MAJOR รับกระแส MPIC รับทรัพย์ – ดันฟื้นเต็มตัว ปี 66

MAJOR  รับกระแส MPIC    รับทรัพย์ – ดันฟื้นเต็มตัว ปี 66

ความร้อนแรงราคาหุ้น "เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์" หรือ MPIC ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจเพราะภายใน 1 สัปดาห์ ( 22- 26 พ.ค.) ชนซิลลิ่งถึง 2 ครั้งจากราคา 1.54 บาท สูงสุด 2.58 บาท เพิ่มขึ้น 70 % แต่ที่นักลงทุนต้องหันกลับมาดูคือหุ้น "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป " หรือ MAJOR

       หลังดีล MAJOR ขายหุ้นยกล็อตถืออยู่ใน MPIC 1,202 ล้านหุ้น  หรือเป็นสัดส่วน 92.46% ให้ “ชินวัฒน์ อัศวโภคี “ และ “ขันเงิน เนื้อนวล”  รู้จักกันดีแร็ปเปอร์ชื่อดังของไทย ขันเงิน ไทยเทเนียม มูลค่า 650 ล้านบาทหรือคิดเป็นมูลค่าหุ้นละ 0.54 บาทโดยประมาณ

      แม้ว่าเงื่อนไขการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้จะการเชื่อมโยงกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK   เพราะมีสัญญาแปลงหนี้ใหม่จาก “ชินวัฒน์  “ ซึ่งเป็นกรรมการ STARK  ได้โอนสิทธิ และหน้าที่ภายใต้บันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้น ฉบับลงวันที่ 23 ก.พ. 2566 ให้แก่ "ขันเงิน"

     ยอมรับว่าดีลนี้ผู้ที่ได้รับเงินเต็มๆ คือ MAJOR  ที่สามารถบันทึกรายได้ขายหุ้น MPIC  เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายคาดว่าตัวเลขกำไรพิเศษอยู่ที่ราวๆ กว่า 350 ล้านบาท และสามารถรับรู้ภายในเดือนมิ.ย. ทำให้มีโอกาสผู้ถือหุ้นลุ้นจ่ายปันผลพิเศษ

     ท่ามกลางราคาหุ้น MAJOR ที่กำลังฟื้นจากพิษไข้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านระบาดอย่างหนัก 2 ปีก่อน กระทบธุรกิจโรงภาพยนตร์เต็มจนขาดทุนอย่างหนักปี 2563  จากกำไรขาดทุน 3 ไตรมาสซ้อน ทั้งธุรกิจโรงภาพยนตร์ รวมถึงธุรกิจภายใต้บริษัท เมเจอร์ โบว์ล กรุ้ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ (Blu-O Rhythm & Bowl) และลานสเก็ตน้ำแข็ง (Sub-zero)

        การฟื้นตัว MAJOR มาจากการกลับมาใช้ชีวิตปกติแม้จะมีการระบาดโควิดหลายระลอกแต่การเสียชีวิตลดลงจนแทบไม่เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตนอกบ้าน  

         ปี 2566 ถือว่าเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจหลัง “วิชา พูลวรลักษณ์ “ ฝ่าวิกฤติมาได้ และพร้อมที่ทำให้ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 กลับมาเติบโตในระดับ 10,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับปี 62 ที่มีรายได้ 10,822.47 ล้านบาท จาก Customer experience, สนับสนุนสร้างหนังไทย ผ่าน MPIC เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์  และเพิ่มรายได้ธุรกิจป๊อปคอร์นนอกโรงหนัง

        โดยเฉพาะธุรกิจป๊อปคอร์น ถือว่าสร้างเซอร์ไพรส์ จากสินค้าแฝงในธุรกิจกลับกลายเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ไม่น้อยให้ MAJOR  จนต้องปูทางเสริมศักยภาพด้วยการเข้าถือหุ้น บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN สัดส่วน 10% ต่อยอดจ้างผลิตป๊อปคอร์น (OEM) แบรนด์ MAJOR

         วางแผนจัดจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และมองโอกาสขยายไปในช่องทางออนไลน์อื่นๆ รวมถึงห้างโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) และคอนวีเนียนสโตร์ (Convenience Store) ทุกแห่ง เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้เติบโตแตะ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของรายได้รวมในปี 2566

        บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)  กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยช่วงครึ่งปีหลัง จากหนังฟอร์มใหญ่ที่จะเข้าฉายหลายเรื่อง ประกอบกับ MAJOR ได้มีการปรับโรงหนังเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ราคาตั๋วหนังสูงกว่าราคาโรงทั่วไป มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น รวมถึงมีเม็ดเงินโฆษณาจากฟิล์มที่เติบโตได้ดีกว่าช่วงก่อน

       นอกจากนี้  MAJOR จับมือกับทรูวิชั่น ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและกีฬาระดับโลกในโรงภาพยนตร์ มองว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถือเป็นกิจกรรมเสริมในเชิงมาร์เก็ตติ้งมากกว่า แต่ในอนาคตมองว่า MAJOR และ ทรู อาจมีความร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การขายตั๋วหนังผ่านมือถือ

       บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า การที่ MAJOR จับมือทรูวิชั่น น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งในแง่ทรูฯ จะมีช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์มากขึ้น ส่วน MAJOR ก็มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่งเบื้องต้นไม่น่าจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นการสร้างความสนใจดึงดูดให้คนเข้าโรงหนังมากขึ้นมากกว่า ซึ่งต้องรอดูผลการตอบรับด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์