เปิดโผ 9 หลักทรัพย์ เนื้อหอม แบงก์ไทยรุมตอมร่วมถือหุ้นมากที่สุด

เปิดโผ 9 หลักทรัพย์ เนื้อหอม แบงก์ไทยรุมตอมร่วมถือหุ้นมากที่สุด

ในตลาดหุ้นไทยที่มีธนาคารพาณิชย์เข้าไปถือหุ้นใหญ่มีด้วย 9 หลักทัพย์ INTUCH มาร์เก็ตแคป 234,889.87 ล้านบาทมากสุด มีแบงก์ กรุงศรีอยุธยา ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 และธนาคาร เกียรตินาคินภัทร ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10

การจะคัดเลือกหุ้นสักตัวเข้าไปลงทุน หลายคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่านอกจากผลประกอบการที่ดีมีการเติบโตอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องแล้ว รวมถึงอัตราส่วนทางการเงิน และตัวผู้บริหาร อีกหนึ่งข้อมูลที่หลายคนให้ความสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ หาก 1 ใน 10 มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างของสังคมเข้ามาถือหุ้น ก็สามารถนำมาเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง 

วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า การพิจารณาเลือกหุ้นเข้าพอร์ตหุ้นตัวนั้นต้องมีความมั่นคง ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นที่ไม่ได้มีความหวือหวามากนัก แต่มีกระแสเงินสดดี ผลประกอบการไม่ขาดทุน เป็นกิจการค่อนข้างใหญ่ สามารถจ่ายปันผลได้ ขณะที่ข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ก็สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจ หรือสร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือของหุ้นนั้น ๆ ได้ในระดับหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น หุ้น INTUCH ถือเป็นหุ้นที่เข้าข่าย เนื่องจากรายได้หลัก ๆ มาจาก ADVANC ซึ่ง ADVANC จะอยู่ในกลุ่มสื่อสาร เป็นหุ้นที่ค่อนข้างใหญ่ และสามารถบอกได้ในระดับหนึ่งว่า หุ้นอยู่ในระดับดี มั่นใจได้ในระดับ และหากนำผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีธนาคารพาณิชย์เข้ามาถือหุ้นด้วย อาจจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักที่สามารถนำมาพิจารณาในการตัดสินใจได้ 

นธีร์ ใบเจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์การลงทุนและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทในเครือ บลจ.วรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่ธนาคารพาณิชย์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในหุ้นแต่ละตัว ต้องพิจาณาดูว่าก่อนหน้านั้นธนาคารเข้ามาถือมีวัตถุประสงค์อย่างไร เช่น กรณีแรกอาจจะเข้ามาตอนช่วง IPO เนื่องจากแบงก์จะมีสปอนเซอร์ชิฟอยู่แล้วทางฝั่งการให้กู้ยืมของแต่ละบริษัทนั้น ๆ ด้วย การการปล่อยกู้จึงเป็นแค่เหตุผลหนึ่งจากอีกหลาย ๆ เหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นด้วย กรณีที่ 2 หากแบงก์ไม่ได้มีการปล่อยกู้ให้บริษัทนั้น ๆ แต่อาจจะเข้าไปลงทุนเอง

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทใดจะต้องมีการขออนุญาตจากบอร์ดบริหารในการเข้าไปถือหุ้นด้วย เพราะฉะนั้นการที่ธนาคารจะเข้าไปถือหุ้นนั้น ๆ จึงค่อนข้างมีหลากหลายเหตุผล แต่อาจจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการประกอบดูข้อมูลหุ้นแต่ละตัวได้  แต่ก็ไม่ได้การันตีได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะมีความมั่นคง หรือน่าเชื่อถือหรือไม่ 

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยที่มีธนาคารพาณิชย์เข้าไปถือหุ้นใหญ่มีด้วย 9 หลักทัพย์

เปิดโผ 9 หลักทรัพย์ เนื้อหอม แบงก์ไทยรุมตอมร่วมถือหุ้นมากที่สุด

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

  • มาร์เก็ตแคป 124,572.75 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 815,356,075 หุ้น หรือ 5.33%
  • ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 303,448,709 หุ้น หรือ 1.99%
  • ราคาปิด 8.15 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

2.บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH

  • มาร์เก็ตแคป 234,889.87 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 16,441,100 หุ้น หรือ 0.51%
  • ธนาคาร เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 11,615,000 หุ้น หรือ 0.36%
  • ราคาปิด 73.00 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

3.บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PPP

  • มาร์เก็ตแคป 612.00 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 จำนวน 6,757,200 หุ้น หรือ 2.25%
  • ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 5,671,975 หุ้น หรือ 1.89%
  • ราคาปิด 2.02 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

4.บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH

  • มาร์เก็ตแคป 25,703.14 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร ออมสิน ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 67,642,500 หุ้น หรือ 11.38%
  • ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 59,429,000 หุ้น หรือ 10.00%
  • ราคาปิด 42.75 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

5.บริษัท ไทยไวร์โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TWP

  • มาร์เก็ตแคป 685.80 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 18,590,630 หุ้น หรือ 6.89%
  • ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 8,234,570 หุ้น หรือ 3.05%
  • ราคาปิด 2.54 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

6.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF

  • มาร์เก็ตแคป 55,600.00 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 6 จำนวน 172,663,600 หุ้น หรือ 2.16%
  • ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 8 จำนวน 126,785,890 หุ้น หรือ 1.58%
  • ราคาปิด 6.95 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

7.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LHPF

  • มาร์เก็ตแคป 2,293.50 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร ออมสิน ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 49,990,000 หุ้น หรือ 15.15%
  • ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 9,146,200 หุ้น หรือ 2.77%
  • ราคาปิด 6.90 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

8.กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซี.พี.ทาวเวอร์ โกรท หรือ CPTGF

  • มาร์เก็ตแคป 6,865.70 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 จำนวน 94,469,100 หุ้น หรือ 9.77%
  • ธนาคารออมสิน ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 5 จำนวน 48,658,400 หุ้น หรือ 5.03%
  • ราคาปิด 7.10 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)

 

9.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มัลติเนชั่นแนลเรสซิเดนซ์ฟันด์ หรือ MNRF

  • มาร์เก็ตแคป 283.80 ล้านบาท (29 พ.ค.66)
  • ธนาคารออมสิน ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 4,410,940 หุ้น หรือ 4.10%
  • ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 3,528,750 หุ้น หรือ 3.28%
  • ราคาปิด 2.70 บาท (วันที่ 30 พ.ค.66)