ทำการรู้จัก ‘SCGC - SCG Decor’ ไอพีโอใต้ร่ม ‘เครือเอสซีจี’ ก่อนเข้าตลาดหุ้น

ทำการรู้จัก ‘SCGC - SCG Decor’ ไอพีโอใต้ร่ม ‘เครือเอสซีจี’ ก่อนเข้าตลาดหุ้น

การนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Spin-Off) เรื่องนี้ ! อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีหลากหลายบริษัทขนาดใหญ่ได้ดำเนินการไปแล้ว และ “SCGC - SCG Décor” คือ 2 ไอพีโอล่าสุดของ “เครือเอสซีจี” ที่กำลังจะติดป้ายมหาชน !

ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Spin-Off) สำหรับประโยชน์ของการดำเนินการดังกล่าว “เพื่อหาแหล่งเงินทุน” แต่ที่หลักๆ คือ ต้องการให้บริษัทลูกสามารถใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการ “ระดมทุน” ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาเงินจากบริษัทแม่ และยังเป็นการช่วยสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงกลุ่มบริษัทในเครืออีกทางหนึ่งด้วย ถือเป็นการสร้าง “ความมั่งคั่ง” ในธุรกิจ

เรื่องนี้ ! อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมา มีหลากหลายบริษัทขนาดใหญ่ได้ดำเนินการไปแล้วสะท้อนผ่านล่าสุดกับการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจอีกหนึ่งธุรกิจในเครือยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่เร่งปรับโครงสร้าง “3 ธุรกิจหลัก” นั่นคือ ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง-ธุรกิจเคมิคอลส์ และ ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น !

และ 1 ใน 3 ธุรกิจหลักของเครือ SCG ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นตัวแรก บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563 ซึ่ง SCGP ประกอบธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-Based Packaging) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและโพลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging : PPP) และภาชนะบรรจุอาหาร (Food Service Products) พร้อมบริการออกแบบ การพิมพ์ และโซลูชันที่หลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ

ฉะนั้น ในเครือ SCG ยังเหลืออีก 2 ธุรกิจหลัก นั่นคือ “ปิโตรเคมี-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง” ซึ่งกำลังเตรียมตัวเข้าระดมทุน ! บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC คือ ไอพีโอตัวต่อไปที่บริษัทแม่กำลังเตรียมการ “สปินออฟ” เข้าระดมทุน 

โดยได้ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ในไฟลิ่ง ระบุว่า การนำหุ้นสามัญของ SCGC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรูปแบบบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย และบริษัทร่วมทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ

โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น “3 ธุรกิจหลัก” ได้แก่ “สายธุรกิจโอเลฟินส์” ประเทศไทย (Olefins Chain in Thailand) “สายธุรกิจไวนิล” (Vinyl Chain) และ “สายธุรกิจอื่นๆ” ซึ่งได้แก่ ธุรกิจโอเลฟินส์ในต่างประเทศ ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจบริการและโซลูชัน

ทำการรู้จัก ‘SCGC - SCG Decor’ ไอพีโอใต้ร่ม ‘เครือเอสซีจี’ ก่อนเข้าตลาดหุ้น

โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (หุ้น IPO) จำนวน หุ้น IPO 3,854 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.2% ของทุนชำระแล้วของ SCGC 

จุดเด่นสำคัญ ! ของหุ้น SCGC คือ การเป็น “ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค” ที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน โดยมีจุดแข็งการมีผลิตภัณฑ์ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งการมุ่งพัฒนานวัตกรรม และสินค้า HVA เพื่อตอบสนอง 5 เมกะเทรนด์ของโลก และภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการรายเดียว ในภูมิภาคที่มีฐานการผลิตใน “ไทย-อินโดนีเซีย และเวียดนาม” ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจอีกด้วย 

สำหรับ “ความเสี่ยง” ของธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจของบริษัทพึ่งพาการจัดหาวัตถุดิบ และพลังงาน ซึ่งหากบริษัทขาดแคลนวัตถุดิบ หรือเกิดความล่าช้าในการจัดส่งวัตถุดิบหรือพลังงาน เช่น แนฟทา (naphtha) อีเทน (ethane) โพรเพน (propane) บิวเทน (butane) และก๊าซธรรมชาติ อาจส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ ฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งความผันผวนของราคาวัตถุดิบหลัก และพลังงาน ตลอดจนการที่อาจไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นได้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อประสิทธิภาพด้านต้นทุน และอัตรากำไรของบริษัท

หากบริษัทไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มของเทคโนโลยีหรือพัฒนา และทำการตลาดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และบริษัทประกอบธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันทั่วโลก และเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรง

และไอพีโอตัวที่สามคือ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ (SCG Decor) ซึ่งถือเป็นบริษัทแกนนำ (Flagship Company) ในกลุ่มธุรกิจผลิตกระเบื้องตกแต่งพื้นผิว และสุขภัณฑ์ (Decor Surfaces & Bathroom) ที่เครือ SCG ประกาศนำเข้าระดมทุนตัวล่าสุด ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ! โดยการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ในราคา 2.40 บาทต่อหุ้น 

โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCG Decor เท่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายหุ้น IPO ของ SCG Decor หลังจากการทำคำเสนอซื้อสิ้นสุดลง COTTO จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Decor และยังคงเป็นเจ้าของ COTTO ทางอ้อม จากนั้น SCG Decor จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

จุดเด่นสำคัญ ! ของหุ้น SCG Decor อยู่ในอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิก และอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ ทั้งในประเทศไทย รวมถึงเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มี “ศักยภาพสูง” รองรับประชากรเกือบ 560 ล้านคน มีมูลค่าตลาดกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ รวมกันกว่า 1.9 แสนล้านบาท จึงเป็นโอกาสที่ SCG Decor จะขยายธุรกิจและเติบโตต่อไปในตลาดอาเซียนได้อีกมาก

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ปี 2565-2569 ของตลาดกระเบื้องเซรามิกในไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ขณะที่ตลาดในไทย รวมเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ส่วนตลาดสุขภัณฑ์ในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 2.1% เทียบกับรวม 3 ประเทศข้างต้น เติบโตเฉลี่ยต่อปี 8.6% (อ้างอิงจาก Euromonitor ปี 2564)

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์