'หุ้นแบงก์' คึกรับกนง.ขึ้นดบ. โบรก คาดธนาคารพาณิชย์ขยับตาม หนุน NIM เพิ่ม

'หุ้นแบงก์' คึกรับกนง.ขึ้นดบ.  โบรก คาดธนาคารพาณิชย์ขยับตาม หนุน NIM เพิ่ม

โบรก ชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย หนุนหุ้นกลุ่มแบงก์ราคาฟื้นตัว “บล.หยวนต้า - บล.กสิกรไทย” แบงก์มีโอกาสปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม NIMขยับขึ้น-คาดแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังโต “บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี” การตั้งสำรองกลุ่มแบงก์ลดลง "บล.กรุงศรี พัฒนสิน" แนะระยะสั้นเก็งกำไร หุ้นแบงก์ใหญ่

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% สู่ระดับ 2.5% เป็นปัจจัยหนุนให้ “หุ้นกลุ่มแบงก์” โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่ราคาเริ่มฟื้นตัว 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน  บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารเริ่มฟื้นตัวในช่วงบ่ายวานนี้ (27 ก.ย.)หลังกนง.ขึ้นดอกเบี้ยเป็น2.5% จาก 2.25% ส่งผลให้มีโอกาสที่ธนาคารจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามในระยะถัดไป และเป็นบวกทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)ขยับขึ้น

\'หุ้นแบงก์\' คึกรับกนง.ขึ้นดบ.  โบรก คาดธนาคารพาณิชย์ขยับตาม หนุน NIM เพิ่ม

 

รวมถึงแนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปีนี้ของหุ้นกลุ่มแบงก์ คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นปัจจัยช่วยหนุนการฟื้นตัว ของราคาหุ้น จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้นธนาคารกรุงเทพ(BBL) ,ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ เอสซีบี เอกซ์ (SCB)  ซึ่งมีแนวโน้มการตั้งสำรองลดลง และส่วนต่างดอกเบี้ยกว้างขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนั้นการที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ อาจเป็นปัจจัยทำให้นักลงทุนต่างชาติ เริ่มมองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าในรอบนี้ (ตลอดเดือนก.ย.ที่ผ่านมา) น่าจะเป็นระดับที่น่าสนใจในการซื้อคืน เพื่อคาดหวังทั้งส่วนต่างจากเงินบาทที่มีแนวโน้มอาจกลับมาแข็งค่า และส่วนต่างราคาหุ้นหลังดัชนีหุ้นไทยปรับฐานลงแล้ว 70 จุด ในเดือนก.ย. และมีลุ้นที่ต่างชาติจะชะลอแรงขาย หรือกลับมาซื้อคืนได้บ้าง ซึ่งส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มแบงก์

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับขึ้นรอบนี้มาจาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 2.5% และทาง ธปท.มีมุมมองว่าแบงก์น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ด้วย ส่งผลบวกต่อNIM และแนวโน้มกำไรในไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธปท.มีการปรับเพิ่มประมาณการGDP ปีหน้าขึ้น และมองส่งออกปีหน้าฟื้นตัวดี ส่งผลดีทำให้สินเชื่อปีหน้ามีแนวโน้มเติบโต

โดยฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อหุ้นแบงก์ที่แนวโน้มกำไรดีในครึ่งปีหลัง 2566 และเงินปันผลที่ดี โดยเน้นหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่เป็นหลัก ได้แก่ BBL, ธนาคารกรุงไทย (KTB) 

นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่กนง.ขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดกลุ่มการเงิน หนุนบรรยากาศการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ ทำให้แบงก์มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญส่งผลดีทำให้ตั้งสำรองลดลง เพราะมีมุมมองเศรษฐกิจปีหน้าโตถึง 4.4% กิจการต่างๆ น่าจะฟื้นตัว ส่งผลให้หนี้เสีย (NPL) ไม่ขยับขึ้นและเป็นบวกกับแบงก์ที่ปล่อยกู้ให้กับลุ่มเอสเอ็มอีมากที่สุด 

โดยหุ้นเด่นที่แนะนำคือ  KBANKเนื่องจากมีการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีมากเป็นอันดับ3 ในด้านมูลค่าในปี2565 และสินเชื่อเอสเอ็มอี มีสัดส่วน 1ใน 3 ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคารในไตรมาส4 ปี 2565  

นายกรภัทร วรเชษฐ์   ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน  กล่าวว่า  การปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย แม้ระยะสั้นจะมีผลจิตวิทยาเชิงลบต่อตลาด จากส่วนต่างผลตอบแทนหุ้นกับพันธบัตรที่แคบลง แต่ตลาดตอบรับไปแล้ว ประกอบกับดัชนีหุ้นไทย ปรับฐานลงต่อเนื่องก่อนแล้ว และกนง. มองดอกเบี้ยระดับ 2.5% ในปัจจุบันเหมาะสมกับการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว สะท้อนว่าดอกเบี้ยที่ 2.5% จะถึงปลายทางการขึ้นแล้ว

ดังนั้น การปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ จึงเป็นบวกต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่  ซึ่งกลยุทธ์ระยะสั้น เลือกเก็งกำไรหุ้นได้ประโยชน์การปรับเพิ่มดอกเบี้ย เช่น  BBL,KBANKและSCB