‘หุ้นจีน’ พุ่งแรงสารพัดปัจจัยหนุน 9 วันต่างชาติซื้อกว่า 9.5 พันล้านดอลล์

‘หุ้นจีน’ พุ่งแรงสารพัดปัจจัยหนุน 9 วันต่างชาติซื้อกว่า 9.5 พันล้านดอลล์

ทุนต่างชาติไหลกลับ ‘หุ้นจีน’ หลังดัชนีหุ้นส่งสัญญาณฟื้นตัว โดย CSI300 พุ่งขึ้น 16% จากจุดต่ำสุด ส่วนดัชนีฮั่งเส็งพุ่งแรงกว่า 48% จากสารพัดปัจจัยหนุด ด้านนักเศรษฐศาสาตร์ DBS เตือนยังมีเรื่องที่ต้องจับตาดูอีกมาก

Key Points:

  • เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นจีนในช่วง 9 วันแรกของการซื้อขายในปี 2566 คิดเป็นเงินกว่า 9,500 ล้านดอลลาร์
  •  สถานการณ์กลับมาเป็นบวกมาขึ้นหลังจีนเปิดประเทศในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลจีนที่เป็นมิตรกับกลุ่มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Alibaba Group มากขึ้น
  • ดัชนี CSI 300 ของจีนพุ่งขึ้น 16% ส่วน Hang Seng ฮ่องกง ขยับขึ้น 48% นับตั้งแต่ทั้งสองดัชนีทำจุดต่ำสุดในปี 2565
  • หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคาร DBS สัญชาติสิงคโปร์ ชี้ ตลาดหุ้นจีนช่วงนี้ยังมีสิ่งที่ต้องศึกษาอีกมากมาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจเข้ามาฉุดรั้งราคาหุ้นได้ในอนาคต

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ในช่วง 9 วันแรกของการซื้อขายในตลาดหุ้นจีน นับตั้งแต่ช่วงปีใหม่ นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นจีนสุทธิ 6,4000 ล้านหยวน (9,500 ล้านดอลลาร์) ผ่านการซื้อขายหุ้นที่เชื่อมโยงระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะฮ่องกง ในขณะที่ปี 2565 ตัวเลขการซื้อขายดังกล่าวมีมูลค่าสุทธิทั้งปีเพียง 90,000 ล้านหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2560

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากยังคงกังวลเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจของจีน แต่บ้างก็มองในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นักลงทุนจำนวนหนึ่งได้ยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มาขาย(ชอร์ตเซลล์) หรือบางคนก็ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนลง (underweight) เนื่องจากดัชนีหุ้นจีนดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ที่พวกเขาใช้เพื่อวัดประสิทธิภาพหุ้น

เจี้ยน ซื่อ คอร์เตซี (Jian Shi Cortesi) ผู้จัดการกองทุนมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ของ GAM Investment บริษัทบริหารสินทรัพย์จากเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำการค้ากับประเทศจีน กล่าวว่า “ตอนนี้อาจไม่สามารถฟันธงได้ว่า Sentiment ของนักลงทุนกลับมาเป็นเหมือนก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วหรือยัง”

เธอกล่าวต่อว่า “ขณะนี้ตลาดหุ้นจีนยังมีสัญญาณของการลดน้ำหนักการลงทุนจำนวนมากออกไปอย่างเงียบ ๆ (Quite Significant Underweight) แต่ในช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ถ้าคุณลดน้ำหนักการลงทุน คุณลำบากแน่" 

โดยเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา โกลด์แมน แซคส์ รายงานว่า การจัดสรรกองทุนรวมทั่วโลกของจีนที่มีสินทรัพย์ 8 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 4.1%

หากย้อนกลับไป Sentiment ของประชาชนและนักลงทุนเริ่มเป็นลบมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) แต่งตั้งตัวเองให้สามารถอยู่ในตำแหน่งได้เป็นสมัยที่สาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น จากเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติในจีนลดลงต่ำกว่า 4% เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้นทั้งหมด ต่อมา Sentiment ของนักลงทุนเริ่มกลับมาเป็นบวกหลังจากข่าวการกลับมาเปิดประเทศเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับท่าทีของทางการที่เป็นมิตรต่อกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่าง Alibaba Group มากขึ้น

