​​“ป้าขายแล้ว เราสวนไหม” ย้อนรอย 2 เหตุการณ์ ‘เคธี วูด’ ขายปุ๊บ หุ้นเด้งปั๊บ

​​“ป้าขายแล้ว เราสวนไหม” ย้อนรอย 2 เหตุการณ์ ‘เคธี วูด’ ขายปุ๊บ หุ้นเด้งปั๊บ

ย้อนรอย 2 เหตุการณ์สำคัญ เมื่อ “เคธี วูด” ขายหุ้นอินวิเดีย และหุ้นที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนออก แต่หลังจากนั้นหุ้นทั้งสองกลับเด้งขึ้นแรง จนเกิดวลี “ป้าขายแล้ว งั้นเราสวนเลยไหม”

Key Points

  • ในปี 2563  Active ETF จาก ARK Investของเคธี วูด สร้างผลตอบแทนกว่า 100% ในทุกกองทุน
  • นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่าการปรับตัวขึ้นครั้งนั้นเป็นผลมาจากกระแส AI Boom
  • แต่ผ่านมาหลายปี บรรดานักวิเคราะห์ และคอลัมนิสต์จำนวนหนึ่งต่างตั้งคำถามกับการจัดพอร์ตของวูด เพราะเมื่อเธอขายหุ้นใดทิ้ง หลังจากนั้นไม่นานหุ้นดังกล่าวก็ปรับตัวขึ้น

ถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 แอคทีฟ อีทีเอฟ (Active ETF) จาก บริษัท เออาร์เค อินเวสท์ (ARK Invest) ของเคธี วูด (Cathie Wood) นักลงทุนชื่อดังด้านเทคโนโลยีชาวสหรัฐ ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดานักลงทุน เพราะสร้างผลตอบแทนทะลุ 100% ในทุกกองทุน

บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่าสาเหตุหลักที่ทำให้กองทุนของเธอสร้างผลตอบแทนอย่างสดใสในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากกองทุนของเธอเน้นลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2563 ก็ตรงกับช่วงการบูมของเทคโนโลยี สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) 

อย่างไรก็ตาม เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2566 กองทุนเรือธงอย่าง ARK Innovation ETF หรือ ARKK ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่เพียง 2.51% และหากย้อนกลับไป 3 ปี ให้ผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ 14.89% ประกอบกับในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทุกครั้งที่วูดขายหุ้นใดออกจากกองทุน ก็เกิดเหตุการณ์บังเอิญคือ หลังจากนั้นหุ้นดังกล่าวก็ปรับตัวสูงขึ้น จนมีวลีของชาวเน็ตออกมาว่า 

“ป้าขายแล้ว งั้นเราสวนเลยดีไหม”

ถึงขนาดที่ว่าคอลัมนิสต์ชื่อดังด้านตลาดหุ้นเอเชียของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ถึงกับเขียนบทเปิดบทความ “Even Cathie Wood Can’t Spot the Next Bull Market” ว่า 

“ถ้าประเมินจากหลายเหตุการณ์ในตลาดหุ้นที่ผ่านมาเคธี วูด น่าจะเป็นบุคคลที่คอยชี้ให้บรรดานักลงทุนเห็นถึงแนวโน้มบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก ซึ่งอาจเปลี่ยนเม็ดเงินดอลลาร์ในกระเป๋าของคุณให้เป็นเงินล้านได้ แต่จากเหตุการณ์ไม่นานมานี้ ต้องยอมรับว่า

สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

ดังนั้นวันนี้ (26 ก.ค.) กรุงเทพธุรกิจ พาย้อนรอย 2 เหตุการณ์ดังกล่าวที่เมื่อวูดขายปุ๊บ หุ้นก็เด้งปั๊บ ซึ่งเหตุการณ์แรกคือ ในช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา หนังสือชี้ชวนการลงทุนระบุว่า วูดขายหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) ออกจากกองทุนเรือธงอย่าง ARK Innovation ETF 

กราฟเปรียบเทียบราคาหุ้น Nvidia และกองทุนของแคธี วูด

หลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือน หุ้นอินวิเดียทะยานขึ้น 26% ในการซื้อขายหลังตลาดหลักทรัพย์สหรัฐปิดตลาดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. โดยได้แรงหนุนจากการรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2567 แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับกระแสการคลั่งปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Boom 

ทันทีที่หุ้นปรับตัวสูงขึ้น วูดต้องออกมาแก้ต่างการตัดสินใจเทขายหุ้นบริษัทเทคโนโลยีดังกล่าวออกไป ที่สำคัญถ้าคำนวณเป็นตัวเลขวูด สูญเสียโอกาสในการสร้างกำไรจากการที่หุ้นอินวิเดียพุ่งขึ้นสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 19.8 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ 

ทั้งหมดส่งผลต่อเนื่องให้กองทุนดัชนีฯ วูด เคลื่อนไหวต่ำกว่า (Underperform) ดัชนี ทั่วๆ ไป (Plain-vanilla Index Funds) ที่ลงทุนสอดคล้องกับดัชนีเเนสแด็ก

ในตอนนั้น วูดให้สัมภาษณ์ว่า “เราแค่หันไปลงทุนในอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่กระโดดเข้าไป”

