จับตาลด 'ค่าไฟ' หุ้นไหนได้ประโยชน์-เสียประโยชน์?

จับตาลด 'ค่าไฟ' หุ้นไหนได้ประโยชน์-เสียประโยชน์?

ประเด็นร้อนแรงที่สุดนาทีนี้คงหนีไม่พ้น “ค่าไฟแพง” ที่กำลังส่งผลกระทบกับคนไทยทั้งชาติ หลังบิลค่าไฟงวดล่าสุดพุ่งกระฉูด!

อย่างที่แชร์กันตามโลกออนไลน์ บางบ้านค่าไฟพุ่งเกินเท่าตัว หลังปีนี้อากาศร้อนจัด หลายพื้นที่อุณหภูมิพุ่งทะลุ 40 องศาเซลเซีย ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

หนึ่งประเด็นที่ถูดพูดถึงอย่างมาก คือ ทำไมใช้ไฟ้เท่าเดิม แต่ค่าไฟกลับเพิ่มขึ้น? ซึ่งเรื่องนี้การไฟฟ้าฯ ออกมาชี้แจงว่าเป็นผลจากสภาพอากาศ เพราะเมื่ออากาศร้อนขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องทำงานหนักขึ้น กินไฟมากขึ้น 

เช่น เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% พร้อมยืนยันว่าการไฟฟ้าฯ ยังคิดค่าไฟในอัตราเดิม ไม่ได้แอบขึ้นค่าไฟตามที่ลือกันอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ต้องไปลืมว่าเดือนหน้า พ.ค. ค่าไฟจะขึ้นแล้ว ตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เคาะราคาค่าไฟงวดที่ 2 ของปี (พ.ค.-ส.ค. 2566) ที่ 4.77 บาท/หน่วย โดยให้ใช้อัตราเดียวกันทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

จากงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 2566) ที่ภาคครัวเรือนจ่ายค่าไฟ 4.72 บาท/หน่วย และภาคธุรกิจ 5.33 บาท/หน่วย เท่ากับว่างวดที่จะถึงนี้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น 0.05 บาท/หน่วย สวนทางกับภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ค่าไฟถูกลง 0.56 บาท/หน่วย

เมื่อมติออกมาแบบนี้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านตามมาทันทีว่าทำไมรัฐถึงเลือกอุ้มแต่เอกชน และปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงาน ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อยู่ในช่วงขาลง แต่ทำไมค่าไฟกลับแพงขึ้น ดูแล้วมันย้อนแย้งกันเหลือเกิน!

ขณะที่ในฝั่งของภาคเอกชนก็ไม่อยากตกเป็นจำเลยของสังคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเรียกร้องให้รัฐทบทวนค่าไฟ โดยประเมินว่าค่าไฟงวดใหม่ควรต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วย หรืออย่างน้อยภาคครัวเรือนควรจ่ายไฟในอัตราเดิม

แม้หลายฝ่ายพยายามออกมาเคลื่อนไหว แต่ที่ผ่านมา กกพ. ยืนยันหนักแน่นให้คิดค่าไฟตามเดิม แต่เมื่อเสียงบ่นเริ่มดังขึ้น แถมพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาโหมนโยบายว่าจะลดค่าไฟทันที หากได้เป็นรัฐบาล จึงเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมรัฐบาลปัจจุบันถึงไม่ยอมลดค่าไฟ และยิ่งมาเห็นบิลค่าไฟเดือนล่าสุดที่พุ่งสูงปรี๊ด! ยิ่งทำให้กระแสความไม่พอใจมากขึ้นไปอีก

ล่าสุด กกพ. ฝืนแรงต้านไม่ไว้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 เม.ย.) อนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft ) มีมติปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. เหลือ 4.70 บาท/หน่วย จากมติเดิมที่ 4.77 บาท/หน่วย หรือ ลดลง 0.07 บาท/หน่วย หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน

จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 24 เม.ย. นี้ เพื่อมีมติเปิดรับฟังความเห็น 5-7 วัน และเสนอให้บอร์ดกกพ.พิจารณาเคาะราคาและประกาศใช้ต่อไป

จับตาลด \'ค่าไฟ\' หุ้นไหนได้ประโยชน์-เสียประโยชน์?

ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หากมีการปรับลดค่า Ft และลดค่าไฟเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เหลือ 4.70 บาท/หน่วย จากเดิมที่ประกาศไว้ที่ 4.77 บาท/หน่วย จะเป็น Sentiment เชิงลบเล็กน้อยต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น BGRIM, GPSC, GULF เพราะอาจทำให้รายได้ที่อิงกับค่า Ft ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการประกาศค่า Ft เดือน พ.ค.-ส.ค. ในรอบก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม และรอการประกาศใช้จริงจาก กกพ. อย่างเป็นทางการก่อน

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การปรับลดค่าไฟจะเป็น Sentiment เชิงลบต่อโรงไฟฟ้า SPP แต่เป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม เช่น CPALL, MAKRO, BJC, CRC, ILM, MINT เป็นต้น