‘กูรู’ ฟันธงหุ้นไทยทะยาน 3 ปัจจัยหนุน รัฐบาลใหม่-ท่องเที่ยว-จีนกระตุ้นศก.

‘กูรู’ ฟันธงหุ้นไทยทะยาน 3 ปัจจัยหนุน รัฐบาลใหม่-ท่องเที่ยว-จีนกระตุ้นศก.

“4กูรู” ฟันธงหุ้นไทยทะยาน ลุ้น 3 ปัจจัยหนุน “รัฐบาลใหม่-ท่องเที่ยวโต-จีนกระตุ้นเศรษฐกิจ” ขณะที่“กองทุน” แนะธีมลงทุนกลุ่มสุขภาพ-แบงก์-ท่องเที่ยว-โรงแรม รับโอกาส “ฟันด์โฟลว์” ไหลกลับ

พลันที ! “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา มีคำสั่งงดประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ผลกระทบแรกที่ชัดเจนคือ ตลาดหุ้นไทยไซด์เวย์ ! แต่เมื่อความอึมครึมส่งสัญญาณในเชิงบวกว่าอาจจะมีการโหวตเลือกนายกฯ ได้ในวันที่ 4 ก.ค. 2566 ดัชนีหุ้นไทยก็ปรับตัวขึ้นรับข่าวดังกล่าวเช่นกัน... 

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยในสายตาของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยังถือว่า “น่าสนใจ” เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยถือว่ามี “ประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์” (Underperform) เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น สะท้อนผ่านผลตอบแทนครึ่งปีแรก “ติดลบ 10%” นั่นแปลว่า นักลงทุนกำลังรอดูความชัดเจน “3 ปัจจัยบวก” ที่จะเข้ามาหนุนดัชนีหุ้นไทยพร้อมปรับตัวขึ้นทันที ! เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมี “ประสิทธิภาพดี” (Outperform) และมีอัปไซด์ที่พร้อมจะปรับตัวขึ้นหากมีสตอรี่เข้ามากระตุ้น

‘กูรู’ ฟันธงหุ้นไทยทะยาน 3 ปัจจัยหนุน รัฐบาลใหม่-ท่องเที่ยว-จีนกระตุ้นศก. สะท้อนผ่าน “ปัจจัยแรก” คือ การเลือกนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนกังวลเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่อาจจะล่าช้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้

“ปัจจัยที่สอง” ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังดีอยู่ จำนวนนักท่องเที่ยวยังเดินทางเข้ามาเมืองไทยต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยังอยู่ในระดับฟื้นตัว ในขณะที่ในหลายประเทศมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังส่งสัญญาณมีโอกาสขยับขึ้นดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยในระดับดังกล่าว เนื่องจากต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อยังไม่ลดลงกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“ปัจจัยที่สาม” รอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของประเทศจีน ที่คาดว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการออกมา ซึ่งก็จะส่งให้ให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ได้ รวมทั้งอาจจะทำให้คนจีนเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

“หาก 3 ปัจจัยบวกข้างต้นขัดเจน ดัชนีหุ้นไทยก็พร้อมที่จะทะยานทันที เนื่องจากตลาดหุ้นไทยถือว่า Outperform ดังนั้น ยังมีอัปไซด์พร้อมที่จะบวกทันที หากมีปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้น แต่หากทุกอย่างสวนทางดัชนีฯ หุ้นไทยมีโอกาสหลุด 1,500 จุดอีกครั้ง”

สำหรับประเด็นเงินเฟ้อทั่วโลกจะปรับตัวสูงอีก หลังราคาน้ำมันสูงนั้น มองว่า เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แต่ยังไม่ถือว่าเข้ามามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาแต่ยังยืนราคาระดับสูงไม่ได้ เพราะว่าราคาน้ำมันที่ขึ้นรอบนี้มาจากการลดกำลังผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน

ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น เชื่อว่าราคาน้ำมันจะไม่สูงถึงระดับ 9-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดจะอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนมาก 

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บอกว่า มีมุมมองในเชิงบวกหากมีความชัดเจนประเด็นทางการเมืองทั้งการเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยมีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในครึ่งปีหลังได้

จากก่อนหน้านี้นักลงทุนมีความกังวลในประเด็นความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และอาจจะลากยาวมากระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากจะไม่สามารถอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ได้ 

“ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดวันโหวตเลือกนายกฯ ได้ ถือว่าเป็นข่าวเชิงบวก เพราะที่บอกตลาดหุ้นไทยรอความชัดเจน และต้องการรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ ซึ่งหากมีความชัดเจนในประเด็นที่กล่าวมา ตลาดหุ้นไทยก็พร้อมที่จะปรับตัวขึ้นทันที” 

สำหรับ “กลยุทธ์การลงทุน” ในช่วงนี้ ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนต่อจากความร้อนแรงทางการเมือง กระแสจากปัจจัยภายนอกเข้ามาสนับสนุน อาทิ ราคาน้ำมันขยับขึ้น ช่วยพยุงซึ่งอิงราคา Commodity ถึง 1 ใน 3 ส่วน และยังมีประเด็นความ คาดหวังการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจากจีน รวมถึงเฟดยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย หนุนเม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ 

“บดินทร์ พุทธอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเดือนส.ค. นี้ ประเมินว่ายังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่มองน่าจะผ่านไปได้ ดังนั้น ภาพตลาดหุ้นไทยยังไซด์เวย์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอท่าทีความชัดเจนในการเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 

“เราประเมินว่า อาจเห็นภาพที่ชัดขึ้นในการประชุมสภาฯ ครั้งถัดไป หากไม่ได้เกิดกรณีจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย คิดว่าตลาดคงไม่ได้ตอบรับเชิงลบ เพราะหากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจมีความเสี่ยงทั้งเรื่องการผ่านกฎหมายและงบประมาณต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงที่ประชาชนอาจเกิดความไม่พอใจและเกิดการประท้วง”

ดังนั้น ในช่วงนี้ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาที่ระดับ 1,520 จุด ถือเป็นระดับที่น่าสนใจลงทุน จากดาวน์ไซด์ค่อนข้างต่ำแล้ว พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 1,500 จุด และแนวต้านที่ 1,560 จุด 

ทั้งนี้ ในฝั่งการลงทุนอยากเห็นภาพความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล แนะนำว่านักลงทุนอาจใช้จังหวะที่ตลาดย่อตัวทยอยเก็บหุ้นบางส่วน โดยเน้น กลุ่มธนาคาร , สุขภาพ , โรงแรม และ การท่องเที่ยวในประเทศ เพราะหลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วอาจเห็นฟันด์โฟลว์เข้ามาชัดเจนมากขึ้น

ส่วนปัจจัยภายนอก ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความรุนแรงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงต่อจากนี้ 

ขณะที่ฝั่งเงินเฟ้อและนโยบายการเงินทั่วโลก มองว่า กำลังเข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกันกับที่บางประเทศเริ่มเปลี่ยนทิศทางเป็นดอกเบี้ยขาลงอย่างจีน แม้ล่าสุด เฟด ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาดที่ 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด และประธานเฟดยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยได้อีก แต่ก็ยังแทงกั๊กเพื่อรอดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่ตลาดรวมถึงมุมมองของเราเห็นต่างออกไปจากเฟดคือทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความตึงตัวในภาคการเงิน ไม่สอดคล้องกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยและเชื่อว่าเฟดอาจจะทำได้แค่เพียงคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% หรือ แม้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนก.ย.

“ศิระ คล่องวิชา” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้ตอบรับประเด็นการเปลี่ยนขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทยตั้งแต่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 13 ก.ค. แล้ว โดยในภาพรวมตลาดปรับตัวขึ้นมายืนเหนือ 1,500 จุดได้ สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนที่เป็นบวกมากขึ้น 

แต่ระยะสั้นยังผันผวนรอแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลและยังคงต้องติดตามประเด็นการชุมนุมว่าจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหรือไม่ มองแนวรับกรณีเลวร้ายสุดที่ระดับ 1,400-1,450 จุด ในขณะที่แนวต้านในระยะสั้นที่ระดับ1,560-1,600 จุด

ทั้งนี้ กองทุนได้ปรับพอร์ตการลงทุนมาเน้นลงทุนในหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงปรับลดสัดส่วนการถือครองเงินสดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 บลจ.กรุงศรี ยังคงมีมุมมองบวกต่อการลงทุนในหุ้นไทย หลังจากที่ตลาดปรับตัวลดลงกว่า 8% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีฯ สะท้อนประเด็นความเสี่ยงไปมากแล้ว

“ยังคงแนะนำให้นักลงทุนรายเดิมยังคงถือครองหลักทรัพย์ต่อไป สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพิ่ม แนะนำให้ทยอยลงทุน เนื่องจาก ดัชนีฯ ยังคงมีความผันผวนในระยะสั้นตามความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล”