เปิด 5 บทเรียนจากมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส์ ที่แม้ไม่ใช่เจ้าของกิจการ ก็ควรรู้ !

เปิด 5 บทเรียนจากมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส์ ที่แม้ไม่ใช่เจ้าของกิจการ ก็ควรรู้ !

เปิด 5 บทเรียนจากมหาเศรษฐี “เจฟฟ์ เบโซส์” เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ตั้งแต่การลองปล่อยใจให้คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไปจนถึงลองเสี่ยงอะไรใหม่ๆ ซึ่งแม้คุณไม่ใช่เจ้าของกิจการ ก็ควรรู้ !

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ “เจฟฟ์ เบโซส์” ในปี 1994 ในร้านขายหนังสือออนไลน์ ตอนนี้ผ่านมาแล้วกว่า 29 ปี เขาสร้างบริษัท Amazon จากก้อนดิน จนกลายเป็นอาณาจักรยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ และปัจจุบันเบโซส์ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับโลกด้วยมูลค่าทรัพย์สินเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์

ตอนนี้อายุเขาล่วงเลยมากว่า 58 ปี จึงเลยตัดสินใจอำลาตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เพื่อส่งไม้ต่อให้กับ “แอนดี้ แจสซี” มือขวาคนสนิทของเขา

ทั้งนี้ ประสบการณ์และความสำเร็จของเบโซส์ที่เขาสั่งสมมาอย่างยาวนาน นับเป็น “บทเรียนล้ำค่า” ที่กลุ่มผู้บริหารมักนำไปเป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจและองค์กร และแม้ว่าคุณจะไม่ใช่ผู้ประกอบการ บทเรียนเหล่านี้ก็สามารถปรับใช้กับการทำงานได้ โดยนี่คือ 5 บทเรียนสำคัญของเขา

1.    เปิดใจลองเสี่ยงกับสิ่งใหม่

เบโซส์มักชอบให้คนรู้จักและคนรอบตัว ลองเสี่ยงลงมือทำอะไรใหม่ๆ สักหนึ่งอย่าง เขาชอบให้ “ลองจินตนาการว่าถ้าคุณอายุ 80 ปี ระหว่างสิ่งที่คุณไม่ได้ทำ กับสิ่งที่คุณทำแล้วล้มเหลว อะไรคือสิ่งที่คุณเสียใจที่สุด”

ที่สำคัญ หลายคนมักจะเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าความล้มเหลวของตนเอง ดังนั้นต่อให้คุณไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เพียงขอให้ลองลงมือทำในสิ่งนั้น 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป “การลองเสี่ยง” ครั้งแรกของเบโซส์

คือการลาออกจากงานประจำที่มั่นคง มาทุ่มเทให้กับการสร้าง Amazon 

“ผมไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่พยายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ แต่จะเสียใจมากกว่าหากไม่ได้ตัดสินใจลงมือทำอะไรเลย” เบโซส์ระบุ พร้อมเสริมว่า แนวคิดที่ว่ามาช่วยเขาตัดสินใจในการผลักดัน Amazon ให้เติบโต มาจนถึงทุกวันนี้

2.    ตัดสินใจอย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ

“กุญแจสำคัญ” ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจรักษาตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีไว้ได้อย่างต่อเนื่องคือ การตัดสินใจที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม ฉับไว และรวดเร็ว

หากอ้างอิงตามจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Amazon ในปี 2015 เบโซส์เขียนถึงความสำคัญของ “ความเร็ว” ในการตัดสินใจ ว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ Amazon กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจำนวนมาก 

แม้ว่าการตัดสินใจบางเรื่องอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเรียกกลับคืนมาได้ แต่ส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อตระหนักได้ว่าทางเลือกนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด 

สำหรับกรณีที่ต้อง “ตัดสินใจใหม่” คำแนะนำคือให้ตัดสินใจครั้งนั้นแบบเด็ดขาดทันทีเพราะความ “ลังเลล่าช้า” อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุดและให้เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง

“ทุกการตัดสินใจที่ดีที่สุดทั้งในธุรกิจและในชีวิตของผม คือผมตัดสินใจด้วยหัวใจ สัญชาตญาณ และกึ๋น ไม่ใช่ผ่านการวิเคราะห์” เบโซส์กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ The Economic Club of Washington, D.C. ในปี 2018

3.    หาอาชีพที่เหมาะสมกับคุณ 

การค้นหาอาชีพที่ใช้ อาชีพที่ตรงความสนใจ อาชีพที่คุณหลงใหล เป็นอีกหนึ่งคำแนะนำหลักที่เบโซส์มักให้กับบรรดาพนักงานหนุ่มสาว รวมถึงลูกๆ ทั้ง 4 คนของเขา โดยเบโซส์นิยามคำว่า “อาชีพ” เป็น 3 คำ คือ Job (งานที่ทำเพื่อเงิน), Career (อาชีพที่มั่นคง)  และ Calling (งานที่ทำตามเสียงเรียกของหัวใจ)

โดยเบโซส์ต้องการจะสื่อว่า ให้หาอาชีพที่เป็น Calling ให้เจอ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือให้หาวิธีสร้างหน้าที่การงานของตัวเองขึ้นมาจาก “แพสชัน” ของตัวเอง โดยเบโซส์เชื่อสุดใจว่า คนทุกคนล้วนมี “เสียงเรียกนั้น” เป็นของตัวเอง

“ผมเชื่อว่าทุกคนมีพรสวรรค์และเสียงเรียกร้องของตัวเอง แต่จะมีเพียงคนที่โชคดีที่สุดเท่านั้นที่สามารถมุ่งหน้าติดตามความปรารถนานั้นจนสำเร็จ”

4.   ปล่อยให้ตัวเองมีเวลาว่างและใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยบ้าง

หนึ่งหัวข้อในปี 2018 ที่เบโซส์เขียนถึงเหล่าผู้ถือหุ้นก็คือ “เรื่องของสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็น” และ “พลังของการคิดเรื่อยเปื่อย”

โดยการหาเวลาว่างมานั่งสำรวจค้นหาความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองจะช่วยให้ได้พบวิธีการในการดำเนินชีวิตและการทำงานใหม่ๆ ที่อาจจะแตกต่างและดีกว่าเดิม

“หลายครั้ง เราจะรู้เองว่าต้องไปที่ไหน ทำเมื่อไร จึงจะได้งานที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามแผน อย่างไรก็ตาม การปล่อยใจเรื่อยเปื่อย หรือออกนอกลู่นอกทางบ้าง อาจเป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพก็จริง แต่ก็อาจนำมาซึ่งแนวคิด และไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน”

5.    รักษาความเป็นตัวของตัวเอง

จดหมายถึงผู้ถือหุ้นฉบับสุดท้ายในฐานะซีอีโอของ เบโซส์ ระบุว่า ความสำคัญของการรักษา “ความเป็นตัวของตัวเอง” ไว้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่า และการเป็นตัวของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทั้ง “พลังกาย” และ “พลังใจ” มหาศาลในการคงความเป็นตนเองไว้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะยากเพียงใด หรือต้องทำงานหนักแค่ไหน ก็อย่าปล่อยให้โลกฉุดรั้งเราจนยอมเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไป

อ้างอิง

CNBC