‘อาทิตย์‘ เดินเกมรุก ลุย ’เวอร์ชวลแบงก์‘ ตั้งเป้าเปิดให้บริการสิ้นปี68
“อาทิตย์” วางยุทธศาสตร์ “เอสซีบี เอกซ์” ปีหน้า ลุยลงทุน “เวอร์ชวลแบงก์” ทันที พร้อมเปิดบริการทางการเงินก่อนปลายปี 68 กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการด้านต่างๆ ทั้ง “กำลังคน-ระบบ-เทคโนโลยี” ชู “พาร์ตเนอร์ชิป” แข็งแกร่ง เชี่ยวชาญเทคโนโลยี
ปัจจุบันเห็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “โลกการเงินดิจิทัล” มากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมี “ผู้ใช้บริการ” ทางการเงินอีกมากมายที่ยังไม่สามารถเข้าถึง หรือ ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ยิ่งเฉพาะ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย” หรือ “กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก”
ภายใต้บริบท ดังกล่าวจึงนำมาสู่การเปิดโอกาสให้ “ภาคการเงิน” ใช้ช่องทางจากการนำ “เทคโนโลยี” และ “ข้อมูล” เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่เข้ามาตอบโจทย์ ผู้ใช้บริการมากขึ้น จึงเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนให้มีการเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ นั่นคือ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” (Virtual Bank) เกิดขึ้น
ปัจจุบันธปท. ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นขอใบอนุญาต หรือ “ไลเซนส์” จากธปท. ไปแล้ว โดยปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 และ “บมจ. เอสซีบี เอกซ์” เป็นหนึ่งใน 5 รายชื่อ ที่ธปท. ประกาศรายชื่อว่า มีการยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึง ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของ Virtual Bank หลังจากนี้ และ แผนธุรกิจในการขับเคลื่อนยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” ให้เติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
การเดินหน้า Virtual Bank ว่าขณะนี้ เอสซีบีเอกซ์ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมกับการดำเนินธุรกิจภายใต้ Virtual Bank โดยตัวเขาเอง “มั่นใจ และเชื่อมั่น” ว่า “เอสซีบี เอกซ์ มีโอกาสที่จะได้ใบอนุญาตทำธุรกิจ Virtual Bank
ตั้งเป้าบริการ Virtual Bank สิ้นปี68
หากดูไทม์ไลน์ของการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank ตามกำหนดของธปท. คือกลางปี 2568 ดังนั้น ในมุมของ “เอสซีบี เอกซ์” อยากเริ่มให้เร็ว โดยเมื่อรู้ผลกลางปี หรือเดือน ก.ย. 2568 ดังนั้น สิ้นปีหน้ากลุ่มของ “เอสซีบี เอกซ์” มีแผนที่จะเปิดให้บริการผ่าน Virtual Bank ทันที
โดยเชื่อว่า กลุ่มบริษัทน่าจะมีความพร้อมให้บริการทันที เพราะหลังยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank สิ่งที่บริษัททำคือ การเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ไปแล้วค่อนข้างมาก
ทั้งการหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) หัวเรือใหญ่ในการเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ Virtual Bank ของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านคน เตรียมระบบ เตรียมเทคโนโลยีต่างๆ ให้พร้อมบริการในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ในส่วนพนักงาน ที่จะเข้ามาทำ Virtual Bank มองว่าจะใช้พนักงานเพียงหลัก 1 พันคน ต่างกับแบงก์ดั้งเดิมในปัจจุบันถึง 10 เท่า ที่ใช้พนักงาน 1-2 หมื่นคน อีกทั้ง คนที่ต้องการเข้ามาทำงานใน Virtual bank ส่วนใหญ่เป็นคนเก่งเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเอสซีบี เอกซ์อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดึงคนเทคฯ จากต่างประเทศเข้ามา เช่น อินเดีย จีน เป็นต้น
ส่วนโปรดักต์แรกๆ ที่จะออกมา เชื่อว่าต้องทำควบคู่กัน คือทั้ง “เงินฝาก” และ “สินเชื่อ” รวมถึงการให้บริการด้านการชำระเงินที่ต้องไปด้วยกัน เพื่อทำให้การให้บริการทางการเงินสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มของ “เอสซีบี เอกซ์” จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี เนื่องจากพาร์ตเนอร์ชิปของธุรกิจ มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำธุรกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะด้านการชำระเงิน ไม่เฉพาะการเก่าทำเรื่องโปรแกรมเงินฝากเท่านั้น
เจาะ ‘รายย่อย’ทุกกลุ่มรายได้ต่ำถึงสูง
สำหรับกลุ่มเป้าหมายธุรกิจ Virtual Bank “อาทิตย์” มองว่า จุดเริ่มต้นของ Virtual Bank คือ การเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจรายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงิน หรือเข้าถึงบริการทางการเงินต่ำ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ
แต่หากพูดถึง “รายย่อย” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า จะจำกัดเฉพาะ ธุรกิจรายย่อย รายเล็กๆ ที่มีรายได้ต่ำเท่านั้น หรือหมายถึงเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านดิจิทัลแต่หมายถึงโปรดักต์ทั้งหมดของลูกค้าบุคคล ที่ Virtual Bank มีโอกาสเข้าไปเจาะได้ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับล่าง จนถึงผู้ที่กู้บ้านระดับ 10 ล้านบาท ก็มีโอกาสเป็นลูกค้าของ Virtual Bank ได้เช่นกัน
ดังนั้น โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ Virtual Bank มีโปรดักต์เข้าถึงลูกค้ารายได้สูงได้ด้วย
เช่น กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาทขึ้นไปได้ด้วย ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อบุคคล ที่สามารถชาร์ตดอกเบี้ยได้เกิน 10-20% เพื่อทำให้แบงก์มีความสามารถให้ดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงๆ กว่าแบงก์ปัจจุบันได้
ยกตัวอย่าง หากแบงก์ปัจจุบันให้เงินฝากที่ 2% Virtual Bank อาจให้ดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-2.7% แต่จะไม่ก้าวกระโดดไปเป็น 5% คล้ายแบงก์เล็กๆ ในปัจจุบันที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดลูกค้า
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ Virtual Bank จะมาด้วยองค์กรที่คล่องตัว ใช้คนน้อย และเน้นให้บริการผ่านดิจิทัลเป็นหลัก แต่ช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจ หากบริหารธุรกิจได้ไม่ดี บางรายอาจขาดทุนและต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงกว่าการให้บริการผ่านธนาคารในปัจจุบันได้
มีโอกาสทับรอยฐานลูกค้าเดิม “แบงก์ไทยพาณิชย์”
ทั้งนี้ การทำธุรกิจ Virtual Bank จะทับรอยลูกค้าเดิมของ “เอสซีบี เอกซ์” คือ ธนาคารไทยพาณิชย์หรือไม่นั้น “อาทิตย์” เชื่อว่ามีโอกาส ดังนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์เองต้องปรับตัว เชื่อว่าวันนี้ธนาคารตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว
“ถามว่ามีโอกาสทับลูกค้าแบงก์ใหม่ จากการมาของ Virtual Bank เราหวังว่าจะไปทับลูกค้าแบงก์อื่นๆ แต่ยังไงก็มีโอกาสโดนลูกค้าแบงก์ ซึ่งในกลุ่มของเราก็มองกันว่า หากเราไม่ทำเอง ธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะถูกเวอร์ชวลแบงก์จากที่อื่นมาตีอยู่ดี ดังนั้น สู่เราเข้ามาทำธุรกิจนี้เองดีกว่า”
สำหรับ ในมุมธนาคาร เขาเชื่อว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคงมีความได้เปรียบจากฐานเงินทุนที่ใหญ่ ฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม แบรนด์ที่มีคนรู้จัก ดังนั้น ไทยพาณิชย์เองก็ยังคงมีความได้เปรียบบนสิ่งที่มีในปัจจุบัน แต่แบงก์ใหม่ นั่นหมายถึง Virtual Bank ที่จะเข้ามา ก็มีความได้เปรียบด้านต้นทุน และการไม่มี Legacy โครงสร้างแบบเก่า ไม่มีสาขา ไม่มีพนักงานจำนวนมาก เพราะการมี Legacy เดิมๆ เหล่านี้ยิ่งทำให้การขยับขยายการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำได้ยาก และเป็นต้นทุนค่อนข้างมากขึ้น
ต่างกับการทำงานของ Virtual Bank ที่โครงสร้างธุรกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด ดีไซน์ใหม่ ไม่ใช่ protocol แบบเดิม และยังมีจุดแข็งจากการมี พาร์ตเนอร์ชิปทั้งจีนและเกาหลีใต้ พนักงานในองค์กร ไม่ได้มาจากแบงก์ ทำให้การทำงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ทำให้ไม่มีภาพจำ และในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ว่าต้องมีกฎระเบียบ
“องค์กรแบบเดิมๆ ที่มีแนวคิดเดิมที่ฝังกฎระเบียบ หรือ Compliance องค์กรไว้ เช่นเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการฝังกฎระเบียบมาเป็น 100ปี ดังนั้นการจะไปโละทิ้ง การเปลี่ยนแปลงจึงทำได้ช้า เพราะสิ่งเหล่านี้มันฝังก่อร่างสร้างตัวมานานการไปทุบทิ้งเพื่อไปสู่ระบบใหม่ไม่ได้ง่าย แต่บริษัทใหม่เมื่อไม่มีภาพจำจากกฎระเบียบแบบเดิมๆ บริษัทเล็กกฎก็ควรเล็กเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ใช่บริษัทเล็กแล้วยังเจอกฎที่ใหญ่เหมือนองค์กรในวันนี้ ดังนั้นการทำงานของ Virtual Bank ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด ดีไซน์ใหม่ ไม่ใช่ protocol แบบเดิม”
เชื่อมั่นพาร์ตเนอร์ชิปแข็งแกร่ง-เก่งเทคฯ
ทั้งนี้ หากพูดถึง พาร์ตเนอร์ชิป ของกลุ่มของ “เอสซี บีเอกซ์” คือ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลในเกาหลีใต้ และ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน ถือเป็นผู้ที่มีความแข็งแกร่ง และมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีอย่างมาก
โดยหนึ่งรายเป็นพาร์ตเนอร์ชิปที่เก่งด้าน Front End การจัดการหน้าบ้าน และอีกรายเก่งเรื่อง Back End เก่งสำหรับการพัฒนางานหลังบ้าน ดังนั้นเชื่อว่า CEO ที่จะเข้ามารับหน้าที่ และต้องทำงานใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์ชิปเหล่านี้จะสามารถทำงานกันได้เป็นทีมเวิร์ก
อีกทั้ง มีจุดเด่นอีกด้านคือการใช้เทคโนโลยี มาใช้เพื่อให้แบงก์สามารถเข้าใจคนในทุกเจเนอเรชั่น เข้าใจถึงพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละจ่าย ว่าใช้จ่ายแบบไหน มีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อต่อยอดในการสร้างระบบนิเวศใหม่ๆ ขึ้นมา โดยใช้ทั้งเกมการ์ตูนต่างๆ เพื่อสร้างเอนเกจเมนต์ให้คนใช้บริการมีความสุขมากขึ้น ผ่านฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ถึงทำให้ทั้ง KakaoBank และ WeBank ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการได้ฐานลูกค้ารุ่นใหม่ ทั้งจากกลุ่มเงินฝาก สินเชื่อต่างๆ
เปิดกว้างจับมือกับพันธมิตรในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของกลุ่ม “เอสซีบี เอกซ์” คือการที่ เอสซีบี เอกซ์ ไม่ได้มีการผูกมัด โดยการให้เข้ามาถือหุ้น เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน ทำให้ในอนาคต แบงก์บนรูปแบบใหม่ สามารถเปิดกว้างในการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น
“จุดเด่นของกลุ่มเราคือ วันนี้เรามีพันธมิตรที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น กว่า 10-20 ราย ที่ไม่ได้เซ็นสัญญากับเรา หากเอาฐานลูกค้าเขามา เราก็จะมีฐานลูกค้าที่เยอะมาก ดังนั้น การที่ไม่มีพวกระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเตมในเมืองไทย ที่ไม่ใช่พาร์ตเนอร์ชิปถือหุ้น ทำให้เราสามารถไปไหนกับใครก็ได้ เราเซ็นสัญญาได้กับทุกคน ต่างกันการเซ็นสัญญาที่หากจะดึงเจ้าใหม่ๆ เข้ามาเจ้าเก่าก็คงไม่ยอม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคิดพอสมควรตั้งแต่แรกๆแล้ว”
มอง 3 ปี เริ่มเห็นต้นทุนในการให้บริการลด
“อาทิตย์” กล่าวต่อว่า สำหรับการให้บริการผ่าน Virtual Bank ตั้งเป้าว่าไม่เกิน 3 ปี ที่เริ่มเห็น “ต้นทุน” ในการให้บริการต่อทรานเซคชั่นที่ส่งผ่านไปสู่ลูกค้าลดลง เมื่อแบงก์มีสเกล หรือขนาดที่เหมาะสม และใหญ่มาถึงระดับหนึ่ง บน Virtual bank ต้นทุนในการให้บริการเริ่มลดลง ก็เชื่อว่า อีกไม่นานจะเห็นจุดคุ้มทุนจากธุรกิจได้
ด้านความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจมาจาก ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดี คนอ่อนแอ เค้กไม่โต แง่การทำธุรกิจทุกคนเหนื่อยหมด คือสิ่งที่กลัว ต่างกับการที่มีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันจำนวนมาก แต่หากเศรษฐกิจเติบโตได้ แต่ก็เชื่อว่ายังแข่งขันได้
ปูทางลุยธุรกิจในต่างประเทศ
สุดท้ายแล้ว “อาทิตย์” มองว่า แผนธุรกิจในระยะข้างหน้า ภายใต้กลุ่มของ “เอสซีบี เอกซ์” ที่อยากต่อยอดให้เกิดขึ้น คือการหาโอกาสไปเติบโตในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ยังมองว่ายังเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ แต่การไปในต่างประเทศ คงไม่ได้ไปผ่านแบงก์แบบเดิมๆ
แต่ยุทธศาสตร์ในการไปต่างประเทศ จะไปในลักษณะเดียวกันกับ Virtual bank ที่ให้บริการทางการเงินหลากหลาย โดยปัจจุบันได้มีการศึกษาในการเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมแล้ว
ยังไม่พอใจสำหรับการสร้าง “เอสซีบี เอกซ์”
หากถามว่า ภายใต้การปรับโครงสร้างองค์กร ภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” ถึงจุดที่พอใจแล้วหรือไม่ “อาทิตย์” มองว่า “ยัง” เพราะหากดูเฉพาะผลประกอบของกรุ๊ป ภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” ช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ตั้ง “เอสซีบี เอกซ์” ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักยังมาจาก “ธนาคารไทยพาณิชย์” โดยกำไรสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่ 3.85 หมื่นล้านบาท
แต่เมื่อประกาศผลกำไรทั้งกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ กำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 3.22 หมื่นล้านบาท เหล่านี้สะท้อนว่า ยังมีตัวหน่วง โดยมาจากบริษัทอื่นๆ ภายใต้กลุ่ม อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาเอสซีบีเอกซ์ ก็มีการลงทุนเพิ่มเติมทำให้ ค่าใช้จ่ายก็เป็นตัวหน่วงของกลุ่ม
ดังนั้น การเดินทางในระยะข้างหน้า ที่อยากเห็นคือ การที่แบงก์ไทยพาณิชย์ประกาศกำไรออกมาเท่าไหร่ กลุ่มธุรกิจเอสซีบี เอกซ์ ก็มีกำไรเท่านั้น สะท้อนว่าสามารถกลับไปอยู่ในจุดเดิม ที่แปลว่าไม่มีตัวหน่วงแล้ว และสุดท้ายเมื่อสามารถดันส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบงก์ ให้มีกำไรได้ ก็จะเห็นผลประกอบการของกลุ่มสูงขึ้นทันที สเต็ปถัดไปคือ นอกจากผลประกอบการของแบงก์บวกแล้ว ตัวธุรกิจในกรุ๊ปก็ต้องเป็นบวกด้วย
“ถามว่าเราอยู่ในจุดที่พอใจหรือยัง ยัง เพราะวันนี้ เรายังมีตัวหน่วง แต่ก่อนแบงก์ไทยพาณิชย์ประกาศกำไรปีละ 4 หมื่นล้าน กรุ๊ปก็มีกำไรเท่านั้น แต่ 2 ปีมานี้ แบงก์กำไรเกือบ 5 หมื่นล้าน แต่กรุ๊ปประกาศกำไรมาเหลือเพียง 4 หมื่นล้านต้นๆ เท่านั้น เพราะตัวที่เหลือเป็นตัวฉุด ดังนั้นการเดินทางของเราคือนอกจากแบงก์บวกแล้ว ตัวในกรุ๊ปก็ต้องบวกด้วย วันนี้เราผ่านจุดที่เป็นหน่วงไปแล้ว เรากำลังเข้าสู่จุดที่กลายเป็นตัวที่ Square เสมอตัวพอหลุดจากนี้ก็จะกลายเป็นบวก”