คมคิด 3 คนดัง ปมร้อน 'เก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ'

คมคิด 3 คนดัง ปมร้อน 'เก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ'

กรมสรรพากรออกประกาศเตรียมเก็บภาษีสำหรับคนที่มี “เงินได้จากต่างประเทศ” มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.67 อดีตรัฐมนตรีคลัง มองรัฐต้องการได้ภาษีเพิ่มเพื่อเพิ่มรายได้รัฐต่อจีดีพี ขณะที่ ดร.นิเวศน์ เผย เก็บภาษีรายใหญ่ลงทุนต่างประเทศไม่ง่าย เพราะนักลงทุนกระจายไปหลายรูปแบบ

Key Points:

  • สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เผยสัดส่วนภาษีไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 15% เท่านั้น ดังนั้นรัฐต้องการได้ภาษีเพิ่มเข้ามา เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐต่อจีดีพี 
  • ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มองการจัดเก็บภาษีนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายการลงทุนไปหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องนำเงินกลับมาประเทศ เพราะมีแหล่งเงินได้อยู่หลายช่องทาง
  • วิน พรหมแพทย์ เผยหากมีการจัดเก็บภาษีลงทุนต่างประเทศมอง กองทุนรวม FIF และ DR จะได้รับความสนใจมากขึ้น เหตุไม่มีภาระเรื่องของภาษี 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า นักลงทุนไทยต่างออกไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทำกำไรได้มากกว่าในประเทศไทย 

ล่าสุด กรมสรรพากรได้มีการออกประกาศคำสั่งเตรียมเก็บภาษีสำหรับคนที่มี “เงินได้จากต่างประเทศ” แม้จะนำเงินเข้ามาในปีภาษีอื่น ๆ ก็ตาม ต้องเสียภาษี ซึ่งแต่เดิมจะมีการจัดเก็บภาษีแค่เฉพาะที่นำกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกันเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.67 นี้ ซึ่งถ้ามีการเริ่มปฎิบัติจริงใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ และใครจะเสียผลประโยชน์ในมาตรการครั้งนี้

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ปัจจุบันนักลงทุนที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศหากมีกำไร และไม่ได้นำเงินกลับเข้ามาในประเทศก็จะไม่มีรายงานทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีได้ เนื่องจากหน่วยงานรัฐไม่สามารถเห็นเงินได้ที่เข้ามา หลังจากนี้กรมสรรพากรต้องการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพราะต้องการได้ภาษีมากขึ้น 

ทั้งนี้ หากเทียบสัดส่วนภาษีของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น ดังนั้นรัฐจึงต้องการได้ภาษีเพิ่มเข้ามา เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐต่อจีดีพี ซึ่งตรงนี้มีการนำเสนอมานานมากแล้วตั้งแต่ตนเองอยู่ที่ธนาคารโลก เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพราะมองว่า รายได้ของชาติค่อนต่ำ ทำให้นำเงินมาใช้ในโยบายการคลังไม่ได้มาก

“ก่อนหน้านี้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ในส่วนนี้ เพราะนักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศพอได้กำไรก็ยังไม่ได้นำเงินออกมาทันที แต่สามารถนำฝากไว้ที่ธนาคารต่างประเทศได้  แต่หลังจากนี้จะมีการจัดเก็บภาษีไม่ว่าจะเป็นปีไหนที่นำเข้าประเทศก็จะโดนจัดเก็บภาษี มองว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการจัดทำแบบนี้อยู่แล้ว เช่น สหรัฐ หากมีรายได้ที่ไหนก็ตามในทั่วโลกบุคคล คนนั้นต้องเสียภาษีสหรัฐ เมื่อได้ Capital Gain มาแล้ว ซึ่งถือว่า เป็นมาตรฐานสากล” 

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวอาจจะหันเข้ามาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น เป็นการรักษาเงินออมของนักลงทุนให้อยู่ในประเทศ ซึ่งถือว่า เป็นข้อดี รวมถึงทำให้ผู้ที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้ระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ได้ห้ามที่จะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะเป็นเสรีประชาธิปไตย ส่วนข้อเสีย นักลงทุนจะต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเสียโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ และโบรกเกอร์จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

