ไทยเสี่ยง ‘ภาวะเงินฝืด’ ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว ‘ลงทุน-บริโภค’ ดิ่ง

ไทยเสี่ยง ‘ภาวะเงินฝืด’ ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว ‘ลงทุน-บริโภค’ ดิ่ง

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงไทยเข้าสู่ ‘ภาวะเงินฝืด‘ หากเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง ชี้ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ ทำคนชะลอลงทุน ชะลอบริโภค ทุบเศรษฐกิจ ’ซึมยาว’

KEY

POINTS

  • เกียรตินาคินภัทร ชี้สถานการณ์เงินเฟ้อไทยต่ำต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปี ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว ห่วงเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง กระทบต่อการขึ้นราคา-การลงทุน-ค่าจ้างดิ่ง
  • ชี้ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” จากเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง กังวลการซ้ำรอยญี่ปุ่น ฉุดไทยเศรษฐกิจติดหล่มยาว
  • ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้เงินเฟ้อต่ำ จากปัญหาด้านอุปทานระยะสั้น ราคาผักผลไม้-พลังงานดิ่ง สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ยิ่งฉุดความสามารถการแข่งขัน
  • สะท้อนกำลังนซื้อในประเทศอ่อนแอ ผู้ประกอบการขึ้นต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคไม่ได้ หวั่นเงินเฟ้อต่ำ ฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ “ซึมยาว”
  • ห่วงเศรษฐกิจไทยเผชิญทั้ง “ศึกนอก-ศึกใน”นโยบายการเงิน-การคลังต้องเร่งช่วย

สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ของไทยยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนพ.ค.2568 อยู่ที่ -0.57% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเพิ่มขึ้น 1.09% สวนทางกับหลายประเทศที่ “เงินเฟ้อ” เริ่มกลับมาเป็นบวก และเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

เหล่านี้นำมาสู่คำถามสำคัญว่า เงินเฟ้อที่ยิ่งอ่อนแรงลงเป็นเพียงสัญญาณ “ชั่วคราว” หรือกำลังเป็นสัญญาณ “ถาวร” หรืออาจนำไทยเดินไปสู่ “ภาวะเงินฝืด” หรือไม่?

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภาพเงินเฟ้อของไทยที่ “ติดลบ” ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การติดลบชั่วคราวจากราคาสินค้า หากภาพใหญ่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มี “แรงกดดันเงินเฟ้อ” หรือ inflationary pressure ที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ไทยเสี่ยง ‘ภาวะเงินฝืด’ ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว ‘ลงทุน-บริโภค’ ดิ่ง

และเงินเฟ้อที่เห็นติดลบในปัจจุบัน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เงินเฟ้อไทยชะลอตัวมานานติดต่อกันเป็น 10 ปี ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดในปีนี้ จาก core inflation ที่ปัจจุบันต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางมาต่อเนื่อง เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่มันคือ สัญญาณโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหามานาน

“เราไม่ได้มีเงินเฟ้อเพราะดีมานด์เลย ไม่มีแรงกดดันด้านราคา สะท้อนว่าภาคธุรกิจขาดพลังในการส่งต่อราคาสินค้าต่อผู้บริโภค หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มีใครกล้าขึ้นราคา เพราะผู้บริโภคไม่มีเงินพอจะรับราคาที่สูงขึ้น


ดังนั้น การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้กระทบแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และนักลงทุนในด้านความเชื่อมั่นต่างๆ ให้ลดลง

ทั้งขาด pricing power ของธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าหรือบริการได้ เจ้าของบ้านไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าเช่าได้ ในภาวะที่เงินเฟ้อต่ำต่อเนื่องซ้ำร้ายในด้านการลงทุนอาจลดลง เมื่อราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้น

นักลงทุนไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อสร้างกำไรในอนาคต กระทบเป็นลูกโซ่ไปถึง “ค่าจ้าง” ที่อาจไม่ขยับตามเมื่อไม่มีเงินเฟ้อ รายได้แรงงานก็ไม่ปรับเพิ่ม ทำให้กำลังซื้อในระบบไม่หมุนเวียน

สุดท้ายก็ย้อนกลับมาสู่ ความมั่นใจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งถดถอยลง ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการชะลอการใช้จ่าย และการลงทุน

“พิพัฒน์” ยังฉายภาพให้เห็นว่า จากเงินเฟ้อที่ต่ำต่อเนื่องยังเสี่ยงนำพา “ประเทศไทย” เดินตามรอย “ญี่ปุ่น” ที่เผชิญกับดักเงินฝืดหลังวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ในทศวรรษ 1990 ทำให้เศรษฐกิจติดหล่มเป็นระยะเวลานานไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ง่ายๆ

 แม้วันนี้ “ประเทศไทย” ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเต็มตัว แต่ก็มี “ความเสี่ยง” ที่ไทยจะหลุดเข้าไปในวงจรนั้นได้ในไม่ช้า หากเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่อง และไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของดีมานด์ในประเทศ

