ก.ล.ต.ยกระดับกำกับบจ.ครั้งใหญ่ ป้องการกระทำผิด-ปกป้องผู้ลงทุน

ก.ล.ต.ยกระดับกำกับบจ.ครั้งใหญ่ ป้องการกระทำผิด-ปกป้องผู้ลงทุน

“ก.ล.ต.” เตรียมยกระดับกำกับดูแลบจ.ครั้งใหญ่ ทั้งองคาพยพ พร้อมปรับเกณฑ์ปิดช่องโหว่ ป้องการกระทำผิด-ปกป้องผู้ลงทุน คาดเสนอบอร์ด ก.ค. ส่วนกรณี "STARK"อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง  “สมาคมบลจ.”เตรียมตั้งโต๊ะแถลงวันนี้ กรณีลงทุน“สตาร์ค”ของกองทุน

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างยกระดับการกำกับดูแลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ภายใต้โครงการบริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง ซึ่งได้จัดทำเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการ(บอร์ด)ก.ล.ต.ได้ในช่วงเดือนก.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ยกระดับการกำกับนั้นจะทำทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ต้นทางคือเกณฑ์การรับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) และบริษัทที่เข้าจดทะเบียนไปแล้ว ซึ่งได้ทำงานใกล้ชิดร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่าจะมีการปรับเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมบ้าง

ก.ล.ต.เตรียม ยกระดับการกำกับ ดูแล บจ."โครงการบจ.เข้มแข็ง"

 

รวมถึงการให้ กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบภายในองค์กร กรรมการอิสระ เลขานุการฯลฯของบริษัท ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อที่จะทำให้ทำหน้าอย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องผู้ลงทุน ขณะที่ผู้สอบบัญชี ,ที่ปรึกษทางการเงิน และ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระก็จะให้เน้นในเรื่องความสำคัญในการทำหน้าที่เป็นGatekeeper ในการตรวจสอบ และหากพบความผิดปกติ ก็ให้ความเห็นว่ามีการกระทำที่ผิดปกติเกิดขึ้น

ขณะที่ผู้ลงทุนก็จะเน้นเรื่องบทบาทหน้าที่ซึ่งผู้ลงทุนต้องรู้สิทธิหน้าที่ของผู้ลงทุน ว่าจะต้องดูแลตนเอง ติดตาม และศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนอย่างไร ขณะที่บทบาทของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)ต้องมีมากขึ้น ในการตั้งประเด็น หรือสอบถาม และดำเนินการหากเกิดเหตุที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เพราะTIA ถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้น

 

นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า ก.ล.ต.มีแผนที่จะปรับเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Back-door Listing) ให้เข้มขึ้นเท่ากับการรับหุ้นIPO ทั้งในเรื่องการมีระบบควบคุมภายในที่รัดกุม การบริหารบริหารจัดการที่โปร่งใส่ฯลฯ

“ก.ล.ต.ยกเครื่องสังคยนาครั้งใหญ่ในการกำกับดูแลบจ.ที่อยู่ในโครงการบจ.เข้มแข็ง เพื่อเสนอไปยังบอร์ด ก.ล.ต.พิจารณาก่อนว่าแต่ละส่วน เครื่องมือที่เรามีแล้ว เครื่องมือที่จะเพิ่มในอนาคต จะมีการเพิ่มอะไรบ้าง หรือมีกฎเกณฑ์อะไรบ้างที่เป็นช่องโหว่ ที่เราต้องปรับปรุง ”

สำหรับกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น ก.ล.ต.ได้มีการดำเนินการเชิงรุก และทำหลายอย่าง ในเวลาเดียวกัน  เพราะก.ล.ต.ให้ความสำคัญเรื่องผู้ลงทุนต้องมีข้อมูล โดยให้ทางSTARK เปิดเผยและชี้แจงข้อมูลต่างๆ ฯลฯ 

ส่วนการดำเนินการด้านบังคับใช้กฎหมายนั้น ทางฝ่ายตรวจสอบของ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง โดยหากพบหลักฐานในการชี้มูลความผิดก็จะดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป 

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC ) เปิดเผยว่า ในวันนี้ เวลา 15.00 – 16.00 น. ทางสมาคมฯ จัดแถลงข่าวเรื่องการลงทุนในSTARK  ของบริษัทจัดการลงทุน  ถึงบทบาทหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนว่ามีนโยบายพิจารณาการลงทุนดังกล่างอย่างไร 

รวมถึงแนวทางการเรียกร้องที่กองทุนจะสามารถดำเนินการได้ในฐานะเป็นนักลงทุนสถาบันได้รับความเสียหาย โดยยังรอติดตามความคืบหน้า ว่าSTARKจะส่งงบเงินทันในกำหนดที่แจ้งตลท.ไว้หรือไม่ และผลการตรวจสอบการทุจริตภายในบริษัท หลังผู้บริหารชุดใหม่ แจ้งดีเอสไอ กปอ.และก.ล.ต.ให้ตรวจสอบเร่งหาผู้กระทำผิดและติดตามทรัพย์สินคืน  

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ชี้แจงนักลงทุนถึง 4 กองทุนที่ลงทุนในหุ้น STARK ว่ามีเพียง 0.4-0.6% เท่านั้น และนักลงทุนเดิมที่ลงทุนมานานเข้าใจดี ส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีการกระจายหลักทรัพย์จำนวนมากทำให้เกิดผลกระทบไม่ได้น่ากลัวตามที่มีข่าวออกมา เป็นเพียงการขาดทุนกำไรลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากเป็นนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนอาจกระทบบ้าง

นอกจากนี้ สำหรับแนวทางพิจารณาปรับลดสัดส่วนการลงทุนหุ้น STARK หรือไม่หลังจากนี้นั้นคงต้องรอดูงบการเงินของบริษัทก่อนว่าจะสามารถนำส่งได้หรือไม่ 

แหล่งข่าวในวงการกองทุนรวม กล่าวว่า จากกระแสข่าวในโซเชียลที่มีการกล่าวหากองทุนต่างๆเรื่องการรับเงินทอนซื้อหุ้นSTARKนั้น จริงๆ แล้วกองทุนต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. ฉะนั้นหากมีหลักฐานในประเด็นดังกล่าวที่เชื่อถือได้ก็สามารถนำส่งให้ก.ล.ต.ตรวจสอบข้อเท็จจริง