ยกเครื่อง ‘อีโคซิสเตม’ ตลาดทุน ร่วมหาแนวทาง ‘ปิดช่อง’ ทุจริต-สร้างเชื่อมั่น

ยกเครื่อง ‘อีโคซิสเตม’ ตลาดทุน ร่วมหาแนวทาง ‘ปิดช่อง’ ทุจริต-สร้างเชื่อมั่น

ยกเครื่อง “อีโคซิสเตม” ตลาดทุน เพื่อร่วมหาแนวทาง “ปิดช่อง” ทุจริต-สร้างความเชื่อมั่น และควรเกาะติด-แจ้งเตือน-ตรวจสอบเข้มมากขึ้น

จากกรณีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ STARK กำลังส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งในส่วนผู้ถือหุ้น-ผู้ถือหุ้นกู้-สถาบันการเงิน แบบไม่ให้ตั้งตัว ! ดังนั้น ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่าง “ตื่นตัว” เพื่อยกเครื่องกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น แม้ปัจจุบันเชื่อระบบบริหารจัดการถือว่าดี แต่หากมีมาตรการ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำน่าจะดียิ่งกว่า !       

“กรุงเทพธุรกิจ” มีมุมมองของเหล่า “กูรู” ในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุน เสนอแนะและร่วมกันหาวิธีการป้องกัน โดยการถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นมาปรับในภาพใหญ่และหาวิธีแก้ไขร่วมกัน

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ value investor มีมุมมองต่อกรณีหุ้น STARK ว่า ส่วนตัวมองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ “ตลาดเงินตลาดทุน” คงต้องร่วมกัน “สังคายนา” ปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยกันประเมินและหาแนวทางแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ซึ่งปัจจุบันเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยและถี่มากขึ้น ซึ่งมองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการแก้ปัญหายังไม่ค่อยดี

หากย้อนเส้นทางหุ้น STARK ก่อนจะมีปัญหาภาพทุกอย่างสวยหรู จากแรงหนุนทั้งตลท.ก็ให้เป็นหุ้นชั้นดี (SET100) นักวิเคราะห์ (โบรกเกอร์) ก็ออกบทวิเคราะห์ แนะนำเชียร์ ผู้ตรวจบัญชีระดับโลกก็ยังตรวจสอบไม่เจอความผิดปกติ ส่วนบริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ก็พิจารณาให้หุ้น STARK อยู่ในระดับที่น่าลงทุน ซึ่งสถาบันใหญ่ทั้งในและต่างประเทศยังหลงเชื่อและเข้ามาลงทุน 

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าว ตลท.ก็ต้องมีขั้นตอนการพิจารณาบริษัทที่เข้ามาลงทุนให้เข้มข้นมากขึ้น ตรวจดูความเคลื่อนไหวราคาหุ้นมีความผิดปกติไหม ส่วนก.ล.ต.หากพบความผิดปกติก็ต้องเร่งแก้ไข ติดกฎระเบียบต้องไหนก็ต้องเข้าไปแก้ไขให้เร็วขึ้น 

ด้านนักวิเคราะห์ก็ต้องทำงานแบบมืออาชีพ คิดถึงนักลงทุนเป็นหลัก หากพบความผิดปกติก็ต้องกล้าคิดต่าง ไม่แนะนำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อ ด้านฝ่ายตรวจสอบบัญชีก็ต้องลงรายละเอียดและตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้น    

“หากทุกฝ่ายช่วยกันร่วมมือกันป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยอีก ซึ่งในต่างประเทศจะมีบริษัทที่คอยตรวจดูความผิดปกติ หากเจอเขากล้ามีความเห็นต่าง จากคนอื่นๆ ที่เชียร์ให้ลงทุน ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีใครกล้าคิดต่าง กล้าทำ เพราะกลัวเข้าสำนวนสุภาษิตที่ว่า หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด” 

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด มีมุมมองว่า เห็นด้วยที่ตลท. และก.ล.ต. จะมีการยกเครื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับหุ้น STARK เนื่องจากทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้ตลาดทุนมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทบทวนข้อผิดพลาด ตรงจุดไหนที่ทำให้เกิดขึ้น และหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งอาจจะต้องปรับอีโคซิสเตมตลาดทุนทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าคนที่มีความตั้งใจ เข้ามาฉ้อโกง การป้องกันก็ “ยาก” แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องพยายามหาวิธีป้องกัน ซึ่งเมื่อมีบทเรียนแล้ว ต่อไปก็ต้องหาวิธีมาป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก หรือ คนที่ตั้งใจเข้ามาโกงทำได้ยากขึ้น โดยต้องเข้าไปดูว่าที่ผ่านมา ทำไมถึงเกิดขึ้น และเขาทำได้ยังไง แต่กรณีหุ้น STARK ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีการโกงกันจริงไหม ยังต้องรอดูงบการเงินปี 2565 ก่อน ที่จะประกาศ 16 มิ.ย. 66 

ยกเครื่อง ‘อีโคซิสเตม’ ตลาดทุน ร่วมหาแนวทาง ‘ปิดช่อง’ ทุจริต-สร้างเชื่อมั่น “พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า กระบวนการการลงทุนของกองทุนมีการกระจายความเสี่ยงและทำอย่างมืออาชีพมีมาตรฐานและการกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่หากจะป้องกันเข้มขึ้นมองว่า อาจต้องมีเครื่องมือใหม่เข้ามาช่วยติดตามความผิดปกติ และแจ้งเตือนให้กับนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“พิเชษฐ สิทธิอำนวย” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย(สมาคมโบรก)กล่าวว่า การวิเคราะห์และให้คำแนะนำก็เป็นการปฏิบัติงานโดยอาศัยข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทเป็นหลัก แต่ละ บล.ให้ความสำคัญกับมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณการปฏิบัติงาน

กรณี STARK เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภายหลังกระบวนการวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม ขณะที่ระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.ที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่ารัดกุมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย ทุกฝ่ายต้องติดตามมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อปกป้องผู้ลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา ขณะที่การมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นหรือมีระบบใหม่เพิ่มเติม ต้องไม่เป็นภาระต้นทุนเพิ่มให้กับบริษัทอื่นที่ปฏิบัติตัวได้ดีอยู่แล้ว