BTG ราคาดิ่งหนัก 6 เดือน กังขาราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐาน

BTG  ราคาดิ่งหนัก 6 เดือน  กังขาราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐาน

ภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้อจากปัจจัยใหญ่ที่เข้ามากระทบทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปได้ยาก ซึ่งหุ้นรายตัวปรับฐานแล้วปรับอีกจนทำราคาร่วง ยิ่งหุ้นเล็กไม่ต้องพูดถึงมีประเด็นซ่อนเร้นไล่จนกระทบความเชื่อมั่นด้านราคาหุ้นต่อเนื่อง

        ปรากฎหุ้นใหญ่ที่เข้าข่าย  ราคาร่วงดิ่งเสมือนเป็นหุ้นเล็กสายเก็งกำไร  ทั้งที่โชว์ผลประกอบการดีตามลักษณะหุ้นใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG  ยังคงเส้นคงวาด้วย  “ราคาต่ำจอง” รายวันตั้งแต่ตบเท้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ !!

       ย้อนไปรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา “เบทาโกร” ถือว่าเป็นหุ้นใหญ่เขย่าตลาดไอพีโอด้วยชื่อเสียงธุรกิจเป็นที่รู้จักและ Performance  ด้านการเข้าตลาดหุ้นเรียกนักลงทุนได้จำนวนมาก

       จากการระดมทุน 20,000 ล้านบาท ราคาเสนอขายไอพีโอที่ 40.00 บาทต่อหุ้น ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และเข้าซื้อขายวันแรก 2 พ.ย. 2565  ราคาหุ้นเปิดที่ 36.75 บาท ลงไปทำราคาต่ำสุด 36.50 บาท มีราคาสูงสุดที่ 38.00 บาท ก่อนจะมาปิดตลาดที่ 37.50 บาท

       รวมไปถึงประเด็นอ่อนไหว “บิ๊กล็อต” เทขายหุ้นวันแรก ราคาหุ้นเปิดที่ 39.75 บาท ด้วย ATO (At the Open) พบว่ามีรายการตั้งขาย (BID) จำนวนรวม 75 ล้านหุ้น เป็นปัจจัยทำให้ราคาหุ้นหลุดต่ำจอง และช่วงท้ายตลาดมีออร์เดอร์ขายล็อตใหญ่ 16 ล้านหุ้น จนราคาหุ้นลงมาปิดต่ำสุดของวัน 36.25 บาท

        จากนั้นราคาหุ้นยังไม่สามารถขึ้นไปทำราคาเหนือจองได้เลยกลายเป็นราคาเปิดซื้อขายวันแรกที่  39.75 บาทถือว่าสูงสุดในรอบ 6 เดือน ตรงข้ามกับราคาต่ำสุดที่สามารถทำนิวไลว์ได้ทุกเดือน

        โดยราคาหุ้นหลุด 30 บาท ช่วงเดือนมี.ค. 2566 ราคาลดลงจากราคาไอพีโอไปแล้ว 25 % หากแต่ราคาหุ้นยังทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ 23 บาท (2 พ.ค.2566)  เท่ากับราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปแล้ว เกือบ 43 %  ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

        อาการราคาหุ้นรินขายออกมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีปริมาณเข้ารับช้อนซื้อจนดันราคาหุ้นขึ้นไปได้ ซึ่งปัจจัยส่วนใหญ่ที่มีผลกระทบหนีไม่พ้นผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาดการณ์

        “เบทาโกร”กลับสวนทางอย่างรุนแรงด้วยผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม  113,262 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 30.87 %   จากปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 10,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  532 % จากปีก่อน และกำไรสุทธิที่  7,937 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  685 % จากปีก่อน  และจ่ายเงินปันจ่ายงวด ครึ่งปีหลัง 2565 ที่ 1.00 ต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทน 3.0%

        ปัจจัยหนุนมาจากปริมาณขายที่สูงขึ้น และการเติบโตจากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้นเทียบประกอบกับปริมาณขายที่สูงขึ้นตามแผนการขยายกำลังการผลิตของบริษัท และเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว

       จุดสำคัญอยู่ที่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ชะลอลงเป็น18.2% ลดลงจาก 21.1% จากไตรมาส 3 ปี 2565  สาเหตุตามที่ระบุจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทที่ลดลงประกอบกับราคาต้นทุนการเลี้ยงปรับสูงขึ้น กลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เริ่มมองถึงความเหมาะสมของราคาหุ้นเทียบกับแนวโน้มอนาคตที่สวนทาง

         ขณะที่ไตรมาส 1  ปี 2566 กลับเริ่มมีการคาดกำไรปกติจะชะลอลงแรง   บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า อยู่ที่ 317  ล้านบาท (ลดลงทั้ง QoQ และ YoY) จากปัจจัยกดดันหลักคือราคาขายเฉลี่ยของบริษัทที่ปรับลดลงซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณ Supply หมูในตลาดที่สูงขึ้นผลกระทบของปริมาณหมูเถื่อนที่ถูกลักลอบนำมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด

       ด้านต้นทุนการเลี้ยงทั้งราคากากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นกดดันอัตรากำไรขั้นต้นเช่นกัน คาด  GPM ชะลอลงอยู่ที่เพียง12.3 % เป็นที่มาในการปรับลดประมาณการณ์กำไรลงปี 2566-2567  ถึง 30 % และ 21 %

      เมื่อประเมินด้านพื้นฐานแล้วเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิด แรงเทขายกดราคาลงมาอย่างต่อเนื่อง   และด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้ “แรงรับซื้อ” แทบจะไม่มี

       รวมไปถึงความกังขาว่าระดับความเหมาะสมของการตั้งราคาหุ้นไอพีโอกับธุรกิจถึงสวนทางได้สูงขนาดนี้  เป็นการดึงค่าพรีเมี่ยมเกินจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นหุ้นเล็กมาร์เก็ตแคปไม่ใหญ่แทบจะไร้ข้อสงสัยแต่ด้วยหุ้นใหญ่มาร์เก็ตแคปหมื่นล้านบาท กลับสร้างความผิดหวังนักลงทุนทันที