ศิลปะการโกง VI

การโกงหรือฉ้อฉลในตลาดหุ้นนั้น  เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ “VI” หรือนักลงทุนทั่วไปเองต้องระมัดระวังไม่ให้ “ถูกโกง”  เพราะความเสียหายนั้นมักจะรุนแรงมาก  บางครั้งก็เป็น  “หายนะ”  เพราะราคาหุ้นอาจจะตกลงมาเกิน 30-40% ขึ้นไป 

บางตัวหุ้นอาจจะกลายเป็น 0 เพราะบริษัท  “ล้มละลาย” เนื่องจาก “ถูกจับ” ได้  อย่างไรก็ตาม  ส่วนใหญ่แล้ว  คนก็มักจะไม่รู้ว่าตนเอง “ถูกโกง” โดยคนโกงที่วางแผนการโกงอย่างแนบเนียนจนคนอื่นไม่รู้และไม่มีใครสนใจที่จะตรวจสอบ

การโกงอย่างแนบเนียนและมีศิลปะนั้น  หลักการใหญ่ที่สำคัญก็คือ  ต้องโกงคนจำนวนมากโดยที่แต่ละคนจะถูกโกงหรือเสียหายไม่มากพอที่จะฟ้องศาลหรือหน่วยงานอื่นที่จะเอาเงินคืน  และนั่นก็คือ นักลงทุน หรือคนเล่นหุ้นที่มักจะเสียเงิน หรือได้เงินจำนวนหนึ่งอยู่แล้วเป็นประจำในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ข้อสองก็คือ จะต้องพยายามทำให้คนถูกโกงไม่รู้ว่าตนเองถูกโกง แต่คิดว่าเป็นความผิดพลาดในการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าของหุ้น ที่ดียิ่งกว่าก็คือคิดว่าสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปทำให้หุ้นที่ซื้อขาดทุนอย่างหนัก

สุดท้ายก็คือ การโกงนั้นทำได้ง่ายและมักไม่มีคนสงสัย และดังนั้นก็จะไม่มีคนมาจับ หรือถึงจะพยายามจับก็หาหลักฐานยากเพราะอาจจะอยู่ต่างประเทศ หรือถึงเจอก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการโกงอย่างชัดเจน

ทั้งหมดนั้น ก็นำไปสู่การโกงโดยการ “ปั่นหุ้น” ที่ “ดี” ในตลาดหลักทรัพย์  โดยหุ้นที่ “ดี” ดังกล่าวนั้น  ก็จะเป็นหุ้นที่เล่นกันในหมู่นักลงทุน  “VI ระดับเซียน” อาจจะเพราะว่ามันเป็นหุ้นที่ดีมากในสายตาของ VI ที่วิเคราะห์ดูพื้นฐานของกิจการและข้อมูลผลประกอบการที่ “ดียอดเยี่ยมและเติบโตอย่างน่าทึ่ง”  โดยที่ข้อมูลทั้งหมดนั้น อาจจะไม่ใช่ของจริง บริษัทอาจจะเป็นแค่บริษัทที่ดีพอใช้ในอุตสาหกรรมที่โอเค หรือมีอนาคต  หรืออาจจะเป็นบริษัทธรรมดาๆ หรือแม้แต่แย่กว่าค่าเฉลี่ยแต่ถูก “แต่ง” ข้อมูลและตัวเลขผลประกอบการจนเลิศเลอเพื่อที่จะ “หลอก VI” ที่ไม่สงสัยเลยเพราะกำลังตื่นเต้นกับบริษัทที่จะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ในอุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ของไทยหรือของโลก

กระบวนการโกงที่สำคัญเริ่มตั้งแต่การเป็นหุ้นหรือเลือกหุ้นของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์  ไม่ถูก Disrupt หรือทำลายโดยเทคโนโลยีใหม่ เป็นอุตสาหกรรมที่ไปได้เรื่อยๆ และยังเติบโตได้โดยเฉพาะบริษัทที่เก่งหรือเหนือกว่าคนอื่น หรือถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก  เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีเสียเอง และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารก็จะต้องมีหรือสร้างภาพว่าเป็น  “สุดยอด” ในด้านการบริหารและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเป็นคนที่มีความสามารถในการประชาสัมพันธ์กิจการของบริษัท

