‘ไทยพาณิชย์’ ชี้ รายใหญ่รีเทิร์น ‘กู้แบงก์’ แทนออก ‘หุ้นกู้’ หลังระดมทุนยาก

‘ไทยพาณิชย์’ ชี้ ธุรกิจรายใหญ่รีเทิร์น ‘ขอกู้แบงก์’ หันซบ ‘สินเชื่อ’ แทน ‘ออกหุ้นกู้’ หลังระดมทุนยาก พบปัญหา “ความเชื่อมั่น” และ “ธรรมาภิบาล” กดดันนักลงทุนไม่เชื่อมั่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์” ยังคงธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ และการเติบโตให้กลุ่ม “เอสซีบีเอกซ์” อย่างต่อเนื่อง
“กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ฉายภาพธุรกิจ “ธนาคาร” ว่า ผลการดำเนินงานปี 2567 ที่ออกมาในส่วนธนาคารถือว่า “น่าพอใจอย่างมาก” ที่เห็นอัตราการเติบโตของธนาคารต่อเนื่องมากที่สุดในระบบแบงก์
และการโตยังมีมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ตนเข้ามาใน “แบงก์ใบโพธิ์” แห่งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงเป็น “เสาหลัก” ของกลุ่มได้ต่อเนื่อง
หากฉายภาพไปถึงภาพรวมในระยะข้างหน้า “กฤษณ์” มองว่า หากพูดถึงภาพรวมสินเชื่อปีนี้ ธนาคารคงเห็นการเติบโตได้ทรงๆ อยู่ที่ระดับ 1-2% แต่โจทย์ของธนาคารคือ ไม่ได้ตั้งเป้าในการเติบโตด้านสินเชื่อมากนัก ภายใต้การระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารต่อเนื่อง
แต่โจทย์ที่สำคัญคือ การสร้างการเติบโตด้านกำไรให้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากนี้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
หัวใจหลักที่จะทำให้ธนาคารยังคงเติบโตได้ต่อ หลักๆ ยังคงมาจาก กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ที่มาจาก “สินเชื่อบ้าน” เป็นหลัก รวมถึงธุรกิจเวลท์ ที่ธนาคารยังคงปักธงในการสร้างการเติบโตต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในกลุ่ม “ธุรกิจรายใหญ่” ที่มองว่าปีนี้จะเห็นอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง มากกว่าสินเชื่อโดยค่าเฉลี่ยของธนาคาร และเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมได้ เพราะเริ่มเห็นดีมานด์การกลับมาขอสินเชื่อมากขึ้นในธุรกิจรายใหญ่ คนเริ่มมองหาสินเชื่อปกติมากขึ้น แทนการ “ออกหุ้นกู้” และระดมทุนผ่านช่องทางอื่นๆ
เพราะต้องยอมรับว่า วันนี้การออกไประดมทุนผ่าน “ตลาดทุน” ทำได้ “ยากขึ้นมาก” ด้วยเพราะมีปัญหาความเชื่อมั่น และด้านธรรมาภิบาลต่างๆ ทำให้นักลงทุนมีความไม่เชื่อมั่น และไม่วางใจมากนักในการเข้าไปลงทุน ดังนั้น หากด้านธรรมาภิบาลยังไม่ชัดเจน ทำให้การเข้าไประดมทุนภาคธุรกิจมีความยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น การหาเงินทุนจึงกลับมาที่แบงก์ แม้เดิมจะเชื่อการระดมทุนผ่านตลาดทุนน่าจะมีต้นทุน หรือดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารก็ตาม
แต่ก็ยอมรับว่าการเข้ามาเติบโตในพอร์ตนี้ “ไม่ง่าย” ภายใต้สินเชื่อที่ชะลอตัว ตลาดตึงตัว ทุกแบงก์ก็จะมุ่งมาสู่การแข่งขันในตลาดที่มีศักยภาพนี้เช่นเดียวกัน ที่จะตามมาด้วยการแข่งด้านเรตราคา อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ตามมาด้วย
“วันนี้เรื่อง Good governance จึงสำคัญอย่างมาก เพราะเห็นแล้ววันนี้ว่า ด้วยปัญหาธรรมาภิบาล ทำให้คนไม่วางใจอย่างมากกับบริษัทที่ไม่เคลียร์เรื่องนี้ รายย่อยก็อาจไม่ลงทุน การเข้าไประดมทุนในตลาดนี้จึงทำได้ยากขึ้น ดังนั้น ดีมานด์เหล่านี้ก็กลับมาที่ธนาคารมากขึ้น จากเดิมที่มีทางเลือกการออกไประดมทุนผ่านตลาดทุน”
การเติบโตที่ธนาคารโฟกัสถัดมาคือ พอร์ตสินเชื่อบ้าน ที่ธนาคารยังคงโฟกัสในกลุ่มที่มีศักยภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถซื้อบ้านเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป
ดังนั้นในกลุ่มสินเชื่อบ้านธนาคารยังคงตอกย้ำในรักษา “อันดับหนึ่ง” ต่อไปแน่นอน เช่นเดียวกันการมุ่งโฟกัสในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ และเรารู้จักดีมากขึ้น ควบคู่ไปกับการหาผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่มีคุณภาพเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้การปล่อยสินเชื่อบ้านเติบโตได้มากขึ้น
