โบรกคาด‘แบงก์’ไตรมาส4กำไรพุ่ง อานิสงส์ดดอกเบี้ยขึ้น ดัน ‘NIM’ เพิ่ม

โบรกคาด‘แบงก์’ไตรมาส4กำไรพุ่ง อานิสงส์ดดอกเบี้ยขึ้น ดัน ‘NIM’ เพิ่ม

หลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายครั้งล่าสุด 0.25% เป็นระดับ 2.50% แม้ว่าจะเป็นการสร้างความ “เซอร์ไพรส์” ให้กับตลาด แต่ในมุมของ “กลุ่มธนาคาร” (แบงก์) กลับได้ประโยชน์จากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นช่วงท้ายปี

แต่ยังไม่ได้ส่งผลบวกทันทีต่อ "ผลกำไร" ของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2566 ทันที และปรับลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้า   

จากผลกระทบจากกำไรลดลงจากการลงทุนตามราคาตลาดที่ปรับลดลง แต่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน และจะเริ่มหนุนส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ใน ไตรมาส 4 ปี 2566 เร่งตัวครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำปีได้อย่างมีนัยสำคัญ

โบรกคาด‘แบงก์’ไตรมาส4กำไรพุ่ง อานิสงส์ดดอกเบี้ยขึ้น ดัน ‘NIM’ เพิ่ม

 

"กรกช เสวตร์ครุตมัต" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยฯ คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2566 กลุ่มแบงก์ที่ 4.72 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุการปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คาดมาจากรายการที่ไม่ใช่รายการหลัก เช่น กำไร mark-to-market จากพอร์ตลงทุนที่ลดลง ขณะที่คาดสัดส่วนรายการหลักจะเพิ่มขึ้น เช่น อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) และสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ 

ขณะที่ปัจจัยหนุนการเติบโตของกำไรสุทธิเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน คาดว่า จะมาจาก NIM ที่สูงขึ้นจากอัตราเงินกู้มาตรฐานที่เพิ่มขึ้น 0.5-0.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

“เราคาดแบงก์ส่วนใหญ่จะรายงานกำไรสุทธิที่ลดลงไตรมาสต่อไตรมาส ยกเว้น ธนาคารกรุงศรี หรือ BAY (ฐานที่ต่ำ), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP (ฐานที่ต่ำ) และ ธนาคารกรุงไทย KTB (NIM ขยายตัวขึ้นมาก) และคาดว่า จะมีแค่ KKP ที่รายงานกำไรสุทธิที่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่สูงขึ้นและผลขาดทุนจากรถยึด” 

ส่วนทางด้านคุณภาพสินทรัพย์ “หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) คาดจะอ่อนตัวลงแต่ของธนาคารบางแห่งยังแข็งแกร่ง คาดว่าสัดส่วน NPL จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3 ปี 2566 มาอยู่ที่ 3.5% จาก 3.4% ในไตรมาส 2 ปี 2566 จาก NPL ที่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อ SME และรายย่อย เราคาดว่าทั้งการตัดจำหน่าย และการขายนี้เสียจะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2566 

 อย่างไรก็ดี เราคาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) จะทรงตัว จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.22 % จาช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 1.44% คาดว่าธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เช่น KKP, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ BAY จะรายงาน NPL ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า ธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจระดับสูง เช่น KTB, ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) และ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 

 "กรกช" บอกต่อว่า คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR/MOR/MRR) ในรอบหลังปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 2.5% และมองว่าการปรับขึ้นดังกล่าวถือเป็นนัยเชิงบวกเล็กน้อยจากการตัดสินใจครั้งล่าสุดของ ธปท. เนื่องจากคาดจะช่วยกระตุ้น NIM ให้สูงขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2566 

 แม้ปกติแล้วการบันทึกค่าใช้จ่ายประจำปีของธนาคารส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในไตรมาส 4 แต่ NIM ที่สูงขึ้นคาดจะช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยเฉพาะของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL, BAY, SCB และ KTB 

สำหรับธนาคารขนาดเล็ก คาดว่า ธนาคารทิสโก้ (TISCO) จะยังคงกำไสุทธิให้อยู่ในระดับเดิมไว้ได้จากอัตราสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ระดับสูงและการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่คาดว่า KKP จะประสบกับความยากลำบากมากขึ้นจาก NIM ที่ลดลงและ credit cost ที่สูง

โดยมีมุมมองของหุ้นกลุ่มธนาคารปรับลงเป็น “กลาง” จาก “บวก” ขณะที่ยังเลือก KTB ราคาเหมาะสมที่ 24.75 บาท และ BBL ราคาเหมาะสมที่ 196 บาท เป็นหุ้นเด่น จากประโยชน์ที่คาดได้รับจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น , CASA Ratio ที่สูงขึ้นและผลบวกทางอ้อมต่อสินเชื่อธุรกิจจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงขึ้นในตลาด

 อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 คาดกลุ่มจะน่าสนใจน้อยลงจากความเป็นไปได้ที่น้อยลงที่จะเพิ่ม NIM และลดต้นทุน ขณะที่คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้แตะระดับสูงสุดแล้ว 

 "กรรณ์ หทัยศรัทธา" ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ลูกค้ารายย่อย บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า คาดการณ์กำไรสุทธของกลุ่มธนาคาร ในไตรมาส 3 ปี 2566 กำไรสุทธิรวม 5.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เชื่อว่า NIM ของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2566 หลังธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่หากเทียบไตรมาสก่อนหน้า ยังเติบโตเล็กน้อย เพราะผลดีจากอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลงเล็กน้อยถูกหักล้างด้วยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ เราคาดการณ์ว่ากลุ่มธนาคารจะมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ประมาณ 43.5% ในไตรมาส 3 ปี 2566  หรือเพิ่มขึ้นจาก 42.9% ในไตรมาส 2  ปี 2566 จากการขยายกิจการและการลงทุนระบบไอที และสินเชื่อเติบโตต่ำแต่ NIM จะเพิ่มสูงขึ้น

ด้านสินเชื่อของกลุ่มธนาคารไทย ในไตรมาส 3 ปี 2566 คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1%  จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีการชำระคืนหนี้ (ลูกค้าบางส่วนหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้) 

แต่จะชดเชยด้วยความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้รายย่อย (เช่นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเช่าซื้อ) และ SME หลังความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่เราคาดว่า NIM ในไตรมาส 3 ปี 2566 จะเพิ่มขึ้น  0.8% เป็น 3.49% จากการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สะท้อนการปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในเดือนมิ.ย. 2566 ซึ่งธนาคารไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark ทั้งหมดในอัตรา 0.20-0.25% ใน ไตรมาส 3 ปี 2566 

 นอกจากนี้คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องใน ไตรมาส 4 ปี 2566 หลังธปท. ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 และธนาคารน่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยในต้นเดือนต.ค.2566

"กรรณ์" กล่าวว่า ทางด้านคุณภาพสินทรัพย์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไตรมาส 3 ปีนี้ “ทรงตัว” แต่ KBANK และ SCB มีอัตราการสำรองหนี้สูญสูง เราเชื่อว่าธนาคารที่ทำการศึกษาน่าจะมีอัตราส่วน NPL ค่อนข้างทรงตัวที่ 3.63% ใน ไตรมาส 3 ปี 2566 เทียบกับ 3.61% ในไตรมาส 2 ปี 2566  

"มองสินเชื่อรายย่อยน่าจะมีคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน และทรงตัว ในไตรมาส 3 ปี 2566 จากไตรมาส ก่อนหน้า เป็นผลจากการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ" 

ขณะที่สินเชื่อ เอสเอ็มอียังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากตันทุนการผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งคาดอาจมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นด้านคุณภาพสินทรัพย์จากกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถในไตรมาส 3 ปี 2566 หลังราคารถมือสองปรับตัวลง 11%  จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนส.ค. 2566 (ที่มา: สหการประมูล) 

ดังนั้น จึงประมาณการกลุ่มธนาคารจะมีอัตราการสำรองหนี้สูญอยู่ที่ประมาณ 1.53%(-0.5% ในไตรมาส3ปี 2566 จากไตรมาสก่อนหน้า) คาดว่า KBANK และ SCB จะมีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงที่ 2.05%  (KBANK มีสัดส่วนสินเชื่อ เอสเอ็มอี ประมาณ 31% ของยอดสินเชื่อรวม) และ 1.84% (จากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของ SCB) ตามลำดับ ซึ่งคาด BBL และ SCB จะยังมีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงจากประเด็นด้านคุณภาพสินทรัพย์

"กรรณ์" กล่าวว่า ยังคงคำแนะนำ เพิ่มน้ำหนัการลงทุน (Overweight) BBL และ SCB มองว่ากลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ) และNPL ที่ดีขึ้นในปี 2566-2567  มีการประเมินมูลค่าน่าสนใจและมีกำไรสุทธิสม่ำเสมอ 

"เชื่อว่าปัจจัยบวกช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นคือการที่ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นจาก "จีดีพี" ที่เติบโตแข็งแกร่งและผลดีจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนความเสี่ยงลดลง มาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและการกำกับดูแลที่เข้มงวด อาจส่งต่อเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและทำให้ยอดสินเชื่อรวมขยายตัวลดลง 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า"