กระบวนการที่น่าจะเรียกได้ว่า “โกง” จริงๆ  ก็คือ  การเพิ่มรายได้และ/หรือ ลดค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มกำไรให้กับบริษัท โดยที่ไม่ได้มาจากผลการปฏิบัติงานจริง  หรือบางอย่างก็มาจากผลการปฏิบัติจริง  แต่ลงบัญชีในแบบที่เรียกว่ารับรู้รายได้เร็วและรับรู้รายจ่ายช้า ซึ่งก็ทำให้กำไรในตอนต้นสูงมาก แต่กำไรในภายหลังจะลดลงอย่างแรง  ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของกินเงินนักลงทุนจบแล้ว ประเด็นก็คือ วิธีการลงบัญชีแบบนี้จะต้องไม่ผิดหลักการบัญชีมาตรฐานแต่เป็นเรื่องของความเห็นของฝ่ายจัดการของบริษัท

ตัวอย่างอาจจะรวมถึงการลงบัญชีรับรู้รายได้ของการขายสินค้าบริการทั้งก้อนแต่การให้บริการจะทยอยให้ต่อเนื่องเป็นปีหรือหลายปี  หรือในกรณีของค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนก็เช่น  การไม่ตัดสำรองค่าสินค้าเสื่อมคุณภาพหรือล้าสมัยทันที  หรือการสำรองหนี้เสียของสถาบันการเงินที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น  เป็นต้น 

วิธีการเพิ่มรายได้อย่างรวดเร็วอีกทางหนึ่งก็คือการขายสินค้าให้กับบริษัทที่เป็นนอมินีของเจ้าของที่อาจจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทันที แต่สินค้านั้นอาจจะไปอยู่ในโกดังและจะต้องใช้เวลาขายจริงยาวนานกว่านั้นมาก  ลักษณะนี้ก็จะมีจุดที่เป็นข้อสังเกตสำหรับ VI ที่วิเคราะห์หุ้นแบบเข้มข้นที่จะมองเห็นว่าลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ  อย่างไรก็ตาม ประเด็นแบบนี้ก็มักจะไม่ทำให้เรื่องราวของการเติบโตและทำกำไรของบริษัทด้อยลง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การขายสินค้าล็อตใหญ่ให้กับนอมินีโดยที่แทบไม่มีต้นทุนในการขายและการบริหารของบริษัทเพิ่มขึ้น  ก็มักจะทำให้รายได้และกำไรก้าวกระโดดขึ้นด้วย  เพราะกำไรต่อยอดขายหรือมาร์จินดีจะดีขึ้น

การลดค่าใช้จ่ายโดยการลดต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัทนั้น  ก็สามารถทำได้แบบเดียวกันนั่นก็คือ  บริษัทที่เป็นนอมินีของเจ้าของจะมาเป็น Supplier หรือผู้ป้อนวัตถุดิบที่สำคัญบางอย่างให้กับบริษัทแทน Supplier เดิมด้วยราคาที่ต่ำลง  ผลก็คือ กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้น  มาร์จินหรือกำไรขั้นต้นและกำไรต่อยอดขายที่เห็นก็จะเพิ่มขึ้น เหนือกว่าบริษัทคู่แข่งอื่นๆ  บริษัทดูดีขึ้นและถูกลงความเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงมาก  ราคาหุ้นก็จะวิ่งและสูงขึ้นเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ในกรณีแบบนี้  เจ้าของอาจจะต้องยอม “เสียเงิน” ซื้อของแพงแต่ขายถูกให้บริษัท  แต่สุดท้ายก็จะได้เงินจากราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นสูงกว่าที่ลงทุนไปมาก

