ชงครม.เคาะ ’2 มาตรการ’ แก้หนี้ เครดิตบูโรเผยเฉียด 12 ล้านบัญชี ‘ค้างหนี้พุ่ง‘
เปิดมาตรการแก้หนี้ 2 มาตรการล่าสุด ชง ครม. 11 ธ.ค.นี้ แก้หนี้เอสเอ็มอี-บ้าน-รถ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ ตั้งเกณฑ์ยกดอกเบี้ยให้ต้องสมัครใจเข้าโครงการจ่ายหนี้ติดต่อกัน 12 เดือน มาตรการชุดสอง “ยกหนี้” สำหรับหนี้เสียไม่เกิน 5 พันบาท
แหล่งข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบมาตรการทางการเงิน เพื่อแก้ไขหนี้ประชาชน หนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันที่ 11 ธ.ค.2567 เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ชุด
โดยมาตรการแก้หนี้ชุดที่ 1 จะเน้นการแก้หนี้เอสเอ็มอี หนี้รถและหนี้บ้าน และมาตรการที่ 2 เสมือนเป็นมาตรการ “ตัดติ่งหนี้” เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสกลับมาเข้าสู่ระบบการเงินได้อีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้น ที่ภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันคือ การขยายเพดานการแก้หนี้ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม เอสเอ็มอี สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อให้มากกว่า 3 ล้านบาท เช่นเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท เป็นต้น เนื่องจากมาตรการนี้ มีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูเพื่อสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือเพียง 0.23% จาก 0.46% ทำให้มีเงินส่วนนี้เข้ามาช่วยลดภาระลูกหนี้ได้มากขึ้น
ดังนั้น ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ การเพิ่มเพดานในการแก้หนี้ครั้งนี้ จะมีการเสนอเพดานใหม่ สำหรับการแก้หนี้ของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านบาท ทันทีในรอบ 11 ธ.ค.นี้ และ
อีกข้อเสนอคือ หลังจากนี้จะขอดูผลของการสมัครใจเข้าโครงการว่ามากน้อยแค่ไหน หากมีแนวโน้มมากขึ้น และมีลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้มากกว่า 3 ล้านบาทอีกจำนวนมาก ก็อาจพิจารณาขยายหลักเกณฑ์ภายหลังอีกครั้ง
มาตรการชุดที่ 1 สกัดเอ็นพีแอล
สำหรับมาตรการแก้หนี้ชุดที่ 1 เบื้องต้นเป็นความร่วมมือกัน ทั้ง 3 ฝ่าย คือกระทรวงการคลัง ในการลดเงินนำส่ง FIDF ให้เหลือ 0.23% เหมือนนำภาษีที่นำส่งเข้ารัฐมาช่วยแก้หนี้ให้ลูกหนี้ และอีก 2 ผู้เกี่ยวข้องคือ ธนาคารพาณิชย์ และลูกหนี้ที่ต้องให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ การแก้ไขหนี้ในมาตรการชุดแรกนี้ อาจมีการกำหนดการเป็นหนี้เสีย คือไม่เกิน 12 เดือน หรือ 1 ปี และอีกกลุ่มคือ ไม่ได้จำกัดว่า ลูกหนี้จะต้องเป็นหนี้เสีย หรืออยู่ในกลุ่ม SM ที่มีประวัติค้างชำระหนี้ไม่เกิน 90 วัน เพียงแต่มีประวัติค้างชำระ บางเดือนบางงวด หรือที่ผ่านมาเคยมีปัญหาคลุกคลิกในการชำระหนี้
โดยเกณฑ์การเข้าโครงการครั้งนี้ ลูกหนี้ต้อง “สมัครใจ” เข้าโครงการเอง ทั้งลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี และลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเบื้องต้น จะมีการทำสัญญาคล้ายปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ลูกหนี้จ่ายเฉพาะเงินต้นติดต่อกัน 12 เดือนต่อเนื่อง หากทำตามสัญญาต่อเนื่อง ภาระดอกเบี้ยทั้งหมดส่วนนี้แบงก์จะ “ยกเว้น” ให้
“โครงการนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน โดยเฉพาะลูกหนี้ ที่ต้องสมัครเข้าโครงการในการแก้หนี้ โดยเฉพาะการกำหนดว่า ช่วง 12 เดือนแรกลูกหนี้ต้องสามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง ตรงตามที่ปรับโครงสร้างหนี้ไว้ ถึงจะยกเลิก “ดอกเบี้ย” ให้ทั้งหมด และไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้ในช่วง ที่ทำสัญญาแก้หนี้
ดังนั้น ต้องรักษาวินัยต้องมีส่วนร่วมทำด้วยกัน ไม่มีใครได้อย่างเดียวและไม่ต้องเสียอะไร และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่อลูกหนี้กลุ่มนี้ออกจากโครงการลูกหนี้จะเบาตัวเยอะมาก”
เปิดทางผู้มีปัญหาชำระหนี้เข้าโครงการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหนี้ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่หากต้องการเข้าโครงการแก้หนี้ตามมาตรการนี้ การเข้าโครงการต้องขึ้นกับแบงก์เช่นเดียวกันว่า ลูกหนี้มีศักยภาพชำระหนี้ต่อไปหรือไม่ หรือมีปัญหาคลุกคลิกในการชำระหนี้ เหมือนที่ลูกหนี้แจ้งความประสงค์ไว้
ดังนั้น นอกจากลูกหนี้ประเมินตัวเองแล้ว ส่วนนี้แบงก์จะต้องประเมินลูกหนี้ด้วยเช่นกันว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ถดถอยลงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ดังนั้นต้องมีการเกณฑ์วัดหนี้เองก็ต้องมองเช่นกันถึงสามารถเข้าโครงการได้ ต้องมีเกณฑ์วัดบางอย่าง
มาตรการชุด 2 ยกหนี้ไม่เกิน5พัน
สำหรับมาตรการชุดที่ 2 เป็นมาตรการคล้ายตัด “ติ่งหนี้” โดยมีกำหนดวงเงินการค้างชำระหนี้สำหรับรายย่อย เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ต้องไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย
โดยจะกำหนดให้ลูกหนี้ ที่ค้างชำระหนี้ ที่เป็นหนี้เสียต่างๆ ต้องจ่ายเงินต้น 10-15% จากเงินค้างชำระทั้งหมด เพื่อล้างหนี้ ปิดหนี้ทั้งก้อนได้ทันที ซึ่งมาตรการนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ให้พ้นจากการเป็นหนี้ทั้งก้อน สำหรับลูกหนี้ที่มียอดการค้างชำระเพียงเล็กน้อย หรือไม่ตั้งใจค้างชำระ หรือไม่ทราบว่า มีหนี้ค้างชำระหนี้จนทำให้ลูกหนี้ตกเป็น “เอ็นพีแอล”
หนี้เสียพุ่ง 9.6 ล้านบัญชีไปไม่รอด
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า หากดูข้อมูลจากบัญชีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโร ณ สิ้นต.ค. พบว่า สินเชื่อบุคคลธรรมดารวม อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท ไม่เติบโตหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสินเชื่อไม่โต
แต่หากดูภาพ หนี้เอ็นพีแอล พบว่า สิ้นต.ค. มาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 13% จากเดือนก่อนหน้านี้ โดยในนี้ แยกเป็นหนี้บ้าน 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.6 แสนสัญญา , หนี้รถยนต์ 2.6 แสนล้านบาท 8.4 แสนสัญญา
บัตรเครดิต 7 หมื่นล้านบาท 1 ล้านสัญญา , สินเชื่อส่วนบุคคล 2.8 แสนล้านบาท 4.9 ล้านสัญญา , หนี้ทำธุรกิจ 7.9 หมื่นล้านบาท 1.7 แสนสัญญา และนาโนไฟแนนซ์ 1 หมื่นล้านบาท มีบัญชีค้างชำระ 2.5 แสนสัญญา โดยหากรวมทั้งหมด คิดเป็นหนี้เสียที่ 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นบัญชีที่เป็นหนี้เสียแล้ว 9.6 ล้านบัญชี
หนี้ค้างชำระอีก 6.6 แสนบัญชี
ส่วนหนี้ที่กำลังจะเสียหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือ SM พบว่าทั้งหมดมีจำนวน 6.6 แสนล้านบาท หรือ 2.2 แสนสัญญา หลักๆ คือสินเชื่อบ้าน 1.3 แสนสัญญา, สินเชื่อรถยนต์ 5.4 แสนสัญญา บัตรเครดิต 1.7 แสนใบ สินเชื่อส่วนบุคคล 7.9 แสนสัญญา เงินกู้ไปค้าขาย 6.7 หมื่นสัญญา และนาโนไฟแนนซ์ 5.5 หมื่นสัญญา
ซึ่งหากดูทั้งสองกลุ่ม ทั้งลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นบัญชีที่ไปไม่ไหวถึง 9.6 ล้านบัญชี และกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ในกลุ่ม SM อีก 6.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.1 ล้านบัญชี พบว่าทั้งสองกลุ่ม มียอดหนี้รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท และมีบัญชีที่ค้างชำระรวมกันถึง 11.82 ล้านสัญญา
ขณะที่ บัญชีที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้หลังจากเป็นหนี้เสียหรือการทำ TDR ตัวเลขสะสมมาอยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท เติบโต 3% และตัวเลขที่ทำปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ DR. เพื่อไม่ให้ไหลไปเป็นหนี้เสียตามเงื่อนไขการให้กู้อย่างรับผิดชอบ (RL) ตัวเลขสะสมตั้งแต่เมษายน 2567 สะสมมาอยู่ที่ 7.3 แสนล้านบาท 1.4 ล้านบัญชี
“แม้ว่าจะไม่ถือว่าเป็นหนี้เสียและการปรับโครงสร้างหนี้แบบนี้ไม่ใช่ TDR แต่ด้วยเวลานี้ความกลัวหนี้เสียมีอยู่มากมายลูกหนี้รายไหนที่มีบัญชีสินเชื่อที่ทำ DR ก็มักจะถูกปฏิเสธการให้กู้เพิ่ม การให้กู้ใหม่ จนเป็นที่มาของเสียงที่ร้องเรียนมาเยอะมากช่วงนี้”
สุดท้าย คือ บัญชีที่เป็นหนี้เรื้อรัง ล่าสุดมีคนเข้าร่วมโครงการเพียง 7.7 พันบัญชี จำนวนเงิน 354 ล้านบาทเท่านั้น