ความเสี่ยงเริ่มจำกัด

ความเสี่ยงเริ่มจำกัด

ภาวะการลงทุนเดือนต.ค. ถือได้ว่าเป็นภาพต่อเนื่องแบบต่อติดกันเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นพัฒนาการของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์และนโยบายของผู้ดูแลระบบการเงิน ในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีมุมมองค่อนข้างแข็ง

รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างเข้มงวด ส่งผลทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลงมาระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายลงแต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะท่ามกลางความสงบก็ยังคงมีกระแสที่รุนแรงอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม รัสเซีย ยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ต่อไปนี้ เรามาลองดูกันทีละประเด็นว่ามุมมองของนักลงทุนและของผมเองที่มีต่อประเด็นดังกล่าวจะเป็นอย่างไร

เรามาเริ่มที่เรื่องสงคราม รัสเซีย ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะพลังงาน ต่างก็ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงันกันไปช่วงหนึ่ง และถึงแม้ว่าจะมีการขู่ที่จะใช้อาวุธที่ร้ายแรงขึ้น แต่ที่ผ่านมาการรบยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจน้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 

ตอนนี้นักลงทุนต่างก็เริ่มมองว่าไม่น่าจะมีนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ ทำให้ภาวะการลงทุนเริ่มคลายตัวและมีมุมองในเชิงบวกมากขึ้น ดูได้จากบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องของความกังวลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ณ ตอนนี้มุมมองก็เริ่มจะเปลี่ยนเล็กน้อย และปัญหาก็ถูกแบ่งออกเป็นเรื่องของภูมิภาคที่มีความต่างกัน ซึ่งทำให้เอเชีย ดูดีในแง่เป็นหลุมหลบภัย อันนี้ก็มุมมองที่เปลี่ยนไปบ้าง

ส่วนปัจจัยใหม่ที่ทำเอานักลงทุนมึนไปโดยเฉพาะในยุโรป ก็หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาทางการเงินของ Credit Suisse และรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขตลาดแรงงานและตัวเลขเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ดอกเบี้ย Fed Funds ในอนาคต โดยให้ความน่าจะเป็นที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยระดับร้อยละ 0.75 ในการประชุมต้นเดือนพ.ย.เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และผลตอบแทนพันฐบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นในช่วงแรกจนส่งกระทบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ 

 นอกนั้นก็มีเรื่องการลงมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ เป็นจำนวนมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดสูงสุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ Covid ในปี 2020 ราคาน้ำมันก็ยังอยู่ในระดับสูง และการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนที่ประเด็นที่สำคัญได้แก่การคัดค้านการให้อิสรภาพแก่ไต้หวัน และจะไม่มีการผ่อนปรนมาตรการนโยบายโควิดเป็นศูนย์ อันนี้ก็ไม่ค่อยดีกับจีน

สำหรับเดือนพ.ย. ผมมองการประชุม FOMC ในช่วงต้นเดือนวันที่ 1-2 พ.ย. มีความสำคัญน้อยลง จากการที่ตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.75 เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องติดตามถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ประธาน Fed ว่าจะออกมามีทิศทาง Dovish/Hawkishอย่างไร

 ส่วนในระหว่างเดือน คงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯกันต่อ เนื่องจากจะส่งผลต่อไปยังการคาดการณ์ Fed Funds futures ในตลาดได้ ซึ่งต้องบอกว่าในปัจจุบัน นักลงทุนยังคงมีมุมมอง 50:50 ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 กับ 0.75 ในการประชุม Fed ครั้งสุดท้ายของปีวันที่ 13-14 ธ.ค.

 ส่วนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นั้น หากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นไปตามที่โพลทุกสำนักมองไว้ว่าพรรครีพับลิกันจะสามารถกลับมายึดครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ มองจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐฯในทางบวกได้ โดยหากอ้างอิงจากสถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 1990 จะพบว่าแทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในสภาล่าง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักมีการตอบรับเชิงบวกได้ราว ร้อยละ 4 - 5 เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการเปลี่ยนขั้วจากพรรคเดโมแครตไปเป็นพรรครีพับลิกัน ซึ่งอธิบายได้ด้วยเหตุผลของความคาดหวังในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยในฝั่งของพรรครีพับลิกันนั้นอย่างที่เราทราบกันว่ามักจะออกนโยบายที่เน้นในเรื่องของการลดภาษีเป็นสำคัญ ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ตลาดหุ้นชื่นชอบอยู่แล้ว

ดังนั้นในเดือนพ.ย.ก็น่าจะเป็นเดือนที่ภาวะการลงทุนค่อนข้างดี ความเสี่ยงค่อนข้างจำกัดทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทยเพราะเรามักจะมีการพิจารณานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี ทำให้มีมุมมองเป็นบวกในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มบริโภค เรายังแนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นร้อยละ50 โดยเป็นหุ้นไทยร้อยละ20 หุ้นญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ ประเทศละร้อยละ10 ตราสารหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 20 น้ำมันทองคำและREITsประเภทละร้อยละ 10 เท่าๆกัน