เกิดอะไรขึ้นกับ STARK จากผู้นำด้านการผลิตสายไฟ สู่ผู้ผิดนัดชำระหนี้

เกิดอะไรขึ้นกับ STARK จากผู้นำด้านการผลิตสายไฟ สู่ผู้ผิดนัดชำระหนี้

เปิดไทม์ไลน์ ความปั่นป่วน “STARK” จากผู้นำด้านผลิตสายไฟด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคปกว่า 3 หมื่นล้าน สู่ผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่เหลือมาร์เก็ตแคปไม่ถึง 3 พันล้านบาท หลังราคาหุ้นทรุด "ต่ำกว่าบาท"

Key Points

• สตาร์คเลื่อนส่งงบการเงินปี 2565 ทั้งหมด 3 ครั้ง จนนักลงทุนเริ่มตั้งข้อสงสัย

• มาร์เก็ตแคป "สตาร์ค" ลดลงจากระดับ 3 หมื่นล้าน สู่ระดับ 2 พันกว่าล้าน

• บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ลดระดับหุ้นกู้ของสตาร์คสู่ระดับน่ากังวล (D)

ชื่อของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ผ่านมาก็เป็นหุ้นฟอร์มดีอยู่ใน SET 100 ผลประกอบการกำไรเติบโตต่อเนื่อง แต่เค้าลางร้ายเริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่ประกาศล้มดีลซื้อหุ้น ใน LEONI Kabel GmbH ผู้ให้บริการโซลูชันสายเคเบิลสำหรับยานยนต์ ทั้งแบบมาตรฐานและแรงดันสูง ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งไม่เกิน 560 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,589 ล้านบาท แต่กลับ "ไม่ยอมคืนเงิน" แก่นักลงทุน 12 ราย ที่ใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไป 5,580 ล้านบาท โดยอ้างเหตุผลว่าจะเก็บไว้ลงทุนโครงการในอนาคต

นั้นเป็นข้อสงสัยแรก แต่ที่ทำให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องในแวดวงตลาดหุ้น “งงงวย” มาก ก็หลัง STARK แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.) ว่า  บริษัทขอเลื่อนส่งงบการเงินประจำปี 2565 เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจาก “บริษัท ดีลอยท์” เป็น “บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส” (PWC)  จนถึงปัจจุบันมีการขอเลื่อนส่งงบการเงินปี 65 ทั้งหมด 3 รอบ ล่าสุด STARK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า จะส่งข้อมูลทางการเงินดังกล่าวไม่เกินวันที่ 16 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

หากย้อนเส้นทางของ STARK เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 สตาร์คเข้า จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบทางอ้อม (Backdoor Listing) ผ่าน บริษัท สยาม อินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสื่อมากมายหลายประเภท ทั้งหนังสือการ์ตูน นวนิยาย วิทยุ สถานีโทรทัศน์ เว็บไซต์สำหรับข่าวกีฬา และอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อเกือบจะครบวงจร

ทั้งนี้ “กลุ่มวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน SMM ในราคาหุ้นละ 60 สตางค์ และเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 94% ในปี 2561 และ เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ ผ่านการเข้าไปถือหุ้นบริษัทเกี่ยวกับสายไฟ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (Phelps Dodge) ผู้ผลิตสายไฟอันดับต้นของประเทศไทย, ธิพา เคเบิล (Thipha Cable) และโดวีน่า (Dovina) สองผู้ผลิตสายไฟยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งณ ตอนนั้น นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าเป็นบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ

แต่หากต้องการทำความเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นกับสตาร์ค บริษัทที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ และถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านสายไฟซึ่งกิน ส่วนแบ่งการตลาด ในมากที่สุดภูมิภาคเอเชีย จำเป็นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่บริษัทฯ จำเป็นต้องย้อนกลับไปในช่วงแรกที่บริษัทฯ ดำเนินกิจการ

ช่วงแรกของการดำเนินกิจการ

• หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย C กับหุ้น SMM เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นสำหรับ งบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว

• วันที่ 7 มี.ค. 2562 บริษัทฯ ประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพิจารณาปรับโครงสร้างกิจการ รวมทั้งออกและ จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน

• 10 ก.ค. 2562 บริษัทฯ ประกาศแต่งตั้ง นายชนินทร์ เย็นสุดใจ เป็นประธานกรรมการ และนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นกรรมการ และปรับเปลี่ยนคณะกรรมการของบริษัทฯ อีก 8 คน

• 15 ก.ค. 2562 SMM แจ้งผู้ถือหุ้นว่า เปลี่ยนชื่อบริษัท ชื่อย่อหลักทรัพย์ และตราประทับของบริษัท เป็น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น STARK โดยมีจุดประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจด้านสายไฟเต็มตัว