“เรามีความเสี่ยงมาก ที่จะซ้ำรอยญี่ปุ่น เหมือนยุคที่ญี่ปุ่นเจอเงินฝืด ทำให้พอราคาสินค้าไม่ขึ้น ผู้คนก็ยิ่งไม่กล้าจับจ่าย ลงทุน หรือไม่สามารถขยับอะไรได้เลย แล้วเศรษฐกิจก็ติดหล่มไปเป็นสิบปี หากเราไม่ทำอะไรเราก็จะซ้ำรอยเหมือนที่ญี่ปุ่นเผชิญมาแล้ว ดังนั้น อย่ารอให้เห็นเงินฝืดชัดๆ แล้วค่อยกังวล เพราะพอถึงตอนนั้น เราอาจต้องใช้เวลานานเป็นสิบปีเหมือนญี่ปุ่นกว่าจะฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้”

สุดท้ายแล้วมองว่า สิ่งที่ต้องทำคือ การรักษา “เสถียรภาพราคา” บนเงินเฟ้อในระดับต่ำแต่มีเสถียรภาพ ไม่สูงจนทำลายกำลังซื้อของประชาชน แต่ก็ไม่ต่ำเกินไปจนส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีแรงกระตุ้น เพราะเงินเฟ้อก็เป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นของทั้งระบบว่า เศรษฐกิจยังมีพลัง มีคนจับจ่าย มีคนลงทุน และมีอนาคตที่มองเห็นได้!

อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ต่ำลงต่อเนื่อง ไม่ใช่ภาพที่ “สบายใจ” เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงไม่ได้มาจากเพียงราคาผัก ผลไม้ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง

แต่มันสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะกำลังซื้อในประเทศที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ สะท้อนภาพเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่อาจต่ำลงต่อเนื่อง และอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในปีนี้ได้

เงินเฟ้อที่ต่ำลง ไม่เพียงจากราคาผัก ผลไม้ที่ลดลงชั่วคราวเท่านั้น แต่ “สินค้าจีนทะลักเข้าไทย” ยังเป็นปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมให้เงินเฟ้อไทยยิ่งต่ำลงต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจาก “ของถูกจากจีน” ที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย และอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยถูกกดราคาจนไม่สามารถขึ้นราคาขายได้แม้ต้นทุนจะเพิ่ม

“เหล่านี้คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องใช้มาตรการภาครัฐโดยตรง เช่น ภาษีนำเข้า หรือการคุมดั๊มพ์ราคาของสินค้าจีน ไม่ใช่ปล่อยให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แก้ด้วยการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เพราะคงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

"เงินเฟ้อ" ที่ลดลง ยังสะท้อนถึงรายได้ครัวเรือนไทยยังฟื้นช้า เพราะคนไทยยังรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน ภายใต้หนี้สูง รายได้ไม่เพิ่ม

ถามว่าวันนี้ประเทศไทยเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” แล้วหรือไม่? “ยังไม่” แต่หากเงินเฟ้อยังติดลบต่อไป อาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเงินฝืดในระยะถัดไปได้ เพราะภายใต้การคาดการณ์ของคนว่า ราคาของจะลดลงอีก อาจทำให้เกิดการชะลอการซื้อสินค้า รอต่อไป เหล่านี้มาจากผลของ “กับดักของเงินเฟ้อต่ำเกินไป”

เงินเฟ้อต่ำกระทบด้านใดบ้าง? ทำให้ธุรกิจไม่มีแรงจูงใจลงทุน ไม่มีเหตุผลในการสต๊อกสินค้า ไม่มีเหตุผลในการขึ้นราคาหรือเพิ่มกำลังผลิต เหล่านี้เป็นวงจรที่ทำให้เศรษฐกิจ “ซึมยาว” เพราะไม่มีแรงส่ง ดังนั้นน่ากังวลอย่างมาก

ทั้งนี้ มองว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญทั้ง “ศึกนอก-ศึกใน” จากปัจจัยภายในประเทศที่อ่อนแอ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการแข่งขันจากจีน ไทยยังต้องเผชิญกับ “ศึกนอก” ที่มาจากสงครามการค้ารอบใหม่ ดังนั้นภาพของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2-3 ปีนี้ยังเผชิญความเสี่ยงโตต่ำ โตลดลงต่อเนื่อง

“แม้เงินเฟ้อที่ต่ำจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้บริโภค และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในบางแง่ แต่เงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุน เมื่อราคาสินค้าขึ้นไม่ได้ และมีแนวโน้มลดลง ผู้คนจะชะลอการลงทุน และชะลอการซื้อสินค้า เพราะคาดหวังว่าราคาจะลดลงอีก ภาพรวมเช่นนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ซึมยาว หลังจากนี้” 

สุดท้ายแล้วมองว่า ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยนโยบาย กลายเป็นที่ถูกจับตาอย่างมากว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มิ.ย.68 นี้ อาจมีความจำเป็นที่ “กนง.” อาจต้อง “ลดดอกเบี้ย” ลงอีก 0.25% เพื่อประคับประคองความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์