เช็ก 10 หุ้นกลุ่มพลังงาน มาร์เก็ตแคปเกินหมื่นล้าน ปันผลสูงกว่า 5%

เช็ก 10 หุ้นกลุ่มพลังงาน มาร์เก็ตแคปเกินหมื่นล้าน ปันผลสูงกว่า 5%

10 หุ้นกลุ่มพลังงาน มาร์เก็ตแคปเกินหมื่นล้าน ปันผลสูงกว่า 5% หุ้น BANPU อัตราเงินปันผล YTD สูงสุดอยู่ที่ 14.51%

หุ้นกลุ่มพลังงาน เป็นที่นิยมของนักลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะมีอัตราผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง (Adjusted Price) ที่ดีแล้ว ในบางหลักทรัพย์ ยังคงมีอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ในระดับที่น่าพึงพอใจ

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า หากย้อนกลับไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มพลังงานมีความน่าสนใจปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก โดยสถานการณ์ปัจจุบันหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีการลงทุน บวกกับเศรษฐกิจโลกมีการเติบโต และที่สำคัญหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีอุปทานจำกัด เนื่องจากว่า มีการแบนการส่งออกน้ำมันของบางประเทศ จึงทำให้เกิดสภาวะเป็นบวกราคาพลังงานโดยรวม

หลังจากที่ราคาปรับบวกพลังงานโดยรวมและราคาน้ำมันดิบโดยรวม ซึ่งจะดีกับกลุ่มพลังงานต้นน้ำและโรงกลั่น แต่สถานการณ์กลุ่มปิโตรเคมียังไม่ค่อยดีมากนัก และที่สำคัญกลุ่มปิโตรเคมีมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงโควิด พอเจอโควิดก็เกิดการชะลอตัวลง และหลังพอหลังโควิดเลยมีการขยายกำลังการผลิตพร้อม ๆ กันเกิดขึ้น เพราะต้องการรับการเปิดประเทศของจีน แต่กลับกลายเป็นว่า สถานการณ์ของจีนไม่ได้ไปเสียทุกอย่าง เลยทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลายในกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะโดนกดดันไปสักช่วงใหญ่ ๆ หรือลากยาวไปถึงต้นปีหน้า 

เพราะฉะนั้นถ้ามองภาพรวมหุ้นกลุ่มพลังงานที่ดี จะเป็นหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำ อย่าง PTTEP ที่มีส่วนในเรื่องของการขยายกำลังการผลิตที่ได้มาจากแหล่งเอราวัณ และในปีหน้าหากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาดีขึ้นอาจจะมีการพัฒนาในพื่้นที่ซับซ้อนที่จะเป็นประโยชน์ต่อ PTTEP ได้ 

ส่วนอีกกลุ่มนึงคือ กลุ่มโรงกลั่น ที่ปัจจุบันค่าการกลั่นอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้ผลประกอบการครึ่งปีหลังรวมไปถึงปีหน้า น่าจะดีขึ้นไปด้วย ขณะที่หุ้นกลุ่มปลายน้ำมาก ๆ อย่างกลุ่มสถานีบริการน้ำมัน ภาพโดยรวมของกลุ่มนี้ มีการปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณการใช้ และจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากที่มีการเปิดเมือง และเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 รวมถึงไตรมาส 1 จะเป็นช่วงที่มีการใช้รถกันค่อนข้างมาก 

ขณะเดียวกันกลุ่มสถานีบริการน้ำมันมีการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของน้ำมัน เช่น ร้านกาแฟ หรืออย่าง OR ก็จะมีธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ความเสี่ยงของกลุ่มบริการน้ำมันคือ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมักจะมีภาครัฐเข้ามาแทรกแซง เลยส่งผลให้ค่าการตลาดบางช่วงมีแรงกดดันมาบ้าง 

ส่วนปัจจัยระยะกลางของกลุ่มบริการน้ำมันคือ ความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิต EV ที่มีการย้ายฐานการผลิตมาไทยค่อนข้างมาก ซึ่งนั้นแสดงให้เห็นว่า ในอนาคตน่าจะได้เห็นรถ EV ที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า รถที่เติมน้ำมัน  

