‘ภากร’ ยกเครื่อง ‘กำกับซื้อขาย’ ดัก บจ.ทุจริต “เตือนภัย” นักลงทุน

‘ภากร’ ยกเครื่อง ‘กำกับซื้อขาย’ ดัก บจ.ทุจริต “เตือนภัย” นักลงทุน

เหตุการณ์สะเทือนวงการตลาดทุนไทย กรณีหุ้น MORE – STARK ส่งผลกระทบต่อฐานะของ บจ. และสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน และกรณีการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ส่งผลเสียหายต่อผู้ลงทุน และบริษัทสมาชิกในวงกว้างด้วย

       ความท้าท้ายของ "ตลาดทุนไทย" กับเป้าหมาย “สร้างความเชื่อมั่นครั้งใหม่”  กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รื้อระบบแบบที่เรียกว่า  สังคายนาตลาดทุนไทย เพื่อดูแลทั้งนักลงทุนทุกกลุ่ม อย่าง “เท่าเทียมและโปร่งใส"  แนวทางกำกับดูแลตลาดทุนไทย เข้มข้น และทุกฝ่ายพร้อมให้ความ ร่วมมือ เริ่มจากงานระบบดูแลการซื้อขายภายในตลาดหลักทรัพย์

       ‘ภากร’ ยกเครื่อง ‘กำกับซื้อขาย’ ดัก บจ.ทุจริต “เตือนภัย” นักลงทุน

      “ยกระดับเกณฑ์การกำกับดูแลซื้อขาย” ทั้ง5 Step กรองหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือก่อนไอพีโอ เข้าทำการซื้อขาย และออกจากตลาด  เริ่มตั้งแต่กระบวนการ Step แรก ก่อน Listing เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมจะเป็น ไอพีโอ หรือ Backdoor Listing เพื่อรับบริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีฐานะมั่นคงแต่ยังยืดหยุ่นให้สามารถเข้ามาระดมทุนได้ และไม่เป็นอุปสรรคเกินไป

  ‘ภากร’ ยกเครื่อง ‘กำกับซื้อขาย’ ดัก บจ.ทุจริต “เตือนภัย” นักลงทุน

 Step สอง กระบวนการ Listing การกำกับดูแลเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะเสนอไปที่ ก.ล.ต.เพื่อสามารถแก้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลต่างๆ ของตลท.ได้   Step ที่สามกระบวนการซื้อขาย (trading) จะกำกับดูแลการซื้อขายมากขึ้น พยายามจะใช้มาตรการจากดีกรีอ่อนไปเข้ม เพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และรายงานข้อมูลของ บจ. ให้นักลงทุนใช้การตัดสินใจลงทุน และประเมินความเสี่ยงก่อน

   "กรณีมีการซื้อขายหุ้นกระจุกตัว มีกระแสข่าว แต่ บจ.รายงานไม่มีอะไรใหม่ สวนทางปริมาณซื้อขายเพิ่มหรือราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไปมากจะให้อธิบายส่วนนี้ให้นักลงทุนได้ข้อมูล รวมตั้ง Securities Bureau เพื่อให้รู้ว่าสถานะของลูกค้าแต่ละคน เช่น วงเงินโดยรวม ของทุกสมาชิก ซึ่งจะช่วยให้โบรกเกอร์สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของตัวเองได้ดีขึ้น "

       Step ที่สี่คือ กระบวนการ Ongoing Obligations เดิมดูก่อน และระบุว่ามีความผิดปกติ เพื่อส่งก.ล.ต. และฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันได้ดำเนินการให้นักลงทุนเห็น และทำเข้มข้นขึ้น ด้วยการ “หยิบยกข้อมูลที่มีความสำคัญ” ให้นักลงทุนได้รับทราบ ลงลึกถึงฐานะการเงิน ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ กำไรเป็นอย่างไง นักบัญชีให้ความเห็นแต่ละรายการเฉพาะอย่างไร และยังส่งต่อให้นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อตัดสินใจ บนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

    Step ที่ห้ากระบวนการ Delisting เพิ่มเหตุการถูกเพิกถอน บจ.ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ให้ชัดเจน และรวดเร็วเพราะหลายกรณีกินเวลานานความเสียหายเพิ่มขึ้น

     แนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องมีเครื่องมือรองรับให้ทัน และนำหน้าผู้ที่จ้องกระทำความผิด และทุจริต ดังนั้น การกำกับดูแลการตรวจสอบ และการซื้อขาย ของ ตลท. แยกเป็น 2 หน่วยงาน คือ  "หน่วยงานปกติ" ที่ใช้คนวิเคราะห์ข้อมูล และ "หน่วยงานที่นำระบบ AI"  มาตรฐานระดับโลกมาใช้ต่อยอด Factor Rotation วิเคราะห์เหตุปัจจัยต่างๆ ในการลงทุนในตลาดทุน

     โดย AI จะกรองข้อมูลทั้งหมดในตลาดทุนส่งให้กับหน่วยงานปกติให้คนนำไปใช้วิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งปกตินักลงทุนทุกกลุ่มจะได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้  “ข้อมูล” จะถูกใช้งานเชิงรุกมากขึ้น (Proactive) มากกว่าในอดีต ปัจจุบันหากเกิดกรณีสงสัย สามารถเปิดเผยข้อมูลประกาศข่าวออกได้มากขึ้น  คาดว่าระบบ AI ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้

     บทบาทหน้าที่ ตลท. หลายคนคิดว่ามีอำนาจลงโทษผู้กระทำผิด แต่จริงๆ มีอำนาจในการกำกับดูแล และลงโทษได้เฉพาะ บล.เท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการกำกับดูแล การตรวจสอบ และการซื้อขายในตลาดทุนไทย ด้วยข้อมูลมากขึ้นกว่าเดิม - เชื่อมโยงข้อมูลกับหลายๆ เพื่อช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้เร็วซึ่งเป็น “ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น”

     “เมื่อปรับกระบวนการทำงานต่างๆ เร็วขึ้น สิ่งที่ตามมาการฟ้องร้องกรณีต่างๆ ถูกส่งไปยังหน่วยงานกำกับเร็วขึ้น และมีข้อมูลมากขึ้น จะช่วยทำให้ทั้งระบบมีความมั่นคง”

     อีกด้านงานพัฒนาตลาดทุนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีบริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ช่วยลดภาระต้นทุนให้นักลงทุน บจ. ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การชำระเงิน (FinNet ) และการจัดจำหน่ายกองทุนรวม (Fundconnext ) การพิสูจน์ยืนยันตัวตน (NDID Proxy) ฯลฯ ช่วยลดต้นทุน และยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริหารในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเป็นภารกิจหลักที่ทำงานควบคู่กันไป

      ‘ภากร’ ยกเครื่อง ‘กำกับซื้อขาย’ ดัก บจ.ทุจริต “เตือนภัย” นักลงทุน

     ทุกงานต่างๆ  ตลท. ปรับตัวให้ไวกว่าผู้ที่จ้องกระทำความผิด และให้ข้อมูลก่อนความเสียหายต่อผู้ลงทุน  หากเป็นกรณีที่ตั้งใจทุจริตมีโอกาสเกิดขึ้นได้ สำคัญคือ การทำงาน ตลท. ใช้การเปิดเผยข้อมูลให้เร็ว และก่อนสถานการณ์ ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ช่วยปกป้อง ป้องปราบ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และสำคัญที่สุดสร้างความเชื่อมั่นคืนมาสู่ตลาดทุนไทย 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์