กูรูทองคำ เปิด 3 ปัจจัย ชี้จุดพลิก ราคา 'ร่วงหรือพุ่ง'

กูรูทองคำ เปิด 3 ปัจจัย ชี้จุดพลิก ราคา 'ร่วงหรือพุ่ง'

ท่ามกลางความกังวล หลังจากมีข่าว การโจมตีตอบโต้ระหว่าง อิหร่านกับอิสราเอล ทำให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองคำ ด้วยความตื่นตระหนก หนุนทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ดันราคาทองโลก-ทองไทย พุ่งพรวดเดียว แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ สิ้นสัปดาห์ก่อน (19 เม.ย.)

ในเดือน เม.ย. 2567 ราคาทองโลก ทำออลไทม์ไฮใหม่ ที่ระดับ 2,431 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และผสานกับ “เงินบาทอ่อนค่า” แตะบริเวณ 36.86 บาทต่อดอลลาร์ส่งผลเป็นปัจจัยหนุนต่อทองไทย (ทองแท่ง) พุ่งที่ระดับ 42,000 บาท

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีข่าว การโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่าน เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจุดประสงค์เพื่อทำลายล้าง และอิหร่านไม่มีแผนตอบโต้อิสราเอลในทันที ทำให้นักลงทุนคลายกังวลต่อการทำสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล

ตั้งแต่วันหยุดที่ผ่านมาเริ่มเห็น ราคาทองโลกพลิกร่วง วานนี้ ( 22 เม.ย.2567 ณ 15.30 น.)หลุดระดับ 2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ทองไทย (ทองแท่ง) ปรับตัวลงรวมทั้งสิ้น 300 บาท เคลื่อนไหวผันผวนปรับขึ้นลงรวม 13 ครั้ง เป็นการปรับขึ้น 4 ครั้งและการปรับลง 9 ครั้งอยู่ที่ระดับ 41,400 บาท สูงสุด 41,600 บาท (ราคาเปิด) ต่ำสุด 41,350 บาท

กูรูทองคำ เปิด 3 ปัจจัย ชี้จุดพลิก ราคา \'ร่วงหรือพุ่ง\'

หลังจากนี้แนวโน้มทองคำ “ขึ้นหรือลง” มาจากปัจจัยอะไรที่จะเป็นจุดพลิกพัน "กูรูทองคำ" โดยฝ่ายวิเคราะห์ทองคำบริษัทวายแอลจีบูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด หรือ YLG คาดการณ์ทิศทางราคาทองคำ ประกอบด้วย “3 ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ” ดังนี้

1.ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)

2.ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

3.ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลก

"พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG ให้มุมมองว่าหากมองราคาทองคำ “ระยะสั้น” อาจเริ่มเห็น “ปัจจัยเสี่ยงต่อการปรับตัวลง” จากความเสี่ยงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงไว้นานและปรับลดดอกเบี้ยในสัดส่วนที่น้อยกว่าข้อมูล Dot Plot จากการประชุมครั้งล่าสุด ที่ระบุคาดการณ์ว่าอาจลดได้ 25 bps ทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2567

หันไปมอง CME FedWatch Tool ปรากฏว่า คาดการณ์ตลาด ณ ปัจจุบัน มองเฟดจะลดดอกเบี้ยในปี2567 ได้ 25 bps เพียง 1-2 ครั้ง ในช่วงไตรมาส 3/2567 และไตรมาส 4/2567 ซึ่งเป็นผลมาจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ที่ได้กล่าวว่า เงินเฟ้อในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่ได้มีความคืบหน้าในการปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ข้อมูลไม่ได้ทำให้มั่นใจมากขึ้น จึงคิดว่านโยบายการเงินควรจะอยู่ในระดับที่คุมเข้มต่อไปเพื่อรับมือกับความเสี่ยง

รวมถึง ความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านคลี่คลายลงหรือไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จะเป็นลักษณะPanic Buyที่ขึ้นอยู่กับความกังวลว่าสถานการณ์อาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นแม้สถานการณ์ยืดเยื้อ แต่ไม่ได้มีสัญญาณความรุนแรงที่มากขึ้น หรือ ไม่ได้มีความเสียหายมากนักทองคำอาจเกิดแรงขาย Sell on fact ในภายหลังเช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน

แต่ในทางกลับกันราคาทองคำ อาจเริ่มเห็น “ปัจจัยสนับสนุนต่อการปรับตัวขึ้นต่อได้”แม้จะมีความเป็นไปได้ไม่สูงมากนัก แต่หากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านปะทุรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นที่สหรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรงในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสองครั้งล่าสุด ในสงครามอิรัก–คูเวต ที่สหรัฐเข้าร่วมด้วย หรือวินาศกรรม 9/11 ความรุนแรงในระดับดังกล่าวนั่นเอง

และหากมอง“ระยะยาว"แล้ว“ทองคำ”ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนที่"ค่อนข้างแข็งแกร่ง” “พวรรณ์” มองว่า ท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็จะเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลง หรือหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2568 จะเป็นแรงผลักดันความต้องการในทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการทองคำจากบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางกระแส De-Dollarization (การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ)เป็นผลต่อเนื่องมาจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น กรณีที่สหรัฐอายัดเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นทุนสำรองของรัสเซีย เรามองว่า ความต้องการในส่วนนี้จะเป็นแรงหนุนทองคำในระยะยาว

"เนื่องจากกลยุทธ์ของธนาคารกลางจะเป็นลักษณะการวางแผนระยะยาวที่จะค่อยๆ ลดสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วเปลี่ยนมาสำรองทองคำเพิ่มขึ้น ด้วยกลยุทธ์ที่ไม่อ่อนไหวต่อราคา ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ความเสี่ยงที่ธนาคารกลางจะเทขายทองคำนั้นจึงค่อนข้างต่ำ เห็นได้จากพฤติกรรมธนาคารกลางทั่วโลกในช่วงปี 2567และปี 2568 ที่เข้าซื้อทองคำสุทธิกว่า 1,000 ตันต่อปี"

กลยุทธ์การลงทุนทองคำในช่วงนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ทองคำ YLG มองว่า แนวโน้มหลักที่มีปัจจัยคอยสนับสนุนราคาทองคำระยะยาว แต่อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะสั้นในลักษณะ Buying Climax เป็นการแกว่งตัวลงมาในกรอบเกือบ 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในวันที่ราคาทองคำขึ้นทำ All Time High ที่ระดับ 2,431 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนะรอจังหวะการย่อตัวลง เพื่อทำการเข้าซื้อหากราคาสามารถยืนเหนือระดับต่ำสุดของสัปดาห์ได้ ซึ่งให้เป็นแนวรับแรกที่ระดับ2,324 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับถัดไปเป็นระดับต่ำสุดของเดือนเม.ย.2567ที่ระดับ2,228 ดอลลาร์ต่อออนซ์

โดยเน้นการเก็งกำไรจากการแกว่งตัวพิจารณาแบ่งขายเพื่อทำกำไรเมื่อราคาปรับตัวขึ้นไปทดสอบ All Time High ที่ระดับ 2,431ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมมองเป้าหมายถัดไปที่2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์และหากเฟดลดดอกเบี้ยปีนี้ 3 ครั้ง มีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปทำออลไทม์ไฮครั้งใหม่ที่ 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนทองไทยราคาทองแท่ง 96.5% (คำนวณด้วยค่าเงินบาทถัวเฉลี่ยย้อนหลังสองสัปดาห์ ณ ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์) จะได้โซนแนวรับที่38,800 -40,300 บาทและแนวต้าน 42,200-43,400 บาท

 “พีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท ออสสิริส จำกัด มองว่า จากปัจจัยนักลงทุนรุกเข้าซื้อทองคำในฐานสินทรัพย์ปลอดภัยหลังเกิดความวิตกในตลาดเกี่ยวกับการโจมตีตอบโต้ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่จะกระตุ้นแรงซื้อ

ประกอบธนาคารกลางทั่วโลก เดินหน้ารุกซื้อทองคำเข้าระบบทุนสำรองนั้น ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุน ราคาทองคำพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

เรายังคงคาดการณ์ “ทองโลก” เคลื่อนไหวเฉลี่ย2,300-2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปีนี้และยังเป็นเทรนด์ขาขึ้น ไซด์เวย์อัพ เมื่อราคาย่อตัวยังไปต่อได้เป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางที่ 2,400-2,431 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับ “ราคาทองไทย” แนะยังซื้อสะสมได้ต่อเนื่อง ตามเทรนด์ขาขึ้นทองโลกและที่สำคัญ เงินบาทอยู่ในโมเมนตัมอ่อนค่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี ราคาทองแท่ง ให้ผลตอบแทนเกือบ 25% หรือ เกือบ 8,300 บาท นับตั้งแต่ต้นปี จากราคาขายออกต่ำสุดของปีที่ราคา 33.400 บาท