‘ทีทีบี’ชี้ “ความยั่งยืน’ไม่ใช่กระแสชั่วคราว แต่เป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจ

‘ทีทีบี’ชี้ “ความยั่งยืน’ไม่ใช่กระแสชั่วคราว แต่เป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจ

“ทีทีบี”ชี้การไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยต้องฝ่าโจทย์หลายด้าน คาดต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล มองแบงก์มีหน้าที่ช่วยธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน ชี้กระแสความยั่งยืนไม่ใช่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่คือมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต(ทีทีบี) กล่าวในงานสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2025 Synergizing for Driving Business ที่จัดขึ้นโดย “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ปัจจุบันสังคมตื่นตัวมากขึ้น เกี่ยวกับ “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ประเทศไทยเองประกาศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และเข้าสู่ Net zero ในปี 2063 แต่การจะบรรจุเป้าหมายตรงนั้นได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก หรือการปฏิรูปครั้งใหญ่ 

โดยมองว่า มีโจทย์ค่อนข้างมากที่ประเทศไทยต้องทำ เพื่อให้ประเทศไปสู่ Net zero ให้ได้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ที่ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานทางเลือกเพียง 13% แต่ใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน และถ่านหินค่อนข้างมาก โจทย์ที่สอง การที่จะให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านไปสู่  Scope 2-3 ได้ ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล 

การที่ประเทศไทย ประกาศจะไปสู่ Net zero ได้ จากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD) ต้องมีพลังงานทางเลือกถึง 68%ในปี 2040 และ 75% ในปี 2050 ซึ่งการไปสู่จุดนั้นได้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากกว่า 8 แสนล้านบาท

ส่วนที่สอง การที่จะทำให้ภาคธุรกิจ ไปสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน เกษตร ภาคพาณิชย์ ต้องทรานฟอร์มตัวเอง ไปสู่การลดคาร์บอน เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เหล่านี้ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 9 แสนล้านบาท ใน ช่วง 10-15ปีข้างหน้า 

ดังนั้นหน้าที่ของสถาบันการเงิน คือการสนับสนุนด้านเงินทุน Finance Project โดยปัจจุบันเป้าหมายในการไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของ “ทีทีบี”ถือว่าสอดคล้องกับสังคม และของประเทศ แต่ธุรกิจแบงก์แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจแบงก์เป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนฯต่ำมาก

ดังนั้นการจะไปสู่ Scope 3 คือการมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนในพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร โดยการทำให้พอร์ตสินเชื่อเป็นกรีน โดยการเข้าไปซับพอร์ต ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น แบงก์จึงเป็นกลไกที่สำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติของธนาคาร เพื่อสนับสนุนลูกค้าไปสู่ความยั่งยืนนั้น สิ่งแรกๆที่ธนาคารเริ่มต้นทำคือ ตัวธนาคารเองต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมใด ลูกค้ารายใด ที่อาจได้รบผลกระทบจากกฏเกณฑ์ หรือกติกาต่างๆของโลก ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมก่อนอันดับต้นๆ  

และถัดมาคือ ดูว่าบริษัทเหล่นี้มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่มีความพร้อมมีโนฮาวน์ ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนค่อนข่างมาก ต่างกับ ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีโนฮาวน์มีเงินทุน มีความตระหนักรู้ มีเงินทุนไม่มากนัก ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา

ธนาคารจึงพยายามจัดงานสัมมนาฯ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ถึงประโยชน์ในการลดคาร์บอนฯ รู้ว่าการไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นต้องเริ่มจากจุดไหน ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจัดสัมมนาฯจากการเซอร์เวย์ของธนาคารพบว่า มีบริษัทเอสเอ็มอีมีโครงการเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

สุดท้ายแล้ว เขาเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญในการสนับสนุนธุรกิจต่างๆไปสู่ความยั่งยืนได้ สิ่งสำคัญคือ การสร้างความ “ตระหนักรู้” ในเรื่องกระแสความยั่งยืนว่า ไม่ใช่เป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะเป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจใหม่ ซึ่งสิ่งนี้และจะอยู่กับเราไปตลอด ให้ตระหนักว่าสิ่งนี้คือมาตรฐานในการทำธุรกิจในอนาคต 

และสิ่งสำคัญคือการทำให้ภาคธุรกิจ นำความยั่งยืนต่างๆ มาปรับใช้ในกลยุทธ์ของธุรกิจขององค์กร เพราะ การปรับตัวด้าน ESG ไม่ใช่ลงทุนครั้งเดียวจบ แต่การปรับตัวครั้งนี้ เหมือนวิ่งมาราธอน ต้องมีการวางแผนว่ากระแสที่เข้ามา ต้องเริ่มที่จุดไหนขององค์กร ที่จะมีอิมแพคมากที่สุด ควรเริ่มตอนไหน ควรลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นการลงทุนเพื่อระยะยาว 

ฉะนั้นสิ่งสำคัญ ของธนาคารคือ การทำให้ธุรกิจ Incorporate ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่ว่าจะดำเนินการด้านการตลาด หรือสิ่งใดๆก็ตาม 

อีกส่วนที่สำคัญ คือการวัด Carbon footprint ที่แม้เป็นค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่อีกด้านก็เป็นเสมือนการตรวจสุขภาพองค์กร ให้ทราบว่าการใช้พลังงานสิ้นเปลืองตรงจุดใด เพื่อใช้ผลเหล่านี้เพิ่มผลิตผล ปรับปรับประสิทธิภาพให้กับองค์กร เพราะการลดพลังงาน เท่ากับลดค่าใช้จ่าย การลดพลังงาน เท่ากับการลด Carbon footprint  

ดังนั้นอยากให้มองว่าการทำสิ่งเหล่านี้ การวัด Carbon footprint เป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสุขภาพที่ดีขององค์กร 

“สิ่งสำคัญ ในการไปสู่ความยั่งยืน คือการสร้างความตระหนักรู้ ว่านี่คือมาตรฐานการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ ให้นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ปรับเปลี่ยน นำไปใช้ในทุกส่วนขององค์กร และเชื่อว่าหากทำได้ดี จะเป็นทั้งโอกาส และสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน”