TPL ลุยลงทุน ‘กรีนโลจิสติกส์’ เสน่ห์แรง ‘รายใหญ่’ แห่ถือหุ้นไอพีโอ

TPL ลุยลงทุน ‘กรีนโลจิสติกส์’ เสน่ห์แรง ‘รายใหญ่’ แห่ถือหุ้นไอพีโอ

"ไทยพาร์เซิล" หุ้นไอพีโอน้องใหม่ กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ โชว์ "จุดขาย" เร่งสร้างการเติบโต ด้วยการลงทุน "กรีนโลจิสติกส์" พร้อมมีนักลงทุนรายใหญ่ตบเท้าแห่ถือหุ้นเพียบ !

หากเอ่ยถึง “ธุรกิจขนส่งสินค้า” สัญญาณการเติบโตยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ! กระแสที่ยังเป็นเทรนด์ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนการทำธุรกิจอุตสาหกรรมรายใหญ่ แต่ยังช่วยขนส่งสินค้าและบริการของผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น

สารพัด “ปัจจัยบวก” ดังกล่าว กำลังส่งผลดีต่อหุ้นน้องใหม่ บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 120 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 22-23 และ 26 มิ.ย. 2566 คาดเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 30 มิ.ย. นี้

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “ตระกูลจีนะวิจารณะ” ถือหุ้นใหญ่ 36.25% กลุ่มกรรมการและผู้บริหารอย่าง “ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา” ถือหุ้น 0.27% “วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์” ถือหุ้น 0.15% และ “นิติ ปัญญาวิศิษฏ์กุล” ถือหุ้น 0.15%

รวมถึง “นักลงทุนรายใหญ่”  อย่าง บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) ถือหุ้น 26.73% “สุระ คณิตทวีกุล” ถือหุ้น 3.82% “สุธิดา มงคลสุธี” ถือหุ้น 3.34% “บัญชา พันธุมโกมล” ถือหุ้น 2.77% “พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” ถือหุ้น 1.91% “พีรเจต สุวรรณนภาศรี” ถือหุ้น 1.53% และ “นันทิวัฒน์ พงษ์เจริญ” ถือหุ้น 0.19% (ตัวเลข หลังเสนอขายหุ้น IPO)

หุ้น TPL เป็นหุ้นธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีความ “แตกต่าง” จากผู้ประกอบการทั่วไป โดยได้จัดพอร์ตลูกค้าออกเป็นสามกลุ่มคือประเภท B2B B2C และ C2C เพื่อบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ และที่ “โดดเด่น” คือ มีบริการจัดส่งสินค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก (Overweight) หรือของที่มีขนาดใหญ่ (Oversize) หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป (Odd size) ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าและสิ่งของประมาณ 350,000-600,000 ชิ้นต่อเดือน และสามารถให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและรายย่อย โดยมีจุดให้บริการ 129 แห่งทั่วประเทศทั้งในรูปแบบสาขาของบริษัทและแฟรนไชส์ของบริษัท

 

ด้วยความเชื่อมั่นในการเติบโตของธุรกิจ “ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” บอกสตอรี่ใหม่สร้างการเติบโต ว่า การเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญใน “การขยายธุรกิจ” การลงทุนโครงการในอนาคต ผลักดันการเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าขนาดใหญ่หลากหลายรูปทรงด้วยระบบ “Green logistics” รวมถึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต

สะท้อนผ่านเงินระดมทุนใช้ผ่าน 3 ช่องทางสร้างการเติบโตอย่าง “โดดเด่น” คือ 1. ใช้ในการจัดหาที่ดิน และก่อสร้างศูนย์คัดแยก และกระจายสินค้าประจำภูมิภาค รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าในเขต กทม. 2. การซื้อยานพาหนะที่เป็นรถขนส่งแบบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการสร้างสถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์ต่างๆ และ 3.การลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)

โดยแผนธุรกิจบริษัทจะเน้น “เพิ่มศักยภาพ” เพื่อสนับสนุน “การเติบโต” ในอนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืนโดยเฉพาะการตัดสินใจ “ปรับกลยุทธ์” การลงทุนครั้งใหญ่ ผ่านการลงทุนซื้อรถไฟฟ้า (EV) แบ่งเป็นรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 28 คัน รถ 4 ล้อเล็กจำนวน 51 คัน ซึ่งคาดจะรับมอบรถไฟฟ้า EV ในครึ่งปีหลัง 2566 โดยปัจจุบันมีกองรถดีเซลทั้งหมด 500 คัน แบ่งเป็นรถบริษัทจำนวน 300 คัน และรถของพันธมิตร 200 คัน

ทั้งนี้ การตัดสินเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนของบริษัทนั้น สืบเนื่องจากต้นทุนหลักของบริษัทคือ “น้ำมัน” ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันมีความ “ผันผวนแรง” ส่งผลให้การบริหารต้นทุนยากทั้งบริษัทและลูกค้า ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทมานั่งพิจารณาคงต้องถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว ซึ่งเคยศึกษาการใช้รถยนต์ EV มาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ตอนนั้นด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่นิ่ง แต่ปัจจุบันถือว่าเทคโนโลยีเริ่มนิ่งแล้ว และตลาดมีการนำมาใช้ในธุรกิจบางแล้ว

สำหรับ “จุดเด่นสำคัญ” จากการลงทุนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานดีเซล 1. การช่วยประหยัดต้นทุน 2.ช่วยให้บริษัทสามารถทำ “กำไร” ได้ดีมากยิ่งขึ้น และอาจจะช่วยแบ่งส่วนนี้ไปลดราคาให้ลูกค้า ซึ่งจะช่วยทำให้การแข่งขันของบริษัทดีขึ้นอีก และ 3. ช่วยทำให้ขยายตลาดใน “กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่” (คอร์ปอเรท) สามารถนำ “ข้อดี” ของการใช้บริการขนส่งของบริษัทด้วย “พลังงานสะอาด” ใส่เข้าไปในพอร์ตของ ESG ได้อีกด้วย ซึ่ง ESG เป็นกระแสเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน

“ประโยชน์ในการลงทุนรถ EV ช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้มาก แต่มูลค่าการลงทุนสูงกว่ารถดีเซล รวมทั้งค่าเสื่อมก็สูงกว่า แต่โดยรวมก็ยังถือว่ารถ EV ประหยัดกว่ารถดีเซล ในยามที่ราคาน้ำมันผันผวนมาก แต่หากราคาน้ำมันลด ก็เชื่อว่าต้นทุนไฟฟ้าก็ต้องลดลงด้วย” 

โดยลักษณะการให้บริการหลักของ TPL คือ การรับสินค้าหรือสิ่งของจากจุดบริการทั่วประเทศหรือรับจากลูกค้าโดยตรง แล้วรวบรวมมาคัดแยกที่จุดคัดแยกเพื่อนำไปส่งที่จุดหมายปลายทาง ซึ่งมีทั้งคลังสินค้า โรงงาน ร้านค้า หรือบ้านของลูกค้า รวมถึงสาขาของบริษัท และมีการให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ใช้บริการกับบริษัทสามารถติดตามสินค้าที่จัดส่งได้จากระบบของบริษัท (Parcel Tracking) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการขนส่งที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบริหารจัดการการจัดส่งสินค้า โดยครอบคลุมตั้งแต่การรับสินค้า การออกบาร์โคด (Barcode) สำหรับตรวจสอบสถานการจัดส่ง การบันทึกการจัดรถเพื่อรับและส่งสินค้า การบันทึกข้อมูลลูกค้าปลายทางและข้อมูลการเก็บเงินปลายทาง

นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการเสริม (Fulfillment) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า ได้แก่ บริการจัดส่งคืนเอกสารการจัดส่งสินค้าสู่ลูกค้าต้นทาง (Proof of Delivery: POD) บริการห่อหุ้มสินค้าและจัดชุดสินค้าเพื่อเตรียมกระจาย (Packing) ซึ่งเป็นการให้บริการเสริมให้แก่กลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจในปัจจุบัน

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.11 ล้านบาท ขณะที่ในงวดไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.41 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 18.90% จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.53 เท่า

ท้ายสุด “ภัทรลาภ” ฝากบอกไว้ว่า ธุรกิจขนส่งแบ่งแยกย่อยได้หลายลักษณะ แน่นอนว่าการตีตลาดขนส่งและขนถ่ายพัสดุทั่วไป อาจต้องชนกับธุรกิจขนส่งรายใหญ่หลายเจ้าที่ตีตลาดอยู่ก่อนแล้ว แต่สำหรับ TPL เป็นผู้ขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดเฉพาะ ดังนั้น มีโอกาสและช่องทางการเติบโตไม่ยาก