พร้อมเสริมว่า “เหมือนกับว่าหลายคนยังไม่เข้าใจว่า อินวิเดียได้รับอานิสงส์จากการเข้ามาของเอไอ จริงๆ นะ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้” ทั้งนี้เธอยืนยันว่า หุ้นอินวิเดียมีการประเมินคุณค่า (Valuation) อยู่ที่ 25 เท่าของยอดขายที่คาดว่าจะได้รับ ดังนั้นเธอจึงสนใจหุ้น  ยูไอแพธ (UiPath) ซึ่งซื้อขายอยู่ที่เพียง 6 เท่ามากกว่า” 

จากนั้น คอลัมนิสต์ของบลูมเบิร์ก  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวว่า “บอกตามตรงว่าคำแก้ตัวของวูดค่อนข้างไม่น่าคล้อยตาม เธออาจค้นพบศักยภาพด้านเอไอของอินวิเดีย ตั้งแต่ต้นปี 2557 และเข้าซื้อในราคา 5 ดอลลาร์ต่อหุ้น แต่ทําไมเธอถึงไม่ใช้ประโยชน์จากหุ้นดังกล่าวไปตลอดทางล่ะ? เธอไม่เข้าใจกระแสความคลั่งเอไอและพลังของ ChatGPT เหรอ?”

เธอเสริมว่า “ในบรรดานักลงทุนทุกคน วูดน่าจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าเอไอจะสามารถทำให้หุ้นอินวิเดียปรับตัวสูงขึ้นอย่างร้อนแรงได้ เมื่อเทียบกับการขยับตัวของ เออาร์เค อินโนเวชั่น อีทีเอฟ หรือบิตคอยน์ วูดน่าจะทราบว่า ประสบการณ์จาก อินวิเดีย เมื่อ 3 ปีที่แล้วนั้นไม่ธรรมดา และที่แน่ๆ ความผิดพลาดจากอินวิเดียครั้งนี้จะทําให้ชื่อเสียงของเธอแย่ลง”

กองทุนของเคธี วูดอันเดอร์เพอร์ฟอร์ม Invesco QQQ Trust

อีกหนึ่งเหตุการณ์ล่าสุดคือ วูดขายหุ้นที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนออกจากกองทุน ARKK แบบเกลี้ยงพอร์ต หลังจากเศรษฐกิจจีนเผชิญกับความปั่นป่วนจำนวนมากจนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กลับมาโตอย่างชะลอตัว โดยเธอเริ่มให้ความสนใจลงทุนไปในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่าง Tesla, Coinbase, Roku และ Zoom แทน แม้ปัจจุบันกองทุน ARK Fintech Innovation ETF หรือ ARKF ยังคงถือหุ้น JD.com บริษัทอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีน และขายหุ้น Pinduoduo และ Tencent ออกมาจำนวนหนึ่งแล้วก็ตาม

โดยถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 กองทุนของวูดเข้าไปลงทุนในหุ้นจีนสูงถึง 25% ประกอบด้วย Tencent, KE Holdings รวมถึงหุ้นใน ประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดยืนของวูดเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากรัฐบาลจีนออกนโยบายที่มุ่งเป้าโจมตีกลุ่มมหาเศรษฐีในประเทศ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น ภายใต้แนวคิดความมั่งคั่งร่วมกัน (Common Prosperity)

นอกจากนี้ วูดยังกังวลถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และปัญหาหนี้จำนวนมหาศาลของรัฐบาลท้องถิ่น หนึ่งในนั้นคือ มูลหนี้จากเครื่องมือทางการเงินอย่าง LGFV หรือ Local Government Financing Vehicles ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยวูดให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการขายครั้งนี้ว่า

“ตัวเลขการเติบโตของจีนโตแบบตัวเลข 2 หลักติดต่อกันมาถึง 15 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการก่อหนี้มหาศาล โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ และตอนนี้ผลลัพธ์ของความพยายามเร่งการเติบโตนั้นเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ว่า หลังจากมีข่าวว่าวูดขายหุ้นจีนออกมาไม่นาน เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) สี จิ้นผิง (Xi Jingping) และเหล่าผู้นําระดับสูงของจีนส่งสัญญาณ“กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์" ควบคู่ไปกับคํามั่นสัญญาที่จะยกระดับการบริโภคภายในประเทศ และแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น  จนส่งผลให้หุ้นจีนบวกยกแผง ถึงแม้จะเป็นการปรับตัวขึ้นในวงจำกัดก็ตาม

โดยช่วงปิดตลาดเมื่อวานนี้ ดัชนี เซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต (Shanghai Composite), ดัชนีฮั่งเส็ง  (Hang Seng Index) และ ไชน่า เอ 50 (China A50) ปรับตัวสูงขึ้น 1.46% 2.83% และ 2.57% ตามลำดับ

ในประเด็นนี้ นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ตลาดหุ้นจีนยังน่าสนใจอยู่ เพียงแต่ว่าสาเหตุที่กองทุนของวูดขายออกไปเพราะในมุมมองชาติตะวันตกจีนไม่ใช่เบอร์หนึ่งด้านเทคโนโลยี รวมทั้งยังโดนกดดันจากสหรัฐ และชาติพันธมิตรตะวันตกอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะขายออกเพราะเป็นกองทุนด้านเทคโนโลยี

ท้ายที่สุด เหตุการณ์ทั้งสองก็เป็นที่มาของวลีของชาวเน็ตที่ว่า “ป้าขายแล้ว งั้นเราสวนเลยไหม” อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักลงทุนก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าเคธี วูด จะนำพากองทุนดัชนีของเธอให้สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำให้นักลงทุนได้เหมือนในปี 2563 หรือไม่

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์