช้บัตร Ative สูงถึง 90% 

ธุรกิจสินเชื่อบุคคล จะเติบโตได้จากฐานลูกค้าใหม่และพอร์ตปัจจุบัน และมีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์  ตั้งเป้าหมายปี2567 มีพอร์ตสินเชื่อบุคคลเติบโต  5% มีจำนวนสมาชิกใหม่ บัตรกดเงินสดเคมีซี พราว เพิ่มขึ้น 100,000ราย  จากปัจจุบัน 700,000 ราย 

สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม รถแลกเงิน จากความร่วมมือในการขยายฐานสมาชิกกับกรุงไทย ผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก และเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1  ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน1ชั่วโมงพร้อมรับเงินสดทันที และขยายหลักประกันต่างๆให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น  ตั้งเป้าหมายปี2567 สินเชื่อใหม่6,000 ล้านบาท 

ส่วนธุรกิจ MAAI by KTC เป็นธุรกิจที่ให้บริการระบบบริหารจัดการ ความสัมพันธ์กับลูกค้า  ในปี2567 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลาง และใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย  เป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยพันธมิตรเป้าหมายของแพลตฟอร์ม MAAI จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจ ที่เน้นสร้างความถี่ในการกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำ และยังมีการนำเสนอโมเดลบริการที่หลากหลายช่วยพันธมิตรร้านค้าบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) และแฟลตฟอร์มลอยัลตี้ แบบครบวงจรแก่ ผู้ประกอบธุรกิจ  

นอกจากนี้ จากการที่ ธปท.มีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายหลาบรอบและสุดท้ายขึ้นมาที่ 2.5%  ดังนั้นในส่วนของการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในปี 2567 เคทีซีจะยังคงรักษาระดับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 

โดยมีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 11,850 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ประมาณ 20:80 และต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ประมาณ 3.1% สูงขึ้นจากสิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% และมีกรอบอยู่ที่ไม่เกิน3.1% ในปีหน้า