‘Nasdaq 100’ จ่อปรับเกณฑ์กระจายน้ำหนักใหม่ เหตุ ‘บิ๊กเทคฯ’ ชี้นำดัชนีฯ หนัก

‘Nasdaq 100’ จ่อปรับเกณฑ์กระจายน้ำหนักใหม่ เหตุ ‘บิ๊กเทคฯ’ ชี้นำดัชนีฯ หนัก

“Nasdaq 100” เตรียมปรับเกณฑ์คำนวณการกระจายน้ำหนักใหม่ เหตุหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐอย่าง Microsoft, Apple, Alphabet, Nvidia, Amazonและ Tesla มีผลต่อดัชนีมากเกินไป แม้ “คาเมรอน ลิลยา” ผู้บริหารแนสแด็ก เผยจะไม่มีการนำหุ้นตัวใดเข้าหรือออกในครั้งนี้

Key Points

  • “Nasdaq 100” เตรียมปรับเกณฑ์คำนวณการกระจายน้ำหนักใหม่ เหตุหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐครอบงำดัชนีฯ หนัก
  • หุ้นบิ๊กเทคฯ ที่มีผลต่อดัชนีฯ​ ได้แก่ Microsoft, Apple, Alphabet, Nvidia, Amazon และ Tesla
  • ด้าน  “คาเมรอน ลิลยา” ผู้บริหารแนสแด็ก เผย จะไม่มีการนำหุ้นตัวใดเข้าหรือออกในครั้งนี้

 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (bloomberg) รายงานวันนี้ (13 ก.ค.) ว่า แนสแด็ก (Nasdaq) เตรียมปรับวิธีการคำนวณดัชนีใหม่เป็นกรณีพิเศษ ผ่านการดำเนินการกระจายน้ำหนักของหุ้นในดัชนีรูปแบบใหม่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล (Apple) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ขยายตัวขึ้นอย่างร้อนแรงจนคล้ายเป็นผู้ชี้ทิศทางตลาดหุ้น และเบียดบังหุ้นขนาดเล็กตัวอื่น

โดยผู้บริหารของแนสแด็ก ระบุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ก.ค.)  ว่า จะปรับเกณฑ์การกระจายน้ำหนักก่อนที่ตลาดจะเปิดทำการซื้อขายในวันที่ 24 ก.ค. โดยปรับลดความ “เข้มข้น” ของ หุ้นขนาดใหญ่ บางตัวที่มีอำนาจชี้นำดัชนีฯ และจะประกาศการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวันที่ 14 ก.ค. โดยปราศจากการนำหุ้นเข้าหรือออกจากดัชนีฯ

หุ้นบิ๊กเทคฯ สหรัฐครอบงำดัชนี Nasdaq 100 หนัก

ทั้งนี้ ดัชนีแนสแด็ก 100 (Nasdaq 100) เป็นดัชนีที่ให้น้ำหนักกับการคำนวณโดยอิงจาก มาร์เก็ตแคป เป็นส่วนใหญ่ ทว่าก็ยังมีปัจจัยอื่นที่นำมาใช้คำนวณ ตัวอย่างเช่น ณ วันที่ 7 ก.ค. หุ้น ไมโครซอฟท์มีน้ำหนักมากที่สุดที่ 12.9% ขณะที่หุ้นแอปเปิลมีน้ำหนัก 12.5% แม้ว่าหุ้นแอปเปิลจะมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 2.999 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าไมโครซอฟท์ที่ 2.51 ล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม

ด้านนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การดำเนินการที่แปลกใหม่ของแนสแด็กครั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของตลาดหุ้นสหรัฐในปีนี้ ซึ่งขับเคลื่อนด้วย กระแสปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อย่างรุนแรง จนทำให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนภายในวอลล์สตรีทว่า “ความก้าวหน้าดังกล่าวในตลาดจะคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่”

แม้ว่ารายละเอียดในการดำเนินการจะยังไม่แน่ชัด แต่ในเว็บไซต์ของแนสแด็กระบุว่า การปรับสมดุลพิเศษอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่หุ้นในดัชนีฯ เกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยน้ำหนักต่อดัชนีของหุ้นสามารถปรับลดลงได้ หากหุ้นขนาดใหญ่แต่ละตัว (ซึ่งเป็นหุ้นที่มีน้ำหนักมากกว่า 4.5% ต่อดัชนีขึ้นไป) มีน้ำหนักต่อดัชนีรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกิน 48%  

ข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ณ วันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา หุ้นบริษัทเทคโนโลยียักษณ์ใหญ่ 6 บริษัท คือ ไมโครซอฟท์, แอปเปิล, อัลฟาเบต (Alphabet), อินวิเดีย (Nvidia), แอมะซอน (Amazon) และ เทสล่า (Tesla) มีน้ำหนักรวมต่อดัชนีอยู่ที่ 50.9% โดยหากอิงจากวิธีการคำนวณของแนสแด็กจะทำให้น้ำหนักของทั้ง 6 หุ้นต่อดัชนีรวมกันลดลงเหลือเพียง 40% 

ด้าน คาเมรอน ลิลยา (Cameron Lilja) ประธานฝ่ายปฏิบัติการของแนสแด็ก ระบุว่า การปรับน้ำหนักมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนที่เกี่ยวข้องกับดัชนีแนสแด็ก 100 สามารถปฏิบัติตามกฎ “การกระจายความเสี่ยง” ของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ที่จำกัดน้ำหนักรวมของการถือครองหุ้นที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีตั้งแต่ 5% จนถึง 50% ตามกรณี 

ส่วนนักวิเคราะห์จากเวลส์ฟาร์โก (Wells Fargo) ผู้ให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน เผยว่า หุ้นที่ “ใหญ่รองลงมา” จากหุ้นบิ๊กเทคฯ ชั้นนำ จะได้รับอานิสงส์จากการปรับน้ำหนักครั้งใหม่ ตัวอย่างเช่น หุ้น Starbucks (SBUX), Mondelēz International (MDLZ), Booking Holdings (BKNG), Gilead Sciences (GILD), Intuitive Surgical (ISRG), Analog Devices (ADI) และ Automatic Data Processing (ADP) เป็นต้น 

ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากอาจได้รับการลดสัดส่วนลด โดยกองทุนติดตามดัชนี เช่น อินเวสโค คิวคิวคิว ทรัสต์ (Invesco QQQ Trust) หรือ QQQ จะต้องปรับเปลี่ยนการถือครองเช่นกัน น่าสนใจว่า บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้อาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผลการดำเนินงานของแนสแด็กในอนาคตมากนัก โดย แอปเปิล, ไมโครซอฟต์ และ แอมะซอน จะยังคงเป็นผู้นำในดัชนีฯ ท่ามกลางมูลค่าตลาดที่สูงถึง 13 หลัก ต่อไป เพียงแต่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอาจมี “พื้นที่หายใจ” มากขึ้น