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มพลังงานขณะนี้ยังคงต้องรอดูเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก หากเศรษฐกิจจีนฟื้นหุ้นกลุ่มดังกล่าวน่าจะฟื้นได้ดี เนื่องจากเป็นกลุ่ม Global play (หุ้นกลุ่มที่ผลประกอบการขึ้นกับลักษณะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก พึ่งพิงสภาพเศรษฐกิจในประเทศน้อย) แต่หากจะหวังให้ดีขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมาคงจะยาก เพราะจากปีที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนจากกรณี รัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นไปค่อนข้างมาก

ทั้งนี้คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีความเสี่ยง ซึ่งอาจจะมีการชะลอตัวลงมา แต่ยังต้องหวังพึ่งเศรษฐกิจจีน หากจีนฟื้นได้ดีคงจะช่วยได้ แต่ขณะนี้มองไปที่หุ้นพลังงานต้นน้ำ เพราะเห็นชัดเจนว่า ราคาน้ำมันขึ้นส่งผลให้เป็นบวก แต่ขณะที่กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น กลุ่มปิโตรเคมี ยังคงต้องรอเศรษฐกิจจีนอย่างเดียว เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า หุุ้นกลุ่มพลังงานมีการปรับตัวขึ้นมาในช่วงนี้ เกิดจากความคาดหวังของเศรษฐกิจจีนที่สามารถควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ และตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มสะท้อนภาพการฟื้นตัว ซึ่งอาจจะมีการโอเวอร์ช็อตกลับมาก่อน Golden Week ของจีนที่จะมีการหยุดยาว อาจจะมีการเห็นแรงซื้อคืนหุ้นกลับมาก่อนเข้าช่วงสู่ Golden Week 

ทั้งนี้จากสถิติที่ผ่านมา ช่วง Golden Week ของจีน หุ้นจีนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีบ้านเราก็จะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นแค่ช็อตเทอมมากกว่า ส่วนระยะกลาง - ระยะยาว ต้องมารอดูกันอีกที กับภาวะเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจจีนเป็นหลัง 

“กรุงธุรกิจ” ได้สำรวจ “หุ้นกลุ่มพลังงาน” ที่มีมาร์เก็ตเกินหมื่นล้าน ที่สามารถให้ปันผลสูงเกินกว่า 5% มีด้วยกัน 10 หลักทรัพย์ ดังนี้ 

เช็ก 10 หุ้นกลุ่มพลังงาน มาร์เก็ตแคปเกินหมื่นล้าน ปันผลสูงกว่า 5%

1.บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU

  • มาร์เก็ตแคป 64,674.33 ล้านบาท 
  • P/E 2.94 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 13.80 / 7.60 บาท 
  • เงินปันผล YTD 14.51%

2.บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC

  • มาร์เก็ตแคป 37,288.76 ล้านบาท 
  • P/E - เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 12.80 / 7.60 บาท 
  • เงินปันผล YTD 12.91%

3.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP

  • มาร์เก็ตแคป 107,224.11 ล้านบาท 
  • P/E 18.39 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 60.25 / 42.25 บาท 
  • เงินปันผล YTD 7.71%

4.บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP

  • มาร์เก็ตแคป 27,720.00 ล้านบาท 
  • P/E 8.99 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 3.64 / 3.20 บาท 
  • เงินปันผล YTD 7.27%

5.บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG

  • มาร์เก็ตแคป 13,091.80 ล้านบาท 
  • P/E 5.68 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 15.80 / 12.10 บาท 
  • เงินปันผล YTD 6.85%

6.บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW

  • มาร์เก็ตแคป 35,910.00 ล้านบาท 
  • P/E 13.04 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 10.10 / 8.15 บาท 
  • เงินปันผล YTD 6.67%

7.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

  • มาร์เก็ตแคป 949,719.63 ล้านบาท 
  • P/E 12.71 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 37.50 / 29.50 บาท 
  • เงินปันผล YTD 6.02%

8.บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP

  • มาร์เก็ตแคป 657,032.58 ล้านบาท 
  • P/E 8.20 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 195.00 / 134.50 บาท 
  • เงินปันผล YTD 5.59%

9.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP

  • มาร์เก็ตแคป 55,076.93 ล้านบาท 
  • P/E 8.97 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 41.25 / 28.75 บาท 
  • เงินปันผล YTD 5.56%

10.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO

  • มาร์เก็ตแคป 66,071.36 ล้านบาท 
  • P/E 23.38 เท่า
  • ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 178.50 / 124.50 บาท 
  • เงินปันผล YTD 5.18%