EA ผนึก 2 พันธมิตร Eve-sunwoda” ตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย

EA ผนึก 2 พันธมิตร Eve-sunwoda” ตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย

“EA” จับมือ 2 พันธมิตรจีน ผู้ผลิตแบตเตอรี่ "EVE- Sunwoda" ศึกษาตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่กำลังผลิตเริ่มต้น 6 กิกะวัตต์ต่อปีในประเทศไทย รองรับดีมานด์แบตเตอรี่ไทย-อาเซียน "บล.หยวนต้า"คาดกลุ่มอีเอถือหุ้น 51%-มองเป็นปัจจัยบวกหนุนราคาหุ้นฟื้นตัวระยะกลาง

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)ร่วมกับ EVE Energy Co., Ltd. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ Lithium-ion อันดับ 3 ของประเทศจีน  และ  Sunwoda Mobility Energy Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 5 ในประเทศจีน และอันดับ 9 ในตลาดโลก ศึกษาจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่กำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในประเทศไทย

EA ผนึก 2 พันธมิตร Eve-sunwoda” ตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย

 นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA)เปิดเผยว่า  ผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขั้นสูงด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ไฟฟ้า (Energy Storage System : ESS)

เพื่อรองรับความต้องการของแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัทEAรวมถึงตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน โดยเฉพาะเพื่อป้อนเข้าโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง​

ทั้งนี้ เมื่อผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จ EA จะนำเสนอให้บริษัท Amita Technology (Thailand) Co.,Ltd เข้าร่วมการลงทุนกับพันธมิตรจีน เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ แบบ Prismatic Battery Cell โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตระบบอัตโนมัติขั้นสูงและมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบต่ำ จากพันธมิตรจีนที่มี Raw material supply chain ครบวงจร ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยและรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน 

 อย่างไรก็ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การดำเนินโครงการนี้มีความเป็นไปได้ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร่วมทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเร่งรัดและผลักดันนโยบายนี้ออกมา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion และก้าวไปเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต

นายอมร กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าขยายกำลังผลิตแบตเตอรี่เป็น 4 กิกะวัตต์ต่อปี ในไตรมาส 1 ปี 2567  ซึ่งปัจจุบันผลิตแบตเตอรี่ใกล้เต็มกำลังผลิตที่ 1 กิกะวัตต์ต่อปีแล้ว รองรับการผลิตรถ e-Bus ได้ 3,000 คันต่อปี ซึ่งทั้งหมดใช้กับ e-Bus หากมองไปข้างหน้าความต้องการซื้อรถ EV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก

นายณัฐพล คำถาเครือผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย)  กล่าวว่า  การเซ็น MOUของEA กับธมิตรจีนดังกล่าว เพื่อลงทุนสร้างโรงผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไทยผ่านการตั้ง JV โดยคาด EA จะถือหุ้นในสัดส่วน 51% 

ทั้งนี้ Eve Energy จะเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง การผลิต การส่งมอบ และการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ขณะที่ EA จะเป็นผู้รับผิดชอบการเจรจากับภาครัฐเพื่อรับเงินสนับสนุนและการจัดหาเงินทุน (การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน)

"Eve Energy เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ในจีน เน้นการผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถ EV ส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดจำนวน 1.8% ของตลาดแบตเตอรี่โลก (อิงปริมาณขายในช่วง ไตรมาส 1 ปี2566) ตัวอย่างของกลุ่มลูกค้าของ Eve Energy ได้แก่ BMW, Daimler (Mercedes Benz), Porsche, Hyundai และ Kia"

โดยเบื้องต้นคาด EA จะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการร่วมทุนดังกล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์หลังการประกาศงบ ไตรมาส 2 ปี 2566 ในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้  ซึ่งฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำซื้อ EA ที่ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2566 ที่ 80 บาทต่อหุ้น โดยเรามองว่าราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวได้ในระยะกลาง เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะส่งผลให้นโยบายต่างๆ เช่นการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ หรือ EV ได้รับการพิจารณา และมีโอกาสได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมในปี 2567