• 22 ก.ค. 2562 สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า สตาร์ค ปรับหมวดธุรกิจจากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ในอุตสาหกรรมบริการ ไปเป็นหมวดธุรกิจ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ในอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม

• 1 ต.ค. 2562 บริษัทฯ จดทะเบียนเพื่อแปลงทุนชำระแล้ว เข้าแก้ไขตัวเลขการลดทุนจดทะเบียน และการแก้ไขวาระการประชุม

• 19 พ.ย 2562 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลด เครื่องหมาย C หลักทรัพย์ สตาร์ค เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกสำหรับงบการเงิน ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2562 มากกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว

• จบปี 2562 ถึง 9 เดือน ปี 2565 เป็นต้นมา สตาร์ค มีกำไรสุทธิ 123.92 ล้านบาท จากในปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 183.65 ล้านบาท รวมทั้งมีผลประกอบการขยายตัวต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิของงบฯ  ปี 2563 2564 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 1,608.66 ล้านบาท  2,783.11 ล้านบาท และ 2,216.47 ล้านบาท ตามลำดับ

งบการเงินบริษัท STARK

ยุคของความปั่นป่วน

หลังจากผ่านพ้นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจไป สตาร์ค อดีตบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตดี เริ่มเข้าสู่ยุคที่ความ “ปั่นป่วน” เริ่มก่อตัวขึ้นโดยเมื่อวันที่

• 23 พ.ค. 2565 ผู้ถือหุ้นมีมติให้สตาร์คเข้าซื้อหุ้นใน LEONI Kabel GmbH ผู้ให้บริการโซลูชันสายเคเบิลสำหรับยานยนต์ ทั้งแบบมาตรฐานและแรงดันสูง ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งไม่เกิน 560 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,589 ล้านบาท

• 1 ส.ค. 2565 คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 1,500,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมที่มีอยู่แล้ว 15,875,206,607 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 17,375,206,607 บาท เพื่อรองรับการ จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP)

• 10 ต.ค. 2565 สตาร์คแจ้งว่ามีนักลงทุน จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่ม ทุนจำนวนรวม 12 ราย

หยุดการซื้อขายหุ้นสตาร์คชั่วคราวเพราะเลื่อน "ส่งงบฯ"

• 1 มี.ค. 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้น เครื่องหมาย SP เพราะไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตรงตามกำหนด เพราะเปลี่ยนผู้สอบบัญชี จากบริษัทดีลอยท์ เป็นบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส

• 31 มี.ค. 2566 สตาร์คแจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเป็นต้องส่งนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ล่าช้า (ครั้งที่ 1) เพราะอ้างว่า

“ข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างอาจตรวจสอบของผู้ตรวจสอบบัญชี รวมทั้งยังมีบางข้อมูลที่อยู่ระหว่างการดำเนินจาก โดยคาดว่าจะสามารถส่งข้อมูลทางการเงินดังกล่าวได้ภายในวันที่ 21 เม.ย. 2566” พร้อมแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้บริหารสูงสุดทางการเงิน (CFO) และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี

• 17 เม.ย. 2566 นายชินวัฒน์ อัศวโภคี กรรมการบริษัท ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

• 19 เม.ย. 2566 นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการท่านอื่นทั้งหมด 7 ราย ประกาศลงจากตำแหน่ง พร้อมแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ซีเอฟโอ และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี อีกครั้ง และบริษัทฯ แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า จำเป็นต้องนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ล่าช้า (ครั้งที่ 2) โดย นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการบริษัท พร้อมชี้แจงว่า จะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในช่วง เดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566

• 1 มิ.ย. 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย SP ของหุ้นสตาร์ค จนทำให้ในช่วงแรก ราคาหุ้นสตาร์คร่วง ลงประมาณ 90% มาอยู่ที่ 0.18 สตางค์ต่อหุ้น ก่อนที่จะมีนักลงทุนรายย่อยเข้าไปเก็งกำไรจนทำให้หุ้นปรับตัวเป็นบวกขึ้นมาได้ช่วงหนึ่ง

หลังจากทราบไทม์ไลน์ “ความไม่ชอบมาพากล” ของการดำเนินธุรกิจของสตาร์ค บริษัท ไพร้ซวอเตอร์ เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี จึงจัดทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) เห็นว่าบริษัทสตาร์คต้องใช้เวลาเพิ่มเติม ในการจัดทำงบการเงินของปี 2565 รวมทั้งเห็นว่าบริษัทฯ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มผู้บริหาร แก้ไขระบบการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่า สตาร์คอาจเผชิญปัญหาการทุจริตภายในองค์กรจึงไม่สามารถส่งงบการเงินของปี 2565 ได้ตรงเวลา ทั้งยังตั้งข้อสังเกตกับกำไรของบริษัทในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามที่รายงานกับตลาดหลักทรัพย์จริงหรือไม่ ซึ่ง โดยภายหลังสตาร์คก็ออกมายอมรับว่าด้วยตัวเองว่า อาจมีการทุจริตขึ้นภายในองค์กรจริง

