เปิดโผ ‘16 หุ้นกู้’ ไฮยิลด์บอนด์ กลุ่มอสังหาฯ ครบดีลปลายปีนี้

เปิดโผ ‘16 หุ้นกู้’ ไฮยิลด์บอนด์ กลุ่มอสังหาฯ ครบดีลปลายปีนี้

เปิดโผ “16 หุ้นกู้” ภาคอสังหาฯ กลุ่ม Non Investment Grade และ Non Rated ที่เตรียมครบชำระช่วง 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ พบมูลค่ารวมกว่า 7.7 พันล้าน “ไทยบีเอ็มเอ” เชื่อหลายบริษัทนักลงทุนยังให้ความสนใจแม้เป็นกลุ่ม High Yield Bond หากผลดำเนินงานออกมาดี

ตลาดหุ้นกู้ในกลุ่ม Non Investment Grade หรือกลุ่มที่ต่ำกว่าระดับลงทุนได้ และกลุ่มที่ไม่มีเรทติ้ง(Non Rated) กลายเป็นกลุ่มที่ซบเซามากสุด เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น หลังจากเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้กับหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ทำให้แผนการออกหุ้นกู้ใหม่หรือการต่ออายุหุ้นกู้เดิม(Roll Over) ทำได้ยากลำบากมากขึ้น

ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่น่าจับตาดูมากสุด เนื่องจากเป็นภาคที่ออกขายหุ้นกู้จำนวนมาก และยังเป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม Non Investment Grade และ Non Rated จำนวนมากด้วย

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมหุ้นกู้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังครบกำหนดชำระคืนหนี้ใน ช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2566 ที่อยู่ในกลุ่ม Non Investment Grade และ Non Rated พบว่า มีรวมกัน 16 บริษัท มีมูลค่าคงค้างรวมกันกว่า 7,699 ล้านบาท

เปิดโผ ‘16 หุ้นกู้’ ไฮยิลด์บอนด์ กลุ่มอสังหาฯ ครบดีลปลายปีนี้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า หุ้นกู้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา นักลงทุนอาจจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เพราะในกลุ่มอสังหาฯจะมีตั้งแต่ที่มีคุณภาพสูง กลุ่มนี้นักลงทุนไม่ต้องกังวลถึงปัญหาที่จะตามมา ทั้งนี้ อสังหาฯที่จะมีมูลค่าครบกำหนดตั้งแต่เดือนส.ค. - ธ.ค.66 มีอยู่ประมาณ 37,000 ล้านบาท มีที่เป็น High Yield Bond ประมาณแค่ 10% ที่จะครบกำหนด ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะมาก ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด 4.8 แสนล้านล้านบาท เป็น High Yield Bond ประมาณแค่ 7% แต่เมื่อเวลามีปัญหาและเป็นข่าวขึ้นมานักลงทุนจึงเกิดความกังวล

ขณะที่ในกลุ่มอสังหาฯ ขนาดกลางออกหุ้นกู้มาแล้วไม่ได้เครดิตเรทติ้ง จัดเป็นพวก High Yield Bond ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากกลุ่มอสังหาฯ เป็นกลุ่มท๊อป 3 ของเซกเตอร์ที่มีการออกหุ้นกู้ และด้วยการระดมออกหุ้นกู้ของกลุ่มนี้จะค่อนข้างเหมาะกับการใช้เงิน เพราะว่า การสร้างบ้าน หรือคอนโด เฉลี่ยการก่อสร้างอายุประมาณ 3 ปี ก็จะมีความพอดีกับการออกหุ้นกู้ เนื่องจากพอมีการสร้างเสร็จ ขายออกได้ สามารถนำเงินมาจ่ายคืนเงินที่นำไประดมทุนผ่านหุ้นกู้ได้ เลยจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมากลุ่มอสังหาฯ จะมีความนิยมออกหุ้นกู้เยอะ 

นอกจากนี้ จะเห็นว่ากลุ่มท๊อปเทนหุ้นกู้อสังหาฯ ยังไม่ได้มีความน่าเป็นห่วง ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนอยู่ โดยเฉพาะท๊อปไฟท์ ส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มเรทติ้ง A ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางบริษัท แม้จะเป็น Non Rated แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอยู่ เนื่องจากนักลงทุนมีการพิจารณาเป็นรายบริษัท เพราะอย่างบางรายมีโครงการให้เห็นอย่างชัดเจน เห็นศักยภาพของตัวผู้บริหารที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ หรือเห็นตัวสินทรัพย์ของโครงการที่สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน รวมถึงยอดขายที่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้นักลงทุนมีการคัดเลือกพิจารณาเป็นรายบริษัทไป

"บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้ง อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่งจากเอเจนซี่ที่จัดอันดับ ทำให้นักลงทุนไม่ต้องทำการบ้านมากขึ้น แต่พอไม่มีเรทติ้งนักลงทุนต้องเข้าไปลงรายละเอียดเองว่า นอกจากงบการเงินที่บริษัทเปิดออกมาแล้ว ตัวโครงการเองสามารถพัฒนาต่อไปได้หรือไม่ ยอดขายเป็นอย่างไร ที่เปิดขายออกไปมีมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่กระทั่งผู้บริหารเคยมีประวัติเสียหรือไม่ นักลงทุนต้องเข้าไปเช็กรายละเอียดอย่างรอบคอบ"

นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นกู้อสังหาฯ ขนาดเล็กปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีการขาดสภาพคล่อง ล่าสุดกับกรณี CGD และก่อนหน้านี้ คือ ALL ฉะนั้นแล้วการพิจารณาหุ้นกู้ในปัจจุบันจะดูแค่ยีลด์อย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มอสังหาและกลุ่มไฟแนนซ์ยังคงได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะต้องหลีกเลี่ยงในช่วงนี้ และหันมาลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาลเน้นระยะยาวเพื่อความปลอดภัย