นอกจากนี้ พอร์ตที่ธนาคารโฟกัส ยังรวมไปถึง “ธุรกิจเวลท์” และธุรกิจกองทุน ประกันต่างๆ ที่จะทำให้ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการมากยิ่งขึ้น (Fee based income)
ในมุมการเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันจากการมาของ “Virtual Bank” มองว่าวันนี้แบงก์ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่า Digitalization Expert ของเราค่อยๆ มา ผ่านระบบธนาคาร ที่ค่อยๆ ดีขึ้น การลดต้นทุนของธนาคารก็มีขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่า Cost to income หรืออัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้ของธนาคารวันนี้ดีกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งรายได้ธนาคารก็ดีขึ้นตาม เหล่านี้คือ ความพยายามของธนาคารในการค่อยๆ ปรับตัวมาต่อเนื่อง
ดังนั้น เป้าหมายในการมีรายได้จาก “ดิจิทัล” (Digital income) ปี 2567 ที่ผ่านมา ก็ทำได้ตามเป้าหมายที่ 15% และสิ้นปีนี้ธนาคารตั้งเป้าว่า รายได้จากดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 25% ได้ ที่ธนาคารจะพยายามทำให้ได้ถึงเป้าหมาย แม้จะเป็นเป้าที่ท้าทายก็ตาม เพราะการพยายามในการตั้งเป้าหมายเผื่อไว้ อย่างน้อยๆ หากมองไปยังดาวอังคาร อย่างน้อยเราก็ยังลงที่โลกพระจันทร์ ที่ยังคงอยู่ในวงโคจรที่หวังจะมองเห็นได้
สำหรับโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่มีการขยายระยะเวลาเข้าโครงการถึง 30 เม.ย. 2568 ถือว่าเป็นคุณกับธนาคาร ซึ่งหากดูการเข้าโครงการวันนี้มีเพียงราว 25% ที่เข้าเงื่อนไขโครงการได้ จากที่ยื่นเข้ามาทั้งหมด และคนส่วนใหญ่ยังไม่ตรงตามเงื่อนไข ดังนั้นโจทย์ของธนาคารไทยพาณิชย์คือ การต้องทำให้คนกว่า 50% ที่ยื่นมาทั้งหมดสามารถเข้าโครงการได้ ภายในไตรมาสแรกปีนี้
ซึ่งวันนี้จากการทำประชาสัมพันธ์ของแบงก์มากขึ้น พบว่า ลูกค้าก็เริ่มทยอยเข้าโครงการมากขึ้น ซึ่งมีทั้งพอร์ตลูกค้าจาก เอสเอ็มอีขนาดเล็ก สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถ
ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐขยายให้นอนแบงก์เข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติม เชื่อว่าเป็นมิติที่ดี เพราะทำให้หนี้ที่อยู่ในระบบมีโอกาส “ลดลง” ได้ เพราะวันนี้หนี้ส่วนหนึ่งที่อยู่ในระบบก็จากนอนแบงก์ค่อนข้างมาก ดังนั้น การเปิดให้นอนแบงก์เข้ามาเพื่อช่วยลูกหนี้มากขึ้น ก็ถือเป็นแนวทางที่ดี
สุดท้ายแล้ว หากมองไปถึงความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากนโยบาย “ทรัมป์” มองว่าภายใต้การรับฟังนโยบาย และความคิดเห็นต่างๆ จาก ทรัมป์อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลใจจนเกินไป เพราะเชื่อว่าทรัมป์ที่มีความเป็น “นักต่อรอง” คงต้องการพูดเพื่อกระตุ้นให้คนเกิดความตื่นตัว ทำให้คู่ค้า คู่กรณีกลับมาคุยกันบนโต๊ะเจรจา เพราะสุดท้ายแล้วมองว่าโลก หรือเศรษฐกิจคงไม่ได้ เปลี่ยนจากความยั่งยืนไปสู่จุดที่ไม่ยั่งยืนมากขึ้น
ดังนั้น มุมแบงก์ ก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์จากโลกใกล้ชิด แน่นอนผลกระทบอาจไม่ได้มีแค่ทางการค้าการขายระหว่างประเทศ แต่ผลกระทบยังมีต่อไปถึงเรื่องดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่ธนาคารเองก็ต้องเก็บข้อมูล และติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม “ทรัมป์” พูดถึงโอกาสในการเก็บภาษีนำเข้าจากเหล็ก อะลูมิเนียมต่างๆ มองอาจเป็นสิ่งที่กระทบต่อไทย เพราะประเทศไทยที่ผ่านมา ยังอยู่ภายใต้ธุรกิจโลกเก่า ที่จะพบกับความเสี่ยงมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ไทยต้องปรับตัว และหาโจทย์ลดความเสี่ยงต่อธุรกิจในอนาคต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์