นโยบายจีนหลังยุคที่ 3 “ช่วย” หรือ “กระทบ” หุ้นอิเล็กทรอนิกส์

นโยบายจีนหลังยุคที่ 3   “ช่วย” หรือ “กระทบ” หุ้นอิเล็กทรอนิกส์

สัปดาห์แห่งการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารงานของชาติที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่าง “จีน” ถูกจับตามากเป็นพิเศษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจโลก (ซีกตะวันตก) เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

           การดำเนินการค้าสหรัฐกีดกันกับจีน  และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์บนเกาะไต้หวัน ล้วนทำให้การเปิดเผยโฉมหน้าผู้นำจีนในครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากขึ้น

            ก่อนหน้านี้ นโยบาย Zero Covid   แบบไม่มีกำหนดทำให้กลายเป็นปัจจัยลบที่กระทบภาคธุรกิจจากความไม่แน่นอนว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศได้เมื่อไร  จึงทำให้ทุกครั้งที่มีการประกาศ “ล็อกดาวน์” จึงกระทบตลาดที่นำเข้า - ส่งออกไปยังตลาดจีนหลีกเลี่ยงไม่ได้

            และตามต่อด้วยการออกมา “กีดกันการค้าของสหรัฐ” คำสั่งห้ามการส่งออกสินค้าประเภทชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ไปยังจีน ระบุความปลอดภัยข้อมูลกองทัพสหรัฐ  ทำให้บริษัทของสหรัฐรวมถึงบริษัทต่างชาติที่ใช้เครื่องจักรของสหรัฐ ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จะต้องยื่นขอใบอนุญาต หากต้องการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์การประมวลผลขั้นสูง หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับจีน

            ประเด็นดังกล่าวกระทบเป็นวงกว้างทั้งจีน และไต้หวัน ส่งผลต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมชิปทั่วโลก อุตสาหกรรมที่พึ่งพาชิปจากไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันต้องพึ่งพาวัตถุในการผลิตอย่างทรายจากจีน

            ขณะเดียวกันจีนเองซึ่งเป็นผู้ผลิต แบตเตอรี่รถไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก ก็ยังต้องพึ่งพาการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจากไต้หวัน  อาจจะทำให้แผนไปตั้งโรงงานในประเทศที่สามใน สหรัฐอเมริกาเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดต้องชะลอตัวไปก่อน อย่างเช่น กรณีของ บริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนชะลอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

            ประเด็นดังกล่าวเกิดผลกระทบทางอ้อมจากความต้องการ ใช้ชิปในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีในประเทศยุโรป จีน และสหรัฐ สัญญาณของสต๊อกสินค้าที่เพิ่มขึ้น บริษัทยานยนต์ในยุโรปและบริษัทในภาคอุตสาหกรรมได้ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า ซึ่งรวมถึงบริษัท ไมครอนเทคโนโลยี และอนาล็อก ดีไวเซสที่ได้ยกเลิกคำสั่งซื้อจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง

            กลุ่มหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกมีตามสัดส่วนรายได้ไปยังประเทศจีน บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ,บริษัท เคซีอี  อีเลคโทรนิคส์  จำกัด (มหาชน) หรือ KCE   ,บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA มีสัดส่วน14% และบริษัท  เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI   จะได้รับผลกระทบตามมาอีกระลอก

            ยิ่งการประกาศรายชื่อบุคคลสำคัญในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และควบตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นไปตามคาดการณ์คือ “สี จิ้นผิง”  ที่ได้รับความไว้วางใจดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาก่อนที่จะสามารถดำรงตำแหน่งได้เกิน 2 สมัย หากแต่แฝงมาด้วยความกังวลใจต่อนโยบายในอนาคต

            ผู้บริหารอีก 6 คนถือว่าเป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ที่จะกำหนดทิศทางสังคมและเศรษฐกิจจีนจากนี้ไปอีก 5 ปีจากนี้  เป็นผู้ที่ใกล้ชิด และตอบสนองนโยบายของ “สี จิ้นผิง” มาตลอดประกอบไปด้วย

            ลำดับที่ 2  “หลี่ เฉียง” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครเซี่ยงไฮ้  ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเค้าคนนี้จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนต่อไป ต่อจาก หลี่ เค่อเฉียง ที่จะลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2566

            ลำดับที่ 3 “จ้าว เล่อจี้  “ อดีตเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลชิงไห่ และมณฑลส่านซีลำดับที่ 4  “หวัง ฮู่หนิง”  สายนักวิชาการและยังเป็นมือดีที่ปรึกษาทางการเมืองให้กับ “สี จิ้น ผิง”  ลำดับที่ 5  “ไช่ ฉี” เลขาธิการพรรคฯ ประจำกรุงปักกิ่ง รับมือกับสถานการณ์โควิด-19

            ลำดับที่ 6 “ติง เซวียเสียง”  ผู้ใกล้ชิดในฐานะเลขาของ สี จิ้นผิง ด้วยการติดตามการทำงาน ทั้งในจีนและต่างประเทศและลำดับที่ 7  “หลี่ ซี ” คณะกรรมการประจำโปลิตบูโรชุดเดิม

            ตลาดมีการคาดการณ์นโยบายเดิมยังคงดำเนินการต่อ  จนทำให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงหุ้นในตลาดจีนออกไป  แม้นโยบายจีนยุคที่ 3 (ของ สี จิ้นผิง) จะตอกย้ำความทันสมัยแบบจีน กำหนดเส้นทางของจีนสู่การฟื้นฟูประเทศ และกล่าวเน้นย้ำ “จีนที่เจริญรุ่งเรือง” จะสร้าง “โอกาสอีกมากมายให้กับโลกใบนี้”  

            ด้วยการสร้างความหวังว่าจีนผลักดันเทคโนโลยี ความทันสมัย การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณการเปิดประเทศหรือยกเลิกนโยบาย Zeo Covid ออกมาแต่อย่างใด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์