2 บริษัทยักษ์การเงินจีน ฟ้องกันนัวเหตุชิงตัวคนเก่งรู้กลยุทธ์สร้างกำไร 

2 บริษัทยักษ์การเงินจีน ฟ้องกันนัวเหตุชิงตัวคนเก่งรู้กลยุทธ์สร้างกำไร 

‘Ruitian Investment LLC’ ฟ้อง ‘High-Flyer Asset Management’ เหตุจ้างพนักงานที่รู้กลยุทธ์บริหารกองทุนของ Ruitian ที่เคยทำผลตอบแทนได้ 500% ต่อปี ด้านศาลเมืองเซี่ยงไฮ้ชี้ High-Flyer ไม่ผิดเพราะพนักงานคนนั้นหมดสัญญา ‘ไม่ทำงานกับคู่แข่ง’ แล้ว

Key Points 

  • ‘Ruitian Investment LLC’ บริษัทให้บริการเฮดจ์ฟันด์ชั้นนำของจีนฟ้อง ‘High-Flyer Asset Management’ อีกหนึ่งบริษัทให้บริการด้านสินทรัพย์ลำดับต้นสัญชาติจีน
  • Ruitian อ้างว่า บริษัท High-Flyer จ้างพนักงานที่เคยร่วมงานกับ Ruitianและพนักงานคนดังกล่าวรู้ความลับเกี่ยวกับกลยุทธ์การบริหารกองทุนของบริษัทฯ ที่สร้างผลตอบแทนสูง
  • ศาลในเมืองเซี่ยงไฮ้ ชี้ High-Flyer ไม่ผิดเพราะพนักงานคนดังกล่าวหมด‘สัญญาไม่ทำงานกับคู่แข่ง’ ของ Ruitian แล้ว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (7 มี.ค.) ว่า ‘Ruitian Investment LLC’ เฮดจ์ฟันด์ชั้นนำในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนฟ้อง ‘High-Flyer Asset Management’ บริษัทให้บริการด้านสินทรัพย์ลำดับต้นในมนฑลเจ้อเจียง พร้อมอ้างว่าบริษัท High-Flyer ‘ละเมิดความลับทางเทคโนโลยี’ 

ก่อนหน้านั้น หยาง ยุนห่าว ทำงานในบริษัท Ruitian ในฐานะผู้นำในการพัฒนากลยุทธ์การส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูงหรือ ‘High Frequency Trading’ (HFT) จากนั้นจึงย้ายไปร่วมงานกับ High-Flyer โดย หยาง เป็นจำเลยของคดีครั้งนี้

นักวิเคราะห์มองว่าการฟ้องร้องคดีระหว่างสองเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ของจีนชี้ชัดถึงการแข่งขันที่ร้อนแรงระหว่างอุตสาหกรรมผู้ให้บริการด้านกองทุนในจีน จนเป็นประเด็นให้ประชาชนหันมาสนใจอุตสาหกรรมนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายบริษัทเร่งปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์การบริหารกองทุนจากการที่ตลาดขยายตัวอย่างมากช่วงที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านั้นย่อตัวลงจากความผันผวนของตลาด (Choppy Markets) 

High-Flyer ซึ่งบริหารกองทุนมูลค่ากว่า 60 พันล้านหยวน หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท กล่าวว่า กระบวนการว่าจ้างของบริษัทฯ มีความ ‘รอบคอบ’ และเป็นไปตาม ‘ข้อกําหนดกฎหมาย’ อย่างเคร่งครัด โดยบริษัทฯ​ จะรับพนักงานที่สัญญาไม่ทำงานให้คู่แข่ง (Non-Compete Obligations) สิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น 

“ทั้งนี้ คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่ในหมวดการฟ้องร้องครั้งนี้กำลังอยู่ในกระบวนการของศาล โดยเรายืนยันว่าการฟ้องร้องนี้ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินงานของบริษัท”

