‘อินเดีย’โต้กลับ ‘โซรอส’ หลังวิจารณ์ ‘โมดี’ ไม่เป็นประชาธิปไตย-หนุนอดานิ

‘อินเดีย’โต้กลับ ‘โซรอส’ หลังวิจารณ์ ‘โมดี’ ไม่เป็นประชาธิปไตย-หนุนอดานิ

จอร์จ โซรอสชี้วิกฤตอดานิสั่นคลอนที่นั่งนายกรัฐมนตรีของนเรนทรา โมดีแน่นอน ระบุโมดีไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย ด้านกระทรวงต่างประเทศโต้ เป็นทัศนคติของพวกคนขาว

Key Points

  • จอร์จ โซรอส วิจารณ์ว่าวิกฤตอดานิจะกระทบต่อที่นั่งนายกรัฐมนตรีของนเรนทรา โมดี รวมทั้งชี้ว่าโมดีไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียระบุว่าความเห็นโซรอสเป็นทัศนคติทั่วไปของพวกคนขาว ชี้รู้ว่าอันตรายจากการที่คนนอกมายุ่งกับกิจการภายในประเทศคืออะไร
  • นักวิชาการระบุ ‘โมดี’ และ ‘อดานิ’ สนิทกันจริง และยากที่โมดีจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว 

จอร์ส โซรอส เจ้าพ่อนักลงทุนระดับตำนานชาวอเมริกัน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤต อดานิกรุ๊ป ต่อประเทศอินเดียในการประชุม ‘Munich Security Conference’ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า โกตัม อดานิ เจ้าของอดานิ กรุ๊ป และนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาเป็นเวลานาน และทั้งสองต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยวิกฤตครั้งนี้อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือและโอกาสในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของโมดี

 

อ่านเพิ่มเติม

โซรอสกล่าวต่อว่า ท้ายที่สุดวิกฤตครั้งนี้อาจนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันต่างๆ ของอินเดียให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง “อินเดียเคยเป็นประชาธิปไตยนะ แต่โมดีไม่เคยเป็นแม้แต่น้อย”

หลังจากนั้น สุพรหมณยัม ชัยศัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียโต้กลับผ่านการประชุม ‘Climate Change and Energy of Australia’ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ว่า “สิ่งที่โซรอสพูดก็เป็นมุมมองปกติของกลุ่มคนยูโร-แอตแลนติก” พร้อมทั้งปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของฮินเดน เบิร์กรีเสิร์ช บริษัทวิจัยเพื่อการลงทุนสัญชาติอเมริกัน

สุพรหมณยัม กล่าวเสริมว่า “ทุกวันนี้ยังมีหลายคนบนโลกที่เชื่อว่านิยาม วิธีคิด และมุมมองของพวกเขานั้นต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนสมาทานไปใช้”

‘อินเดีย’โต้กลับ ‘โซรอส’ หลังวิจารณ์ ‘โมดี’ ไม่เป็นประชาธิปไตย-หนุนอดานิ

“ผมมองว่าเรายังต้องสร้างบทสนทนาขึ้นมาในสังคมนี้อีกมาก รวมถึงบทสนทนาที่ว่าใครเป็นผู้นิยามว่าหน้าตาประชาธิปไตยควรเป็นแบบใด ท่ามกลางขั้วอำนาจของโลกที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป และทั้งโลกก็ค่อยๆ พึ่งพิงความเป็นยูโร-แอตแลนติกน้อยลงทุกที”

สุพรหมณยัมกล่าวถึงโซรอสว่า “เขาแก่ รวย มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง และอันตราย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อคนประเภทนี้ ซึ่งมีมุมมองแบบนี้ และบริหารองค์กรเช่นนี้ เขาล้วนทำทุกวิถีทาง ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อสร้างเรื่องเล่าของตัวเองขึ้นมา และกอบโกยประโยชน์จากมัน”

“คำกล่าวของโซรอสค่อนข้างทำให้เรากังวล เพราะอินเดียเป็นประเทศที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษมา เรารู้ดีว่าอันตรายจากการที่มีคนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของเรามันเป็นอย่างไร”

“ดังนั้นเมื่อถึงเวลา ก็ปล่อยประชาชนชาวอินเดียผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินเองว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป”

 

 ไฟลามทุ่งจากวิกฤตอดานิสู่ความสั่นคลอนของพรรครัฐบาล

ปัจจุบัน พรรคการเมืองฝ่ายค้านของอินเดียยังยึดรายงานของฮินเดนเบิร์ก รีเสิรช ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ม.ค.เพื่อใช้โจมตีโมดีและพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล หวังลดคะแนนนิยม ท่ามกลางการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในปีหน้า โดยพรรคฝ่ายค้านได้จัดการประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาให้ตรวจสอบอดานิ กรุ๊ป ว่ามีความผิดตามที่ฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ชระบุหรือไม่

อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองฝ่ายค้านระบุไม่ขอเข้ามายุ่งกับถ้อยแถลงของโซรอส

ด้าน ไจรัม ราเมช์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือนำความคิดเห็นของโซรอสเข้ามาเป็นประเด็นเลย เรื่องที่ว่านายกฯ จะมีความเกี่ยวข้องกับโกตัม อดานิหรือไม่นั้นล้วนเป็นหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านและกระบวนการเลือกตั้งภายใต้หลักการประชาธิปไตยทั้งสิ้น”

นักวิเคราะห์แหล่งข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า หากพิจารณาในทางการเมืองแล้วประเด็นดังกล่าวค่อนข้างยากที่จะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ อดานิ โมดี หรือแม้กระทั่งต่อพรรคภารตียชนตา (BJP) พรรครัฐบาล

อย่างไรก็ตาม อโชก สเวน หัวหน้าภาควิชาการวิจัยด้านสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโมดีและอดานิค่อนข้างแน่นแฟ้น “ดังนั้นอาจเป็นเรื่องยากของพรรคบีเจพีและตัวนายกรัฐมนตรีเองที่จะหาทางหลุดออกจากวิกฤตความเชื่อมั่นอดานิในครั้งนี้ได้โดยไม่เจ็บตัว”