ดาวโจนส์ร่วงเกือบ 300 จุด บอนด์ยีลด์กดดันตลาด

ดาวโจนส์ร่วงเกือบ 300 จุด บอนด์ยีลด์กดดันตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(17ส.ค.)ร่วงลงเกือบ 300 จุด ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 วัน โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวร่วงลง 290.91 จุด หรือ 0.84%  ปิดที่ 34,474.83 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 33.97 จุด หรือ 0.77% ปิดที่ 4,370.36 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 157.70 จุด หรือ 1.17% ปิดที่ 13,316.93 จุด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวร่วงลง 290.91 จุด หรือ 0.84%  ปิดที่ 34,474.83 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 33.97 จุด หรือ 0.77% ปิดที่ 4,370.36 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 157.70 จุด หรือ 1.17% ปิดที่ 13,316.93 จุด

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงลงก่อนหน้านี้ หลังตลาดปรับตัวลง 2 วันติดต่อกัน

ราคาหุ้นของวอลมาร์ท อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดในโลก ดีดตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 200 จุดวานนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ หลังรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ก.ค.ระบุว่า เฟดมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป

ตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟด ซึ่งส่งสัญญาณว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี พุ่งทะลุ 4.3% แตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ทั้งนี้ การดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยในวันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +12.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -10.0 จากระดับ -13.5 ในเดือนก.ค.

ดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกมีการขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี ขณะที่ได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 11,000 ราย สู่ระดับ 239,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 240,000 ราย