เอริค จู หัวหน้าฝ่ายบริการทางการเงินที่ Morgan McKinley บริษัทให้คำปรึกษาด้านการรับบุคคลเข้าทำงาน สัญชาติจจีน กล่าวว่า แต่ละบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับกองทุนควอนต์แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงพนักงานแบบร้อนแรงมาก และบริษัทเหล่านั้นก็ใช้ ‘สัญญาไม่ทำงานให้คู่แข่ง’ เป็นเครื่องมือในการปกป้องบริษัทของตัวเอง 

“สถานการณ์ในอุตสาหกรรมนี้เป็นเช่นนี้มานานแล้ว เหมือนกับว่าความสามารถเป็นทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียนเลยในธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับกองทุนควอนต์ เพราะทุกคนต้องลงนามในสัญญาไม่ทำงานกับคู่แข่งตามระยะเวลาที่กำหนด”

Ruitian ระบุว่า หยาง ยุนห่าว รับรู้โคดกลยุทธ์เชิงปริมาณ หรือ ‘Quantitative Strategy Codes’ ของบริษัท ซึ่งเทียบเท่าได้กับการรับรู้ความลับทางการค้าชิ้นสำคัญ โดยนอกจากการดำเนินคดีในชั้นศาลแล้ว หยางต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวน 5 ล้านหยวน หรือประมาณ 25 ล้านบาท จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ด้าน High-Flyer เป็นกองทุน ‘Private Quant Fund’ ที่ใหญ่ที่สุดในปี 2562 ด้วยเงินทุนประมาณ 9 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และปัจจุบันยังเป็นผู้เล่นในลำดับต้นๆ แม้จำนวนสินทรัพย์จะลดลงไปกว่า 6 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ก็ตาม 

ในปี 2564 High-Flyer สร้างคณะทำงานด้านการลงทุนและวิจัยขึ้นมากว่า 160 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยลำดับต้นของโลก รวมทั้งนักวิจัยอาวุโสจากบริษัทเฮดจ์ฟันด์ชั้นนำของโลก แม้ในปี 2564 จะไม่สามารถทำกำไรได้ก็ตาม

สำหรับการฟ้องร้องคดีครั้งนี้ ศาลในเมืองเซี่ยงไฮ้ตัดสินว่า หยาง ยุนห่าว ไม่ได้ละเมิดข้อตกลงไม่ทำงานให้คู่แข่งเป็นเวลาหนึ่งปี พร้อมสั่งให้ Ruitian จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 3.45 ล้านหยวน หรือประมาณ 17.25 ล้านบาทต่อจำเลย 

อนึ่ง High-Flyer ปฏิเสธการขอสัมภาษณ์ ในขณะที่ Ruitian ไม่ตอบอีเมลและโทรศัพท์จากบลูมเบิร์ก

กลยุทธ์ที่นำไปสู่ ‘การชนะตลาด’

หากย้อนกลับไปปี 2557 กลยุทธ์การส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูงหรือ HFT  ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท Ruitian ใช้ได้ผลจนได้รับผลตอบแทนพุ่ง 500% ต่อปี และบริษัทฯ พยายามพัฒนากลยุทธ์ดังกล่าวให้มีความถี่สูงมากขึ้น ผ่านการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการเป็นมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทดูแลสินทรัพย์ระหว่าง 5 พันล้านหยวน ถึง 1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ถึง 5 หมื่นล้านบาท

ในปี 2564 ผู้เล่นชั้นนําของอุตสาหกรรมดังกล่าวหลายราย รวมถึง High-Flyerตัดสินใจหยุดรับเงินก้อนใหม่เข้ากองทุนชั่วคราว หลังจากเพอร์ฟอร์แมนซ์ในภาพรวมของอุตสาหกรรมย่อตัวลง และบริษัทส่วนหนึ่งเปิดให้นักลงทุนของซื้อบริการครั้งหลังผลการดำเนินงานกลับมามีเสถียรภาพ และบริษัทมีกลยุทธ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น