จับตา ‘ลูกหนี้การค้า’  ปมป่วนหุ้นกู้ JKN  ระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในงบการเงิน

จับตา ‘ลูกหนี้การค้า’   ปมป่วนหุ้นกู้ JKN   ระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในงบการเงิน

ไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทที่มี “กำไรสุทธิ” ดีต่อเนื่อง แถมยังเคยเป็นสตาร์ในตลาดหุ้นไทยมาก่อนอย่าง บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ซึ่งมีเจ้าแม่คอนเทนท์ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะยอมปล่อยให้ “หุ้นกู้” ของตัวเองผิดนัดชำระหนี้แบบนี้

Key Points

  • JKN ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ราว 443 ล้านบาท โดยบริษัทอ้างเหตุผลเรื่องสภาพคล่อง หลังก่อนหน้านี้เร่งลงทุนต่อเนื่อง
  • อีกสาเหตุที่ JKN หาเงินมาชำระหนี้ไม่ทัน นอกจากติดปัญหาเรื่องการระดมทุนแล้ว บริษัทยังไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าได้ตามที่คาดการณ์ไว้ด้วย
  • ปัญหา “หนี้เสีย” ของ JKN เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม หลังยอดลูกหนี้ค้างชำระเกิน 1 ปีพุ่งกว่า 102%  ขณะที่ JKN ยังตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตไว้น้อย หากไม่สามารถเรียกชำระหนี้ได้อาจต้องสำรองเพิ่มกระทบต่อผลดำเนินงานอย่างจัง

 

โดย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A มูลค่า 609 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในอัตรา 6.6% เกิดการผิดนัดชำระหนี้(Default) ขึ้นมา 

แอน-จักรพงษ์ เปิดแถลงข่าวว่า จะขอจ่ายเงินต้นบางส่วนพร้อมดอกเบี้ยก่อน 156 ล้านบาท ที่เหลืออีก 443 ล้านบาท ขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไป โดยย้ำว่า “ไม่ได้เบี้ยวหนี้” แต่เป็นการ “เลื่อนจ่ายหนี้” 

 

…ไม่ว่า แอน จะพูดยังไง! แต่สำหรับแวดวงการลงทุนแล้ว นี่คือ “การเบี้ยวหนี้” อย่างชัดเจน ขณะที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยก็ได้ขึ้นเครื่องหมาย DP หรือ Default Payment บนหุ้นกู้ JKN ในรุ่น JKN239A เป็นที่เรียบร้อย

สำหรับเหตุผลที่ JKN หยิบมาอ้างการผิดนัดชำระหนี้ครั้งนี้ คือ ปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา JKN ได้ลงทุนต่อเนื่องและค่อนข้างเยอะ ทั้งการลงทุนในโฮมช้อปปิงราว 400 ล้านบาท ช่อง JKN18 อีกประมาณ 1,200 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการองค์กรนางงามจักรวาล หรือ มิสยูนิเวิร์ส(MUO) อีกราว 800 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมกับการลงทุนปกติ โดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์ต่างๆ 

ย้อนดู “การลงทุน” ของ JKN ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

  • ปี 2564 รวม 2,259 ล้านบาท
  • ปี 2565 รวม 2,847 ล้านบาท
  • 6 เดือนแรกปี 2566 รวม 1,589 ล้านบาท 

คำถาม คือ เมื่อบริษัททราบดีอยู่แล้วว่า กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง รู้ว่ามีหนี้หุ้นกู้กว่า 600 ล้านบาท รอครบกำหนดชำระอยู่ แต่ทำไมจึงยังทุ่มเงินลงทุนต่อเนื่อง ไม่เก็บเงินบางส่วนไว้รอชำระคืนหนี้หุ้นกู้ 

ถ้าเจาะไส้ในงบการเงินดูดีๆ จะพบว่า บริษัทมีอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็วเพียงแค่ 0.5 เท่า ผิดวิสัยไปจากภาวะปกติที่อย่างน้อยควรมีไม่น้อยกว่า 1 เท่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการชำระหนี้ระยะสั้น 

จริงๆ แล้วคำถามเหล่านี้มี “คำอธิบาย” ไว้พร้อมในงบการเงินของบริษัท ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า จากประสบการณ์ธุรกิจที่ผ่านมา ผู้บริหารเชื่อมั่นว่า บริษัทจะสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้เพื่อนำมาชำระหนี้สินระยะสั้นที่จะครบกำหนดใน 1 ปีข้างหน้าได้ …แต่สุดท้าย JKN ก็ไม่วายต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง จนกลายเป็นบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้

