ดาวโจนส์ทรุดกว่า 300 จุด หลุดแนว 35,000 ปัจจัยลบท่วมตลาด

ดาวโจนส์ทรุดกว่า 300 จุด หลุดแนว 35,000 ปัจจัยลบท่วมตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(15ส.ค.)ปรับตัวร่วงลงกว่า 300 จุด โดยถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขู่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐ

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 361.24 จุด หรือ 1.02% ปิดที่ 34,946.39 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงประมาณ 1.16% ปิดที่ 4,437.86 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 1.14%  ปิดที่ 13,631.05 จุด

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกสูงกว่าคาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 361.24 จุด หรือ 1.02% ปิดที่ 34,946.39 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงประมาณ 1.16% ปิดที่ 4,437.86 จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 1.14%  ปิดที่ 13,631.05 จุด

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงในวันนี้ หลังจากที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขู่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเจพี มอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

นายคริส วูล์ฟ นักวิเคราะห์ของฟิทช์กล่าวว่า ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของภาคธนาคารสหรัฐสู่ระดับ AA- ในเดือนมิ.ย. แต่การปรับลดอันดับดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารแต่ละแห่งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี นายวูล์ฟเตือนว่า หากฟิทช์มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของภาคธนาคารสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง สู่ระดับ A+ สิ่งนี้จะส่งผลให้ฟิทช์ต้องทำการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารมากกว่า 70 แห่งในสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารหลายแห่ง

นายวูล์ฟ ระบุว่า ขณะนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของเจพีมอร์แกน และแบงก์ ออฟ อเมริกา อยู่ที่ระดับ AA- ซึ่งหากอันดับความน่าเชื่อถือของภาคธนาคารสหรัฐถูกปรับลดลงสู่ระดับ A+ ก็จะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของเจพีมอร์แกน และแบงก์ ออฟ อเมริกา ถูกปรับลดลงสู่ระดับ A+ ด้วย เนื่องจากอันดับความน่าเชื่อถือของรายธนาคารจะไม่สามารถสูงกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของภาคธนาคาร

นอกจากนี้ นายวูล์ฟแสดงความกังวลต่อการพุ่งขึ้นของการผิดนัดชำระหนี้ในภาคธนาคาร หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 เดือน หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกสูงกว่าคาดในวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

 ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 4.274% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2565 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นทะลุระดับ 5% โดยอยู่ที่ 5.024% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.17% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.50% และเมื่อเทียบรายเดือน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.4% 

ยอดค้าปลีกได้รับแรงหนุนจากยอดขายออนไลน์ในวัน Amazon Prime Day และหากไม่รวมยอดขายรถยนต์ ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.4%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลต่อการที่จีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ธนาคารกลางจีนสร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอย