PTTEP เผยไตรมาส 1/66 กำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้าน โต 83%

PTTEP เผยไตรมาส 1/66 กำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้าน โต 83%

PTTEP เผยไตรมาส 1 ปี 66 กำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้าน เติบโต 83% รับรายได้การขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันลดลง

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 19,281.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.3% จากงวดเดียวกันปี 65 ที่มีกำไร 10,519.02 ล้านบาท

โดยมีผลประกอบการเป็นเงินดอลลาร์ว่า บริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 569 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 251 ล้านดอลลาร์ หรือ 79% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 318 ล้านดอลลาร์ โดยหลักจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น รวมถึงไตรมาส 1 ปีก่อนมีขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันจำนวนมาก

ทั้งนี้ กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 569 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นกำไรจากการดำเนินงานปกติ 592 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 22 ล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีกำไร 570 ล้านดอลลาร์ สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 163 ล้านดอลลาร์ จากปริมาณการขายเฉลี่ย ต่อวันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลง

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 163 ล้านดอลลาร์ สุทธิกับค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้น และค่าตัดจำหน่ายลดลง 25 ล้านดอลลาร์ โดยหลักจากรายการปรับปรุงทางบัญชีเมื่อสิ้นสุดสัมปทานของโครงการบงกช ขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 23 ล้านดอลลาร์ ลดลง 229 ล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีขาดทุน 252 ล้านดอลลาร์

สาเหตุหลักจากไตรมาสนี้มีกำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งรวมกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการ Mark to Market จำนวน 5 ล้านดอลลาร์) จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวลดลง ในขณะที่ไตรมาส 1 ปีก่อนรับรู้ขาดทุนที่ 240 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งรวมขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการ Mark to Market จำนวน 195 ล้านดอลลาร์) จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

บริษัทฯ ยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีสินทรัพย์รวม 25,566ล้านดอลลาร์ . (เทียบเท่า 871,771 ล้านบาท) โดยมีส่วนที่เป็นเงินสดคงเหลือ 4,242 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 144,633 ล้านบาท) มีหนี้สินรวม 11,482 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 391,531 ล้านบาท) โดยเป็ นส่วนของหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจำนวน 3,849 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 131,251 ล้านบาท)และมีส่วนของผู้ถือหุ้น รวม 14,084 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 480,240 ล้านบาท)

สำหรับในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย รอบที่ 24 จำนวน 2 แปลง คือ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งแผนการพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทน้ำมันและก๊าซฯ ของมาเลเซีย เพื่อเข้ารับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงเอสเค 325 ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถต่อยอดการเติบโตในประเทศมาเลเซียได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านความคืบหน้าในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) บริษัทได้เร่งการเจาะหลุมผลิต เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในช่วงกลางปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี และจะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ปตท.สผ. ได้หลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 จนถึงปลายไตรมาสที่ 1 นี้ จากการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P Portfolio) และกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต ได้แก่ การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

ด้านโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (Front-End Engineering and Design: FEED) โดยบริษัทคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ในครึ่งหลังปีนี้ ส่วนการพัฒนาพลังหมุนเวียนแสงอาทิตย์ของโครงการเอส 1 กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงานและสร้างการเติบโตในอนาคต ปตท.สผ. ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ โดยได้จัดตั้งหน่วยงานเทคโนโลยีและคาร์บอนโซลูชั่น เพื่อมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและไฟฟ้า ไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) รวมถึงการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (CCU) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