นิติบุคคลรู้หรือไม่ ยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น!

นิติบุคคลรู้หรือไม่ ยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น!

นิติบุคคลมือใหม่ต้องทราบ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตั้งแต่เดือนมกราคม 68 เป็นต้นไป ทำได้ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

เนื่องจากกรมสรรพากรได้ประกาศเรื่องการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตั้งแต่เดือนมกราคม 68 เป็นต้นไป กำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

ดังนั้น สำหรับนิติบุคคลมือใหม่ก่อนที่จะเริ่มยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาทำความรู้จักกับแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละแบบใช้ต่างกันอย่างไร

รวมถึงขั้นตอนการยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเมื่อต้องยื่นออนไลน์ด้วยตนเอง

แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประกอบด้วย

ภ.ง.ด.1 คือแบบแสดงรายการยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับภาษีเงินได้ที่หักจากฐานเงินเดือนของพนักงาน แล้วเฉลี่ยนําส่งสรรพากรทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่ง ภ.ง.ด.1 ใช้สำหรับแจ้งพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วเท่านั้น โดยคํานวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า

ภ.ง.ด.1ก คือแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งใช้เพื่อแสดงรายการเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) - (2) เปรียบเหมือนใบสรุปการจ่ายเงินเดือน เงินได้อื่นๆ ของพนักงานเป็นรายปี โดยนำส่งกรมสรรพากรปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ซึ่งจะต้องแสดงรายละเอียดเงินได้ของพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม

ภ.ง.ด.1ก พิเศษ คือแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งใช้เพื่อแสดงรายการเงินได้พึงประเมิน มาตรา 4(1) – (2) กรณีมีการตั้งฎีกาเบิกเงิน เฉพาะข้าราชการจ่ายเงินได้ตาม 40(2) ต้องทำภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป เว้นแต่แบบแสดงรายการยื่นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตาม 40(1) ให้ทำการยื่นแบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป

ภ.ง.ด.2 คือแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งใช้เพื่อแสดงรายการเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(3) และ 40(4) เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินปันผล หากบริษัทมีการจ่ายเงินไปจะต้องนำส่งกรมสรรพากรพร้อมชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป สำหรับอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้นอยู่ที่ 15% ยกเว้นเงินปันผลอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 10%

ภ.ง.ด.2ก คือแบบสรุปรายการเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินปันผล เงินผลประโยชน์จากการโอนหุ้นและอื่นๆ เป็นแบบที่รวมข้อมูลทั้งหมดของ ภ.ง.ด.2 ซึ่งยื่นภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป

ภ.ง.ด.3 คือแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่นิติบุคคลต้องหักภาษีไว้เมื่อทำธุรกรรมกับบุคคลธรรมดา สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (6) (7) (8) เช่น มีการจ้างลูกจ้างรายวันหัก 3% แล้วนำส่ง ภ.ง.ด.3 ให้กับกรมสรรพากรในเดือนถัดไป

ภ.ง.ด.3ก คือแบบสรุปประจำปีรายการหัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (6) (7) (8) เช่น เงินได้จากวิชาชีพอิสระ การรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน ส่งให้สรรพากรภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป

ภ.ง.ด.53 คือแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งใช้ระหว่างนิติบุคคลกับนิติบุคคลด้วยกัน ทั้งบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยเอกสารที่ว่านี้จะต้องนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปทุกเดือน หากเดือนไหนไม่มีการหักก็ไม่ต้องนำส่ง แต่ถ้ามีการหักแต่ไม่นำส่ง ก็จะถูกเสียค่าปรับ

ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้

เนื่องจากสรรพากรกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ดังนั้น สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ตามช่องทางต่อไปนี้

- ระบบ e-filing ขยายเวลาการยื่นแบบออกไปอีก 8 วัน

- ระบบ e-Withholding Tax ถือว่าได้ยื่นแบบ และไม่ต้องออกหนังสือรับรองหารหักภาษี ณ ที่จ่าย ตาม ม.50 ทวิ

- ระบบ SVS/SWC (สื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) รองรับการนำส่งข้อมูลจำนวนมาก

ขั้นตอนและข้อปฏิบัติสำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

- มีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เว้นแต่บุคคลธรรมดาที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนแทน)

- หักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายเงินได้ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย

- ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ในกรณีที่เป็นรัฐบาล องค์กรของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การราชการส่วนท้องถิ่น ให้เจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินได้ออกใบรับสำหรับค่าภาษีที่ได้หักไว้ให้แก่ผู้รับเงิน

- ยื่นแบบและนำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องทำความตกลงกับกรมสรรพากร พร้อมทั้งลงนามในเอกสารข้อตกลงในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

และเมื่อได้รับหมายเลขผู้ใช้ (User ID) และรหัสผ่าน (Password) จากกรมสรรพากรแล้ว จึงจะสามารถเข้าสู่ระบบการยื่นแบบฯ และชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

สรุป...ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กฎหมายกำหนดให้ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น!!

ดังนั้น นิติบุคคลเมื่อมีการจ่ายเงินอย่าลืมหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประเภทรายจ่ายที่กฎหมายกำหนด และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้ครบทุกแบบแสดงรายการ และให้ตรงตามกำหนดเวลาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

แต่หากต้องการยื่นในรูปแบบกระดาษต้องแนบหนังสือแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นแบบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting