‘หุ้นยุโรป’ ฟื้นจากภาวะร่วงหนัก หลังสถานการณ์แบงก์ดีขึ้น

‘หุ้นยุโรป’ ฟื้นจากภาวะร่วงหนัก หลังสถานการณ์แบงก์ดีขึ้น

ดัชนี “Stoxx Europe 600” บวก 1.92% และหุ้นธนาคารดอยช์ แบงก์ ในตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวสูงขึ้น 2.41% กูรูชี้ผลจากสถานการณ์แบงก์เริ่มดีขึ้น รวมทั้งนักลงทุนมองบวกเกี่ยวกับท่าทีของหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐต่อภาคการเงิน

หุ้นยุโรปปรับตัวเคลื่อนไหวในแดนบวกหลังจากย่อตัวลงอย่างร้อนแรงเมื่อวันศุกร์ (24 มี.ค.) ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนมองบวกเกี่ยวกับถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อระบบโครงสร้างการเงิน และการรับประกันเงินฝากสำหรับประชาชนบางรายโดยวันนี้ (27 มี.ค.) ดัชนี “Stoxx Europe 600” ปรับตัวสูงขึ้น 0.83 จุด หรือ 1.92% เมื่อเวลา 14.40 น. มาอยู่ที่ 44.01 จุด







 

ทั้งนี้ หน้าหุ้นในกลุ่มธนาคารของยุโรปต่างก็เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกเช่นกัน รวมทั้งหุ้นธนาคารดอยช์ แบงก์ (Deutsche Bank AG) ในตลาดหุ้นลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปรับตัวสูงขึ้น 0.22 ยูโร (ประมาณ 8.14 บาท) หรือ 2.41% มาอยู่ที่ 8.70 ยูโร (ประมาณ 321.58 บาท) หลังจากปรับตัวลงอย่างหนักในวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจาก Sentiment เชิงลบของนักลงทุน

บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า สาเหตุที่ทำให้หุ้นยุโรปปรับตัวดีขึ้นเป็นเพราะถ้อยแถลงของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ระบุว่า “แม้ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐจำนวนหนึ่งจะอยู่ท่ามกลางความตึงเครียด ทว่าระบบการเงินสหรัฐในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาว่าจะรับประกันเงินฝากของประชาชนบางส่วนอย่างเต็มที่”

ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวในวันเดียวกันว่า เขามั่นใจว่าภาพรวมธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และไม่มีแนวโน้มเกิดวิกฤติทางการเงินใดๆ อีกในอนาคต

ทั้งนี้ แนวโน้มหุ้นยุโรปตลอดเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในขาลง และหลายฝ่ายต่างมองว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เดือนมี.ค.2566 ถือเป็น “เดือนที่เลวร้ายที่สุดของดัชนีฯ” ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับภาคธนาคาร และการเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ขณะที่บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า แม้จะเกิดความปั่นป่วนในภาคการเงินช่วงที่ผ่านทั้งในสหรัฐและยุโรป เริ่มตั้งแต่การล่มสลายของธนาคารซิลเวอร์เกต แคปปิตอล (Silvergate Capital) ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ยาวไปจนถึงธนาคารดอยช์ แบงก์ในช่วงที่ผ่านมา ทว่าด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ต่างยังคงมุ่งหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างแข็งขัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์