ย้อนกลับมาเรื่องการลงทุนของ JKN อีกซักนิด ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างรีเทิร์นกลับมาให้ตัวบริษัทได้ 

แต่การลงทุนโดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์เพื่อนำไปขายต่อ โดยที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้หรือเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ล่าช้าลงเรื่อยๆแบบนี้ บริษัทก็ควรต้องกลับมาตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนที่ว่านี้ 

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาการ “ผิดนัดชำระหนี้” ของ JKN …จึงกลายเป็นข้อสงสัยที่มีต่อประสบการณ์และความเชื่อมั่นของผู้บริหาร  เพราะการเรียกเก็บเงินจากคู่ค้าที่ล่าช้า แถมยังผิดไปจากการคาดการณ์เอามากๆ ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจสั่นสะเทือนต่อผลดำเนินงานของ JKN จากที่เคยมี “กำไรสุทธิ” ต่อเนื่อง ก็อาจพลิกเป็น “ขาดทุน” ได้เช่นกัน

ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะถ้าส่องดูงบการเงินของ JKN ล่าสุดที่เพิ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นงบการเงินงวดครึ่งแรกปี 2566 จะพบบางประเด็นที่ควรต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ ลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระหนี้ ซึ่งจะเห็นว่า มียอด “ปูด” ขึ้นมากว่า 47% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,559 ล้านบาท เป็น 2,292 ล้านบาทในปัจจุบัน 

ที่น่าห่วง คือ ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระนานกว่า 3 เดือนขึ้นไปราว 898 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ประมาณ 54% 

แต่ที่น่าห่วงไปกว่านั้น คือ ลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระนานกว่า 1 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 102% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 99 ล้านบาทในปี 2565 มาเป็น 200 ล้านบาทในปัจจุบัน ยิ่งถ้าย้อนดูประวัติการเรียกเก็บหนี้ในอดีตตั้งแต่ก่อนปี 2565 จะพบว่า ลูกหนี้ที่ค้างชำระนานกว่า 1 ปี แทบไม่เคยเกินหลัก 10 ล้านบาท เลย!

แม้จะเป็นปัญหาที่ดูน่าห่วง แต่บริษัทกลับยัง “ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิต” หรือพูดง่ายๆ คือ ตั้งสำรองหนี้เสีย ในส่วนนี้ไว้เพียงแค่ 66.4 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากอนาคตบริษัทยังไม่สามารถทวงคืนหนี้เหล่านี้ได้ การตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตย่อมต้องเพิ่มขึ้นด้วย แน่นอนว่าจะสั่นสะเทือนไปถึงผลดำเนินงานของ JKN ด้วยเช่นกัน

 

จับตา ‘ลูกหนี้การค้า’   ปมป่วนหุ้นกู้ JKN   ระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในงบการเงิน

 

ความจริงแล้ว ประเด็นนี้มี “คำอธิบาย” ไว้ในงบการเงินของ JKN ด้วย โดยบริษัทประเมินว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มเติม เพราะสถานการณ์ดังกล่าวเป็นลักษณะปกติของธุรกิจที่แม้จะมีการกำหนดระยะเวลาในการชำระเงิน แต่ลูกค้ารายใหญ่มีแนวโน้มจะรอให้ได้ประโยชน์จากสิทธิ์ในภาพยนต์ที่ออกฉายก่อนที่จะจ่ายชำระคืน

นอกจากนี้ JKN ยังระบุด้วยว่า บริษัทได้กำหนดวงเงินสำหรับลูกค้าแต่ละรายไว้แล้ว ดังนั้นลูกค้าจะไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์เพิ่มเติมได้หากยังไม่มีการชำระหนี้เดิม โดยบริษัทมีความมั่นใจในการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เหล่านี้ทั้งหมด และในอดีตก็ไม่เคยมีประวัติการไม่ชำระหนี้ โดยยอดหนี้ที่ค้างนานทางบริษัทได้รับการยืนยันจากคู่ค้าในการวางแผนชำระ ซึ่งจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่เดือนต.ค.2566 เป็นต้นไป

ดังนั้น ผู้ถือหุ้น JKN คงต้องเฝัาดูว่า ในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ บริษัทเริ่มได้รับเงินคืนจากคู่ค้าบ้างหรือยัง ไม่เช่นนั้นก็มีความเสี่ยงที่ JKN ต้องตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่ม ถึงตอนนั้นคงสั่นสะเทือนบรรทัดสุดท้ายในงบการเงินไม่น้อย!