‘หุ้นกู้สตาร์ค’ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตา

หุ้นกู้ของ STARK ทั้งหมด 5 ชุด

ความปั่นป่วนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวลุกลามไปถึง หุ้นกู้มูลค่า 9,200 ล้านบาท ที่มีกำหนดชำระคืนในอีกไม่นาน ทว่าการที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนด และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ประเมินว่า บริษัทอาจเข้าข่ายผิดนัดชำระหนี้

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. จากการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 2 ชุด จำนวน 2,240 ล้านบาท มีมติเรียกให้สตาร์ค ชำระหนี้หุ้นกู้ (Call Default) ภายใน 30 วัน มิเช่นนั้นจะทำให้บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด (Cross default) และจะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาลต่อไป

ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด ได้แก่

1. หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 (STARK239A) จำนวนหุ้นกู้ ที่ออกและจำนวนเงินต้นที่ออก 1,291.50 ล้านบาท วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ 2 ก.ย. 2566

2. หุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 (STARK249A) จำนวนหุ้นกู้ ที่ออกและจำนวนเงินต้นที่ออกจำนวน 949.50 ล้านบาท วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ 2 ก.ย. 2567

โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาถึงกำหนดจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้ STARK230A และ STARK249A มูลค่ารวม 20.7 ล้านบาท ในวันที่ และในวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา  STARK239A ครบกำหนดจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 1,303 ล้านบาท จนกระทั่งในวันเดียวกัน ทริสเรทติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ปรับลดอันดับเครดิตสตาร์ค ลงสู่ระดับ D จากเดิมที่ปรับไปแล้ว  1 ครั้งจากระดับ BB มาสู่ระดับ C

เปิด "กองทุน" เกี่ยวข้องกับสตาร์ค

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง ออกมาแสดงความกังวลจากการที่กองทุนมีหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่ในพอร์ต พร้อมเสริมว่าจะบริหารสถานการณ์และกองทุนอย่างระมัดระวัง โดย กองทุนของ บลจ.บัวหลวง ที่มีหุ้นสตาร์คอยู่ในพอร์ต ประกอบด้วย ทั้งหมด 4 ตัวคือ

กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ: มีหุ้นสตาร์คทั้งหมด 0.6% จากหุ้นในพอร์ต 76 ตัว

กองทุนบัวหลวงหุ้นระยะยาว: มีหุ้นสตาร์คทั้งหมด 0.6% จากหุ้นในพอร์ต 72 ตัว

•  กองทุนบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ: มีหุ้นสตาร์คทั้งหมด 0.5% จากหุ้นในพอร์ต 73 ตัว

กองทุนบัวหลวงหุ้นระยะยาว: 75/25 มีหุ้นสตาร์คทั้งหมด 0.4% จากหุ้นในพอร์ต 69 ตัว

ส่วน บลจ.วรรณ กล่าวหลังพบสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้ของสตาร์คว่า ไม่มีการลงทุนในหุ้นของสตาร์คโดยตรง เพราะทยอยลดสัดส่วนมาตั้งแต่ปี 2565 แล้ว และไม่มีสัดส่วนคงเหลือตั้งแต่ตั้ง ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม บลจ. ยังมีการลงทุนในหุ้นกู้ STARK245A เพียงรุ่นเดียว และคิดเป็นเพียง 0.03% ของ มูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ (AUM) ซึ่งมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 31 พ.ค. ให้ยกเว้นเหตุผิดนัดกรณีไม่ส่ง แบบ 56-1 ทำให้ปัจจุบันสถานะของหุ้นกู้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ   

ขณะที่ บลจ.กรุงไทย ออกมาระบุว่า ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสตาร์คส่วนใหญ่ไปตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. 2566 ไม่เหลือหน่วยลงทุนแล้ว แต่ยังมีการลงทุนใน วอร์แรนท์ ของบริษัทดังกล่าวด้วยสัดส่วนที่ “ไม่มีนัยสำคัญ” และเป็นการได้มาตามสิทธิในอดีตโดยไม่มีต้นทุน

STARK ร้อง DSI ตรวจสอบการทุจริตภายใน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา สตาร์คแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจพบ "พฤติการณ์ที่น่าสงสัย" ในประเด็นเรื่องการดำเนินงานภายในองค์กร จึงเริ่มกระบวนการ Special Audit และต่อมาจึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) รวมทั้งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดและดำเนินคดีลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด

โดยบริษัทฯ ระบุว่า พร้อมให้ร่วมมือทางกฎหมายกับ ดีเอสไอ และ บก.ปอศ. อย่างเต็มที่เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด