แบงก์แข่งเดือดสินเชื่อบ้าน ชิงเค้กลูกค้ากลุ่มบน

แบงก์แข่งเดือดสินเชื่อบ้าน  ชิงเค้กลูกค้ากลุ่มบน

“แบงก์ชาติ” รับหนี้เสียบ้านพุ่ง ส่งผลแบงก์ปล่อยกู้บ้านต่ำ 5 ล้านบาทดิ่ง “ซีไอเอ็มบีไทย - เคเคพี - ไทยพาณิชย์” หัน “แข่งขัน” ปล่อยสินเชื่อกลุ่มตลาดบน ส่งผลให้เห็นการแข่งขันด้าน “ดอกเบี้ย” รุนแรง

สถานการณ์ปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย” ยังน่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ “สินเชื่อบ้าน” จากการปล่อยสินเชื่อบ้านที่อยู่ในภาวะชะลอตัว หลังจากธนาคาร (แบงก์) หันมาเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้น ภายหลังหนี้เสีย หรือ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือ “เอ็นพีแอล” ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

จากการรายงานของ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร” มีการเปิดเผยยอดปล่อยสินเชื่อบ้านแผ่วลงต่อเนื่อง โดยปีก่อนยอดการเปิดบัญชีใหม่ของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท แต่ไตรมาสแรกปีนี้ มีการเปิดบัญชีใหม่ของสินเชื่อบ้านเพียง 5.9 หมื่นบัญชี สะท้อนสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่แผ่วลง สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่พบว่า “ไม่ผ่าน” การอนุมัติสูงขึ้น

ส่วนหนึ่งมาจาก “หนี้เสียบ้าน” ที่อยู่ระดับสูง โดยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นหนี้เสียถึง 20% หากเทียบกับหนี้เสียโดยรวมบนระบบของเครดิตบูโรที่อยู่ราว 1.09 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดค้างชำระหนี้ ที่ยังไม่เกิน 90 วัน หรือ “กลุ่ม SM” พบว่ามีถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 15% โดยในนี้ราว 1.2 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อภายใต้แบงก์รัฐ

 

ธปท.ชี้ยอดปล่อยกู้บ้านต่ำ 5 ล้านบาทวูบ

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลอง และวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นภาพธนาคารหันมาระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น

โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่ธนาคารมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงมา ที่เห็นสินเชื่อมีการปล่อยน้อยลงเหล่านี้มาจากการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับความเสี่ยง เพราะห่วงด้านคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล และคุณภาพผู้กู้ที่ด้อยลง 

ดังนั้น จะเห็นหลายธนาคารปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อไปโฟกัสกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยจะส่งผลให้ธนาคารหันมาปล่อยกู้ในกลุ่มเซกเมนต์ที่มีรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาบ้านเกิน 3-5 ล้านบาทขึ้นไป

“เราเห็นระมัดระวังมากขึ้น ดูจากการปล่อยสินเชื่อบ้านโดยรวม ที่พบว่า ในสินเชื่อเกิน 5 ล้านบาทลงมา มีการปล่อยสินเชื่อต่ำลง เหล่านี้มาจากการปรับเรื่องความเสี่ยง เพราะห่วงในด้านคุณภาพหนี้ของผู้กู้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยเฉพาะรายได้ต่ำ แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเซกเมนต์ของธนาคารรัฐ ที่ดูแล และสนับสนุนกลุ่มนี้อยู่แล้ว”

ราคาบ้านต่ำ 3 ล้านบาท ยอดปฏิเสธพุ่ง

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แบงก์มีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากยอดปฏิเสธยอดปล่อยสินเชื่อบ้านในช่วงที่ผ่านมา ของทั้งตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทลงมา ที่พบว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะกลุ่มรายได้อิสระที่พบว่ามียอดขอสินเชื่อบ้านของทั้งระบบ ที่พบว่ายอดปล่อยสินเชื่อลดลง ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพผู้กู้ที่ด้อยคุณภาพลง จากรายได้ที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้น ในส่วนซีไอเอ็มบีไทย เน้นปรับกลยุทธ์ในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อลง โดยมุ่งไปสู่กลุ่มที่มีศักยภาพในการขอสินเชื่อบ้านมากขึ้น เช่น กลุ่มที่มีความสามารถซื้อบ้านราคา 3-5 ล้านบาทขึ้นไป หรือราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้บางส่วนคุณภาพยังดีในด้านความสามารถชำระหนี้ที่ยังดี

“ปัจจุบันหลายกลุ่มต้องระวัง ไม่เฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่ต้องระวังมากขึ้น แต่เราพบว่า กลุ่มที่แต่ก่อนมีความสามารถซื้อบ้านราคา 3-5 ล้านบาท ตอนนี้เริ่มลามมามีปัญหาชำระหนี้มากขึ้น ดังนั้น กลุ่มนี้ก็ต้องดูมากขึ้น ดังนั้น กลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท และกลุ่ม 5 ล้านบาท ยังเป็นกลุ่มที่ธนาคารโฟกัสมากขึ้น”

กลุ่มบนแข่งขัน ‘ดอกเบี้ย’ ร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม จากการที่แบงก์หันมาแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มบน หรือราคาบ้าน 3-5 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น ส่งผลให้เห็นการแข่งขันด้านดอกเบี้ยรุนแรง โดยจะเห็นได้จากดอกเบี้ยบ้านในช่วง 3 ปีแรกที่ดอกเบี้ยยังไม่ถึง 3% หรือระดับ 3% ต้นๆ เท่านั้น แม้ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง

สะท้อนว่า ธนาคารหันมาลดมาร์จิ้นลงมา เพื่อแข่งขันในการแย่งชิงลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ระดับสูง และกลุ่มบน ที่หลายธนาคารยังมองว่าเป็นกลุ่มที่ยังสามารถเติบโตได้อีก 

นอกจากนี้ กลยุทธ์ธนาคารยังหันมาโฟกัสในกลุ่มสินเชื่อบ้านแลกเงินมากขึ้น เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนต้องการสภาพคล่องเพื่อใช้หมุนเวียนเพื่อใช้ดำรงชีพ และประกอบธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น คาดว่าสินเชื่อบ้านแลกเงินปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 15-20% จากปีก่อนได้

สำหรับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดว่าการเติบโตสินเชื่อบ้านใหม่นี้มีโอกาสพลาดเป้าค่อนข้างสูง จากเดิมที่ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อปีนี้ไม่ต่ำกว่า 20% จากการระมัดระวัง และการตัดสินใจชะลอซื้อบ้าน จากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เอื้อส่งผลให้ผู้กู้บางส่วน หันมาตัดสินใจชะลอซื้อบ้านไปก่อน

“ธนาคารมีการปรับกลยุทธ์การให้สินเชื่อมากพอสมควร โดยหลายแบงก์ปรับไปโฟกัสกลุ่มที่ซื้อบ้านเกิน 3-5 ล้านบาทมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันด้านดอกเบี้ยค่อนข้างมาก ดังนั้น ด้วยหลายปัจจัยมองว่าสินเชื่อบ้านมีโอกาสที่สินเชื่อต่ำเป้าได้ปีนี้”

เคเคพีหันโฟกัสกลุ่มบ้านเกิน 5-7 ล้านบาท

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวว่า กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อธนาคาร หันไปโฟกัสในกลุ่มสินเชื่อบ้านราคาเกิน 5-7 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น ซึ่งธนาคารไม่ได้เข้มงวด หรือตั้งใจในการปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท แต่หากดูจากข้อมูลการค้างชำระหนี้ และหนี้เสียบน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ที่พบว่ามียอดการค้างชำระหนี้บ้านสูงขึ้น และกลุ่มที่มีรายได้ ซื้อบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้ต่อรายได้ค่อนข้างสูง ทำให้ผ่านการอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างน้อยในช่วงที่ผ่านมา

“สินเชื่อบ้านเราหันมาโฟกัสกลุ่มราคาบ้านเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป และเกิน 7 ล้านบาทขึ้นไป เพราะกลุ่มต่ำกว่า 5 ล้านบาท ไม่ใช่แบงก์ตั้งใจไม่ปล่อยกู้ แต่ข้อมูลค้างชำระหนี้ และรายได้ผู้กู้ที่จำกัด มีภาระหนี้ต่อรายได้สูง ซึ่งเราไม่ได้กีดกันไม่ได้รังเกียจแต่ตัวเลขไม่ได้ ทำให้ผ่านการอนุมัติสินเชื่อน้อย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ภาระหนี้ค่อนข้างเต็ม”

ทั้งนี้ยอมรับว่า การหันมาแข่งขันกลุ่มราคาบ้านเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป มีการแข่งขันด้านดอกเบี้ยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแข่งขันบนดอกเบี้ยลอยตัว ไม่ได้แข่งขันบนดอกเบี้ยคงที่ในช่วงโปรโมชัน 3 ปีแรก ดังนั้นแม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะไม่มาก แต่แบงก์ไม่ได้ขาดทุน ดังนั้นยังสามารถแข่งขันได้ 

ไทยพาณิชย์โฟกัสบ้านเกิน 5 ล้าน

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารยอมรับว่าระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย โดยภายใต้การระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องเลือกโฟกัสในกลุ่มที่ยังมีศักยภาพ 

โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่ราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ที่ยังเป็นโฟกัสหลักของธนาคาร หากราคาต่ำกว่าระดับดังกล่าวธนาคารยังคงตั้งการ์ดสูง

ดังนั้น บนการเติบโตสินเชื่อปีนี้ธนาคารคาดว่า น่าจะเติบโตเพียงระดับ 1-2% ควบคู่กับการช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบางในการ Soft Landing เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์