ส่องหุ้น KTB รับกระแส สลากออนไลน์ 3 ตัวดีเดย์ปี 67

ส่องหุ้น KTB รับกระแส  สลากออนไลน์ 3 ตัวดีเดย์ปี 67

“บรรดานักเสี่ยงโชค - ลุ้นตัวเลขได้เฮ” หลังความคืบหน้าสลากออนไลน์ 2 ตัว และ 3 ตัว ผ่าน ครม. และพร้อมออกมาให้กับผู้ที่ชอบเสี่ยงชอบลุ้นได้วัดดวงได้ในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งช่องทางการจำหน่ายหนีไม่พ้นแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"

     เพราะปัจจุบันการซื้อสลากออนไลน์ราคา 80 บาท ประสบความสำเร็จมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และยังเป็นผลดีต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะเจ้าของฟีเจอร์ให้บริการ

     เฉพาะการเปิดให้เปิดขาย “สลากดิจิทัล” L6 (Lottery 6 หรือสลาก 6 หลัก)ครั้งแรก 2 มิ.ย. 2565 ในราคา 80 บาท มีจำนวน 5,173,500 ฉบับ ผ่านตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล 10,258 ราย สามารถขายสลากดิจิทัลจำหน่ายหมดเกลี้ยงภายใน 5 วัน โดยมีผู้ซื้อ 1,247,406 คน และในงวดวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ลูกค้าเข้ามาใช้บริการตรวจรางวัลสลากดิจิทัล บนแอปเป๋าตังมากกว่าช่วงที่เคยสูงสุดถึง 15 เท่า

    การเตรียมเปิดขาย N3 เป็นการจำหน่ายเฉพาะแบบดิจิทัล หรือ สลากออนไลน์ 2-3 ตัว ผ่านอนุมัติ ครม. จะออกรางวัลทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน สลากเลขท้าย 2-3 ตัว เป็นสลากรูปแบบใหม่ ให้เลือก 3 หลัก แต่ละหลักมี 10 หมายเลข ตั้งแต่ 0 ถึง 9 (000 – 999) โดยไม่กำหนดหมายเลขไว้ล่วงหน้า ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักให้ครบ 3 หลัก และสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักซ้ำกันได้

    โดยรูปแบบการจ่ายเงินรางวัล และประเภทของรางวัลเลขท้าย 2-3 ตัว มี 4 ประเภทรางวัล คือ รางวัลสามตรง (ถูกทุกหมายเลขและตรงทุกตำแหน่ง) ,รางวัลสามสลับ (ถูกทุกหมายเลข แต่สลับตำแหน่ง) ,รางวัลสองตรง (ถูกทุกหมายเลขและตรงทุกตำแหน่ง) ,รางวัลพิเศษ (ถูกรางวัลที่มีข้อมูลหมายเลขตรงกับผลการออกรางวัลพิเศษ)

    ที่สำคัญ “เป๋าตัง” ไม่เพียงแต่การเป็นช่องทางซื้อสลากออลไลน์แต่ยังเป็นช่องทางลงทุนด้านอื่น อาทิ หุ้นกู้ดิจิทัล ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการขายหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้แสนสิริ 2,000 ล้านบาท หุ้นกู้ไออาร์ซีพี มูลค่า 1,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ ปตท. สผ. มูลค่า 6,000 ล้านบาทเป็นต้น

    ขณะที่แรงหนุนการใช้งานดิจิทัลมีอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMXผู้พัฒนาและให้บริการระบบการชำระเงิน และการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศไทย ได้เปิดเผยภาพรวมของการใช้งาน ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่เปิดใช้บริการมา 5 ปี (เริ่มเปิดใช้บริการพร้อมเพย์ปี 2560)

     จากสถิติล่าสุด ณ สิ้นเดือนธ.ค.2565 มีจำนวนบุคคลธรรมดาผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์อยู่ที่ 66.94 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นการลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 39.47 ล้านเลขหมายลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 27.47 ล้านเลขหมายนิติบุคคลที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์จำนวน 2.43 แสนราย

    โดยพบว่าในเดือนธ.ค.2565 มีปริมาณการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์ทั้งสิ้น 1,475.9 ล้านรายการ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 34.66% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.ของปีที่ผ่านมา

   โดยในวันที่ 1 ธ.ค.2565 เป็นวันที่มีการทำธุรกรรมสูงถึง 58.08 ล้านรายการ เป็นสถิติสูงที่สุดตั้งแต่เปิดให้บริการมาสรุปยอดการทำธุรกรรมโอนเงิน และชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ตลอดทั้งปี 2565 รวมทั้งสิ้น 13,705 ล้านรายการ และธุรกรรมอันดับ 1 ใช้มากที่สุด การโอนเงินด้วยบัญชีธนาคาร 68.8% ตามมาด้วยการโอนเงินด้วยหมายเลขอ้างอิง 16.3% การชำระสินค้า QRcode 9.3 % และเติมเงิน e-wallet 5.7%

   สำหรับ  KTB รายงานกำไรไตรมาส 2 ปี 2566 ที่ 10,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 20,223 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 18% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 43,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.9% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน

    บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย กําไรสุทธิสอดคล้องคาดการณ์เป็นผลจาก NII ที่สูงขึ้นจากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ระดับสูงที่ 3.2%(+70bps YoY, +23 bps QoQ)และกําไรสุทธิจากมูลค่ายุติธรรมผ่านกําไรขาดทุน(FVTPL)ที่สูงขึ้นส่วนที่โตเล็กน้อยQoQเป็นเพราะNII ที่สูงขึ้นนั้นถูกหักลบโดยกําไรสุทธิ FVTPLลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมที่หดตัว

     การเติบโตของสินเชื่อหดตัว 0.2% (QoQ)  ฉุดจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และSME ที่ลดลงแม้สินเชื่อภาครัฐ  SME  และผู้บริโภคจะปรับดีขึ้นก็ตาม แต่อัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม(NPL ratio)ลดลงเหลือ 3.1% ด้วยอัตราส่วนการตั้งสํารองหนี้ฯ ที่ลงมาอยู่ที่ 177% แต่ยังพอที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น

     บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กำไรในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 21% (Y-Y) ตามรายได้ดอกเบี้ยหลังมีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แม้ว่าด้านสินเชื่อจะหดตัวลง 0.8 %(Y-Y)ก็ตาม แต่มีรายได้มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นผลตอบแทนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ย และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ NPL ลดลงต่ำ จึงยังคงประมาณการกำไร และคงราคาพื้นฐานที่ 20.50 บาท

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์