ขณะนี้ ดัชนี CSI 300 ของจีน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 16% นับตั้งแต่ระดับต่ำสุดที่ 3541.33 จุด หรือลดลง 40% ในปลายเดือนตุลาคม ปี 2565 ส่วนดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง ซึ่งลดลง 58% ในช่วงปีที่ผ่านมา ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น 48% นับตั้งแต่แตะจุดต่ำสุดในปี 2565 เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย ระบุว่า มีสัญญาณของการละลายในตลาดหุ้น (A Thaw in the Market) สำหรับการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในฮ่องกง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่บริษัทจีนจำนวนมากมักเข้าไปจดทะเบียน โดยบริษัท 4 แห่งจากทั้งหมด 6 แห่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ดำเนินกิจการในฮ่องกงประกาศเปิด IPO ไปแล้ว ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัททั้ง 4 ต้องการระดมทุนรวมเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีประชาชนจองซื้อเกินจำนวน

โรเบิร์ต บัคแลนด์ (Robert Buckland) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของตราสารทุนทั่วโลกจาก Citi Investment Research กล่าวในการเสวนาออนไลน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า “ลูกค้าของ Citi จำนวนหนึ่งเริ่มกังวลน้อยลงแล้วว่าตลาดหุ้นจีนอาจกลายเป็นตลาดที่ลงทุนไม่ได้ (An Uninvestable Market) โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนตอนนี้ไม่ใช่การปรับตัวแบบ U-turn จากวิกฤติโควิด-19 แต่เป็นแบบ V-turn ต่างหาก และแม้ผมจะไม่ค่อยมั่นใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในระยะ 6 เดือนนี้เราไม่ควรเข้าไปซื้อสินทรัพย์ใด ๆ ในจีนเลย”

นิโคลัส โยว (Nicholas Yeo) หัวหน้าแผนกตราสารทุนของ Abrdn แพลตฟอร์มการเทรดหุ้นออนไลน์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น แต่นักลงทุนยังมีคำถามเกี่ยวการฟื้นตัวของตลาดหุ้นดังกล่าวอยู่ รวมถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย มากไปกว่านั้น นักลงทุนที่สูญเสียเงินมหาศาลจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็กังวลว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียอาจสร้างผลกระทบเช่นเดียวกันกับเม็ดเงินลงทุนของเขาได้เช่นกัน

ฮูกส์ ริอาลัน (Hugues Rialan) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุน และหัวหน้าฝ่ายจัดการพอร์ตลงทุนตามดุลยพินิจสำหรับเอเชีย (Discretionary Portfolio Management) ที่ Pictet Wealth Management กล่าวว่า บริษัทฯ จะยังไม่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้พอร์ต แม้ว่าตลาดจีนจะมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดมากกว่าตลาดหลักอื่น ๆ ในปีนี้ ก็ตาม

“ผมมองว่าขาแรกของการฟื้นตัวในตลาดหุ้นจีนนั้นนำโดยนักลงทุนที่กลับมาลงทุนตามตลาดหมี (Bearish bets) ส่วนนักลงทุนระยะยาวจะค่อย ๆ กลับเข้ามาในอนาคต”

ด้าน คริส เหลียง (Chris Leung) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคาร DBS สัญชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า เส้นทางในการฟื้นตัวของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจจีนยังมีสิ่งที่ต้องค่อย ๆ ศึกษาอีกมากมาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจเข้ามาฉุดรั้งราคาหุ้นได้ในอนาคตด้วย

ขณะที่รายงานการวิจัยจากธนาคารในกลุ่ม ANZ ซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ ระบุว่า การเปิดเมืองครั้งนี้ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มรับความเสี่ยงได้น้อยหันมาใช้เงินฝากธนาคารมากขึ้น และจากข้อมูลพบว่าเงินฝากจากกลุ่มธนาคารดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นราว 7 ล้านล้านหยวน ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดประเทศ

ทั้งนี้ จากการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยยอดนิยม ในทางกลับกันประชาชนจากฮ่องกงกว่า 32,000 คนก็เดินทางเข้าประเทศจีนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เหลียง ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้อาจยังไม่สามารถใช้การดีดตัวกลับของหุ้นอย่างรวดเร็วครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดอัตราเร็วของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจได้ ต้องรอพิจารณาปัจจัยเสริมอื่น ๆ ต่อไป