การ “ใส่เงิน” ให้บริษัทโดยการซื้อของบริษัทในราคาแพงและขายของหรือวัตถุดิบราคาถูกซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรสูงและเร็วกว่าปกตินั้น  มีความคุ้มค่ามากเพราะการทำอย่างนั้นจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในธุรกิจที่โดยธรรมชาติมีกำไรขั้นต้นสูง  เช่น  สินค้า “ฟุ่มเฟือย” หรือ “อาหารและเครื่องดื่ม”  เป็นต้น  ที่บางที  ใส่เงินเข้าไป100 ล้านบาท  จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น 70-80 ล้านบาท  เป็นต้น

และกำไรที่เพิ่มขึ้น 70-80 ล้านบาทนั้น  ถ้าหุ้นซึ่งถูกมองว่าเป็นซุปเปอร์สต็อก มีค่า P/E ที่ 100 เท่า  มันก็จะทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น 7,000-8,000 ล้านบาท  เจ้าของที่มีหุ้น 70% ก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 4,900- 5,600 ล้านบาท  หรือเท่ากับว่าเจ้าของกำไรประมาณ 49-56 เท่าของเงินที่ใส่เข้าไปเพื่อสร้างผลงานทำกำไรของบริษัท

ซึ่งสิ่งที่เจ้าของจะทำก็คือ  เขาก็จะทยอยขายหุ้นล็อตใหญ่ออกไป  โดยส่วนใหญ่ก็คือจะขายให้กับสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ที่ต่างก็อยากได้หุ้นที่อยู่ในเมกะเทรนด์  เป็นบริษัทที่มีผู้บริหารที่สุดยอดและกลยุทธ์ที่สุดเยี่ยม  สามารถบริหารทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและราคาและมูลค่าหุ้นพุ่งติดจรวด  ทำให้กองทุนมีผลงานดีกว่าตลาดมาแล้วพักหนึ่ง และจะดีขึ้นต่อไปในอนาคต—ก่อนที่จะพบว่าหุ้นเริ่มมีปัญหาหลังจากนั้นไม่นานเมื่อเจ้าของเหลือหุ้นน้อยลงมาก  และรายได้และกำไรของบริษัทก็เริ่มลดลงพร้อมๆ  กับปัญหาสารพัด  หุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่องแทบจะไม่เหลือค่าและในที่สุดคนก็อาจจะลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็น  “หุ้นนางฟ้า” ที่มูลค่าหุ้นเคยไปแตะหรือเข้าใกล้  “แสนล้านบาท”

เรื่องราวที่ผมพูดทั้งหมดนั้น  ไม่ได้เกิดเฉพาะในตลาดหุ้นไทย  ว่าที่จริงในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐก็เกิดขึ้นมาตลอด  จับได้บ้างจับไม่ได้บ้างแต่ก็ทำความเสียหายหนักให้กับนักลงทุนที่ “เชี่ยวชาญมาก” ทั้งขนาดเล็กและใหญ่  ในจีนเองนั้น  “VI ระดับเซียน” ของไทยหลายคนก็เคยถูกโกงมาแล้วด้วยข้อมูลและเรื่องราวที่ “ออกแบบมา” เพื่อ “กิน VI” โดยเฉพาะ  ดังนั้น  อย่า “ใสซื่อ”  เวลาวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวว่ามัน  “So Good” จนยอมทุ่มเทซื้อไม่ว่าราคาจะแพงแค่ไหน

ข้อมูลที่ผมคิดว่าจะช่วยให้เราฉุกคิดว่ามันอาจจะ “Too Good to be True” หรือดีเกินที่จะเป็นจริงก็คือ  อัตราการทำกำไรต่อยอดขาย  ที่มันดีกว่าปกติของบริษัทในหลายๆ  ปีที่ผ่านมาและดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมากทั้งๆ  ที่คุณภาพของบริษัทไม่ได้ดีสุดยอดและอาจจะพอๆ  กับค่าเฉลี่ยโดยที่เราไม่ได้ “ลำเอียง” จะเป็นสิ่งที่เตือนว่ามันอาจจะมีการตกแต่งเพื่อมากินเงินของนักลงทุนรวมถึง VI ที่มักจะถูกครอบงำหรือหมกมุ่นกับการเติบโตของกำไรของกิจการมากเกินไป