ภาวะ "Mild Recession" คืออะไร น่ากังวลแค่ไหน

เข้าสู่เดือนก.ย. และเข้าใกล้ช่วงปลายปี 2565 เศรษฐกิจก็ยังอยู่ในทิศทางของความไม่แน่นอน การต่อสู้กับเงินเฟ้อของสหรัฐ ด้วยนโยบายดอกเบี้ยเดินมาเกินครึ่งทางแล้ว แต่ยังมีความแน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง

ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ตลาดการเงิน และตลาดทุนระยะนี้ผันผวนมากขึ้น โดยนอกจากสหรัฐแล้ว ดูเหมือนยุโรปคือ อีกภูมิภาคที่กำลังเจอผลกระทบเรื่องพลังงานเพราะความขัดแย้งกับรัสเซีย รวมไปถึงจีนที่ยังคงยึดติดกับนโยบายการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จนต้องล็อกดาวน์ในเขตเมืองอีกครั้ง 

แม้เวลานี้การเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จะยังไม่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อดูจากทิศทางสินทรัพย์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเกิดอะไรขึ้น.? ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ทั้ง หุ้น ทองคำ น้ำมัน ที่ผันผวน สะท้อนให้เห็นอะไร ? และเราจะกำหนดกลยุทธ์ลงทุน ตั้งแต่เดือนก.ย. ไปถึงเข้าสู่ไตรมาส 4 อย่างไร ? 

เศรษฐกิจสหรัฐ เวลานี้ มีโอกาสที่จะเกิดภาวะที่เรียกว่า "Mild Recession" หรือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยังไม่รุนแรง แต่ทำให้สินทรัพย์เกิดความผันผวนอย่างมาก แต่เมื่อพิจารณาดูปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เช่นตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขอุตสาหกรรมการผลิต ตัวเลขการสร้างบ้าน และราคา นั้นยังไม่ได้สะท้อนถึงการถดถอยเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

แต่จากข้อมูลของ DAOL SEC พบว่า บริษัท และธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐ เริ่มเตรียมรับมือการเกิดภาวะถดถอยมากขึ้นจากการสำรองเงินสด และการลดการกู้ยืมลง ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งชะลอการเข้าลงทุนโครงการใหม่ๆ ในทางกลับกันการที่บริษัท “ถือเงินสดสำรองมากขึ้น” นั่นหมายความว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในสหรัฐ เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งสอดคล้องกับทาง DAOL SEC ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2566

 

ภาวะ "Mild Recession" เช่นนี้จะเห็นตลาดสินทรัพย์ความผันผวนสูง การคาดการณ์ปัจจัยเศรษฐกิจที่ยากขึ้น ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน อีกทั้งปัจจัยอื่นที่เข้ามาเป็นตัวแปรตลาด ทั้งเรื่องการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ช่วงปลายปี ปัญหาราคาเงินเฟ้อ และพลังงานยุโรป รวมถึงความตึงเครียดกับไต้หวันของสหรัฐ กับจีน 

ดังนั้น ภาพปัจจัยลบและความไม่แน่นอนที่กำลังกดดันการถือสินทรัพย์ต่างๆ เป็นระยะได้แก่

1.) อัตราเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เรายังไม่เห็นจุดสูงสุดว่าเป็นเมื่อใด.?

2.) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยุโรปกับรัสเซีย จะทำให้เรื่องพลังงานกระทบกับเศรษฐกิจยุโรปเพียงใดและจะจบลงเมื่อใด .?

3.) การล็อกดาวน์เมืองในจีนเพราะการระบาดโควิด-19 ในจีนจะสิ้นสุดลงเมื่อใด.?

4.) ราคาพลังงานที่สูงจะทำให้กระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจ และทำให้อัตราเงินเฟ้อไปอีกเท่าไร.?

5.) ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน จะกระทบเรื่องธุรกิจ ชิป หรือไม่.?

โดยรวมภาพของภาวะ "Mild Recession" ในสหรัฐ ทำให้สินทรัพย์มีความผันผวน แต่ยังมีปัจจัยจากภูมิภาคอื่นของโลกที่เป็นตัวแปรต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ซึ่งคาดเดาได้ยากมากว่าจะจบลงหรือคลี่คลายเมื่อใด นั่นทำให้การกำหนดกลยุทธ์ลงทุนในระยะประมาณ 3 เดือน หรือในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ คงต้องเลือกประเภทสินทรัพย์พร้อมๆ กับการจับจังหวะลงทุน

ทาง DAOL SEC แนะนำว่า การลงทุนในตลาดแบบนี้ แนะนำว่าเป็นในลักษณะจับจังหวะเข้าลงทุนเมื่อตลาดมีการปรับตัวลงมา และหาจังหวะทำกำไรเป็นระยะ เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น/QT นั้นการลงทุนควรเป็นลักษณะ “ต่อรอง” มากกว่าการซื้อแบบไล่ราคา และทยอยขายทำกำไรเมื่อตลาดขึ้นไปแรง โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่เราแนะนำคือ ไม่ควรเกิน 30-50% ของ portfolio โดยแบ่งเป็นหุ้นที่เราแนะคือ กลุ่ม Growth Stock ลงทุนประมาณไม่เกิน 2 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโอ และอีก 1 ใน 3 ควรเป็น Value หรือ Index fund 

ส่วนการกระจายการลงทุนรายประเทศ ควรกระจายสัดส่วนลงทุนในหุ้นสหรัฐ ประมาณ 20-30% ญี่ปุ่น 10% และจีน 10% พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปเนื่องจากมีโอกาสเกิด Recession แบบเต็มตัวค่อนข้างสูง ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ เราแนะนำว่าให้ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐ เป็นสัดส่วนหลัก และหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนจนตลอดจน High yield bond ในระยะสั้น ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนใน commodity และทองคำ ในระยะสั้น ในขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถเริ่มพิจารณาลงทุนสำหรับระยะยาวได้สำหรับช่วงที่เหลือของปี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์