โดยมองว่า เป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการหารายได้เพิ่ม จากคนที่มีสตางค์นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองว่า หากนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศล้วนแล้วแต่มีความสามารถ มีความรู้ ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศ 

นอกจากนี้ มองว่า หากรัฐบาลมีการบริหารประเทศที่ดีจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวได้ ทุกวันนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยดีเพราะว่า เศรษฐกิจประเทศไม่เจริญเติบโต ก่อนโควิดนักลงทุนจึงไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น จีน ราคาหุ้นพุ่งไปกว่า 20% ในขณะที่หุ้นไทยไม่ไปไหน เพราะหุ้นแต่ละตัวไม่ค่อยขึ้น หากเทียบกับหุ้นต่างประเทศ นักลงทุนจึงหันไปลงทุนกันค่อนข้างเยอะ 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีประกาศการจัดเก็บภาษีการลงทุนในต่างประเทศยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ที่เห็นว่ามีความแตกต่างไปจากเดิมคือ เดิมทีถ้ามีรายได้และมีเงินค้างอยู่ที่ต่างประเทศในปีที่มีรายได้ พอข้ามปีโอนกลับมาก็จะไม่เสียภาษี  แต่หลังจากวันที่ 1 ม.ค.67 ถือเป็นคำสั่งใหม่ ถ้านักลงทุนมีการลงทุนและโอนข้ามปีต้องเสียภาษี ไม่มีทางเลี่ยงได้ รวมถึงใครมีทรัพย์ต่าง ๆ ที่ต่างประเทศ หากมีการขายและมีรายได้ เช่นจากการปันผล ถ้านำเงินกลับเข้าประเทศเมื่อไรก็ต้องโดนภาษี 

“ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่สามารถนำกลับมาได้ เพราะจะต้องโดนภาษี เช่นนักลงทุนที่มีรายได้มาก ๆ จากการขายหุ้นต่างประเทศ ซึ่งได้เงินเยอะหลายล้าน ก็ต้องเสียภาษีตามแพ็กเกจที่กรมสรรพกรประกาศไว้ที่ 35% ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้การลงทุนในต่างประเทศของบุคคลธรรมดา เป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะต้องเสียภาษีค่อนข้างหนัก ซึ่งมองแล้วไม่คุ้ม” 

โดยในอนาคตนักลงทุนอาจจะหันไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศแทน เพราะจะไม่โดนเรื่องภาษี เนื่องจากมีกฎหมายมารองรับข้อยกเว้น ที่อาจจะได้นักลงทุนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นทางหนึ่งทางเลือก หรือ DR (Depositary Receipt) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนในต่างประเทศประเภทหนึ่ง แต่ถือว่า เป็นการจำกัดการลงทุน เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนรายใหญ่ ไม่ค่อยอยากลงทุนในกองทุนรวม เนื่องจากผลตอบแทนไม่ค่อยโดดเด่น แม้จะไม่โดนเก็บภาษี ทำให้การลงทุนนั้นดูจะแย่ลง ด้อยลง ที่จะเป็นปัญหาประเทศ เพราะการลงทุนในประเทศก็ไม่ค่อยดี ขณะที่หากมีการเก็บภาษีการลงทุนในต่างประเทศก็ไปไม่ไหวเพราะต้องโดนภาษี

อย่างไรก็ตาม มองว่า การจัดเก็บภาษีนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการกระจายการลงทุนไปหลากหลายรูปแบบ จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินกลับมาประเทศ เพราะมีแหล่งเงินได้อยู่หลายช่องทาง การที่กรมสรรพากรจะเข้ามาจัดเก็บในส่วนนี้คาดว่า ผลประโยชน์จะได้ภาษีจึงไม่ค่อยมี แต่ก็ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบเพราะกรมสรรพากรไม่ได้ให้ตั้งตัวในการนำเงินกลับเข้ามาประเทศ หากนักลงทุนบางรายไม่ได้อยากลงทุนในต่างประเทศแล้ว เพราะต้องโดนเก็บภาษี ซึ่งถือว่า ค่อนข้างมาก 35% แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้กรมสรรพากรออกมาให้รายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงวิธีการปฎิบัติ

“ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ ที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีต่างประเทศ เช่น ถ้านำเงินออกไป 1 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นตัวหนึ่งในต่างประเทศ บังเอิญหากขาดทุน 20% เหลือ 80% แต่ถ้าเรานำกลับเข้ามาเมื่อไรก็จะโดนภาษีอีก 35% ของ 80% เท่ากับว่า ทั้งขาดทุนและไม่ได้กำไร และยังต้องเสียภาษีหรือไม่ เพราะถ้าไปลงทุนแล้วไม่ได้กำไรก็ไม่ควรที่จะต้องเสียภาษี เพราะไม่ใช่รายได้แบบที่ไปทำงานมา ซึ่งไม่ได้มีต้นทุนชัด ๆ แต่การลงทุนนั้นมีต้นทุน มันจึงไม่มีเหตุผลว่า ทำไมต้องมาเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้เข้าใจถึง 100% ในส่วนที่สรรพากรประกาศไว้ ต้องรอให้สรรพากรออกมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง” 

วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้ข้อมูลเสริมอีกว่า ในเบื้องต้นนักลงทุนคนไทยส่วนใหญ่น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากว่า การลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ยังสามารถทำได้อยู่ โดยไม่มีภาระเรื่องของภาษี เพราะโครงสร้างมีการเอื้ออยู่ 

ส่วนการลงทุนผ่าน DR ก็ยังสามารถทำได้เพราะเป็นการลงทุนหุ้นต่างประเทศทางอ้อม และได้ยกเว้นทางด้านภาษี จึงคาดว่า ในการลงทุน 2 ประเภทนี้จะสามารถช่วยนักลงทุนไทยไม่เยอะมาก และส่วนใหญ่เน้นลงทุนแบบสินทรัพย์แบบไพรเวทเป็นการลงทุนระยะยาว 5 - 10 ปี กว่าจะไปรับรู้รายได้อีกนานที่จะต้องเจอกับภาษี ขณะที่นักลงทุนมองว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นคนที่เข้าไปลงทุนตรงมากกว่า 

แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาลงทุนในกองทุน FIF ก็ต้องยอมรับว่า จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า แต่ข้อดีคือ มีผู้จัดการกองทุนเฮจค่าเงินให้ ขณะเดียวกันกองทุน FIF ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างโตอย่างรวดเร็ว หากดูตัวเลขจาก มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช จาก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2016 เป็น 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ในปี 2021 ซึ่งถือว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 12% 

“กรมสรรพากรไม่ได้ตั้งใจที่จะเอื้อให้กับอุตสาหกรรมกองทุนโดยตรง แต่คาดว่า กรมสรรพากรในยุคปัจจุบัน ไม่ได้รวมถึงประเทศไทยเท่านั้นแต่ทั่วโลกพยายามจัดเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น เพราะว่า หากเรานึกภาพตรงข้ามกัน อย่าง สรรพากรสหรัฐก็มีความพยายามตามเก็บภาษีคนสหรัฐ ที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ที่มีซุกเก็บไว้ ไม่เปิดเผย ทำให้เสียรายได้ไปค่อนข้างมาก จึงมีการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อดึงภาษีกลับเข้ามาประเทศให้มากขึ้น ในประเทศไทยจึงต้องทำเหมือนกันเพื่อให้จัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม มองว่า มีประโยชน์กับการลงทุนในหุ้นไทยไม่ต้องเสียภาษี Capital Gain แต่เสียภาษีแค่เงินปันผลที่ได้รับเท่านั้น ในขณะที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศตรง ๆ เวลาได้ Capital Gain ต้องเสียภาษี ต่อให้ถือข้ามปีก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน