CPF จะไม่ทน! ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ลุย "ซื้อหุ้นคืน" ตลอดช่วงโควิด

CPF จะไม่ทน! ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ลุย "ซื้อหุ้นคืน" ตลอดช่วงโควิด

หลังปล่อยให้ราคาหุ้นไหลรูดลงมาอย่างต่อเนื่อง! ในที่สุดบอร์ดบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ประกาศทุ่มเงิน 5 พันล้านบาท เดินหน้าซื้อหุ้นคืน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หรือ คิดเป็น 2.32% ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด

โดยจะดำเนินการซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 2565-18 มิ.ย. 2566 ระยะเวลารวมทั้งหมด 6 เดือน ซึ่งราคาที่จะซื้อเกินจะไม่เกินกว่า 115% ของราคาปิดของหุ้นเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายก่อนหน้าวันที่ทำการซื้อหุ้นคืน ทั้งนี้ ย้อนไปดูราคาปิดเฉลี่ยของหุ้น CPF 30 วันทำการ ตั้งแต่ 31 ต.ค.-13 ธ.ค. 2565 จะอยู่ที่ 24.36 บาทต่อหุ้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทตัดสินใจประกาศซื้อหุ้นคืน เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี (Book Value) ขณะเดียวกันการซื้อหุ้นคืนจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากช่วยทำให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และกำไรต่อหุ้น (EPS) สูงขึ้น

ขณะที่ราคาหุ้น CPF ปิดการซื้อขาย ณ วันที่ 14 ธ.ค. ก่อนที่จะประกาศแผนซื้อหุ้นคืนที่ 23.80 บาท โดยปรับตัวลดลง 6.67% YTD และซื้อขายที่ระดับ P/E 10.60 เท่า และ P/BV 0.78 เท่า

ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ซื้อหุ้นคืนนั้นบริษัทยืนยันว่ามีเพียงพอ โดยบริษัทมีเงินสดคงเหลือ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 จำนวน 2,229 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยในไตรมาส 4 ปี 2565 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เข้ามาอีก 9,500 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 6 เดือนข้างหน้านับแต่วันที่ซื้อหุ้นคืนและมีเงินสดคงเหลือเพียงพอต่อการซื้อหุ้นคืนตามโครงการ

ถ้าใครติดตาม CPF มาโดยตลอด จะเห็นว่า “การซื้อหุ้นคืน” เป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่บริษัทนำมาใช้เพื่อดูแลราคาหุ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ และสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักให้กับตลาดหุ้นไทย

โดยตั้งแต่เกิดโรคระบาด CPF ได้ประกาศซื้อหุ้นคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 จำนวน 400 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็น 4.65% ของจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ด้วยวงเงินรวมทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท เริ่มคิกออฟโครงการตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2563

เนื่องจากช่วงนั้นราคาหุ้น CPF ดิ่งหนักสุดในรอบ 4 ปี ราคาหุ้นหลุดแนวรับสำคัญ 20 บาท ลงไปทำจุดต่ำสุด 18.70 บาท ในวันเดียวกับที่บอร์ดตัดสินใจให้ซื้อหุ้นคืน

ปรากฏว่าหลังสิ้นสุดโครงการ บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนไปได้ทั้งหมด 197,673,800 หุ้น หรือ 2.30% ของจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว โดยใช้เงินไปกว่า 6,084 ล้านบาท และถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะตั้งแต่มีข่าวว่าบอร์ดอนุมัติให้ซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาต่อเนื่อง จนไปทำจุดสูงสุดที่ 35.25 บาท เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 และเมื่อสิ้นสุดโครงการราคาหุ้นไปอยู่ที่ 28 บาท

CPF จะไม่ทน! ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ลุย "ซื้อหุ้นคืน" ตลอดช่วงโควิด

ส่วนรอบต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 บอร์ดให้ซื้อหุ้นคืนอีก 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ 15 ต.ค. 2564 - 14 เม.ย. 2565 แต่ดูเหมือนว่ารอบนี้อาจไม่หวือหวาเท่ากับรอบแรก เนื่องจากราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ในช่วง 25.75 – 23.50 บาท

และล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปีที่บริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน แต่วงเงินลดลงไปครึ่งหนึ่งจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องมารอติดตามดูว่ารอบนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน? 

โดยบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” CPF ให้ราคาเป้าหมาย 33.00 บาท หลังบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนวงเงิน 5 พันล้านบาท โดย CPF ระบุว่ามีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นอยู่ที่ 30.65 บาท แม้ช่วงนี้ราคาเนื้อสัตว์จะปรับตัวลดลงและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกดดันราคาหุ้น แต่ฝ่ายวิจัยมองว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว และมองว่าโครงการซื้อหุ้นคืนจะช่วยจำกัด Downside Risk ของราคาหุ้นได้