KKP เปิดปัจจัยฉุด ' เศรษฐกิจไทย ' โตไม่ถึง 3% แนะปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

KKP เปิดปัจจัยท้า ฉุดเศรษฐกิจไทย โตไม่ถึง 3% แนะเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว ต้องทำควบคู่ทั้งระบบ
สถานการณ์ “โลก” เหมือนอยู่ริมหน้าผา หลังสหรัฐมีผู้นำคนใหม่ในนาม โดนัลด์ ทรัมป์ ความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงนโยบาย และการปฏิบัติเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงจึงอาจอยู่บนความเสี่ยงด้วยหากไม่บริหารจัดการให้ดี
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทย มองว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องติดตามที่สำคัญ
เช่น ด้านแรก ภาคบริการและท่องเที่ยว ที่ยังมองว่าเป็นพระเอกหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยคาดนักท่องเที่ยวแตะ 38 ล้านคนปีนี้ เติบโตขึ้น 7% ส่งผลให้ภาคบริการยังสามารถเติบโตได้ ซึ่งต่างกับภาคการผลิตและเกษตรที่ยังมีแรงกดดันต่อเนื่อง
ด้านที่สองที่น่าห่วงมองว่า ภาพสินเชื่อโดยรวมหดตัวในรอบ 20 ปีจากความกังวลด้านคุณภาพสินเชื่อ ทำให้เห็นผลกระทบเริ่ม
ส่งผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ และสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น หรือแม้แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์หรือก่อสร้างที่เริ่มมีผลกระทบจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่นกัน
ข้อจำกัดของภาคเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังมาจาก แรงกระตุ้นจาก “ภาคการคลัง” ที่มองว่าเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยคาดว่า อีก 2-3 ปี หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเข้าใกล้เพดานที่ 70% ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการทำนโยบายต่างๆ มีข้อจำกัดมากขึ้น
คาดการณ์ว่าปี 2568 เศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอตัว มาอยู่ที่ 2.6% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยหากดูแนวโน้มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยพบว่า มีโอกาสกลับไปเติบโตเหมือนก่อนโควิด ที่เติบโตได้เกิน 3%ค่อนข้างมาก ทำให้อาจเห็นเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.6-2.7% ต่อไปสักระยะหนึ่ง
“ภาคบริการ และการท่องเที่ยว วันนี้แบกเศรษฐกิจไว้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100% ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เพิ่งกลับมาฟื้นตัวแค่ 2-3 ไตรมาสหลังนี้ แต่ที่ห่วงคือ แม้ท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกแต่เครื่องจักรที่เป็นความหวังเริ่มมีแรงส่งน้อยลง”
ที่ต้องจับตาสำคัญคือ จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษี เนื่องจากไทยปัจจุบันเกินดุลสหรัฐต่อเนื่องเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐได้
ซึ่งมองว่าหากผลกระทบจากนโยบายทรัมป์มีผลกระทบรุนแรง อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ลงไปต่ำที่ระดับ 2% ได้ในกรณีเลวร้ายที่สุด
โดยภาคที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีมากที่สุด ทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ ยาง โซลาร์เซลล์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการ
ส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างมากสิ่งที่สำคัญคือ การเตรียมรับมือกับนโยบายทรัมป์ ที่มองว่าประเทศไทยต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เราพร้อมในการเข้าไปเจรจากับทรัมป์ และตั้งรับกับนโยบายทรัมป์ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
“การกระตุ้นระยะสั้นๆ อย่างเดียว มีแต่จะทำให้จีดีพีเราเตี้ยลงเตี้ยลง ดังนั้นการทำให้จีดีพีเราโตได้เราต้องแก้เรื่องระยะยาวด้วย ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ปฏิรูปเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการทำเพียงนโยบายระยะสั้นๆ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์