อะไรเกิดขึ้นกับราคาทองคำและบทบาทธนาคารกลาง

อะไรเกิดขึ้นกับราคาทองคำและบทบาทธนาคารกลาง

อาทิตย์ที่แล้วราคาทองคำตลาดโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แตะระดับ 2,332 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งทรอยออนซ์วันที่ 10 เมษายน

วันเดียวกันรายการ Money Chat ขอสัมภาษณ์ผมเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นธนาคารกลางในภูมิภาคเข้าซื้อทองคำมากในรอบนี้ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งผมก็ให้ความเห็นไป วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

ทองคำถือเป็นสินค้าประเภทโลหะมีค่า ที่ราคากำหนดโดยกลไกตลาดคืออุปสงค์และอุปทาน อุปสงค์หรือความต้องการที่มาจากการใช้ในอุตสาหกรรม การทำเครื่องประดับ และการถือครองเป็นสินทรัพย์ลงทุนโดยประชาชนทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และธนาคารกลาง

ส่วนอุปทานหมายถึงปริมาณทองคำที่เข้าสู่ตลาดในแต่ละปี จะมาจากสองแหล่ง หนึ่ง ทองคำขุดใหม่ที่ถูกนําเข้าตลาด ซึ่งแต่ละปีผลผลิตทองคำทั่วโลกจะประมาณ 2,500 ถึง 3,000 เมตริกตัน

สอง ทองคำที่ผลิตในอดีต ถือเก็บไว้และถูกนําออกมาขาย ในแต่ละปีปริมาณทองคำใหม่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของอุปทานทองคําทั้งหมด

ดังนั้น อุปทานที่กําหนดการเคลื่อนไหวของราคาทองคําในตลาด จะมาจากการตัดสินใจของผู้ที่ถือทองคำอยู่ที่จะขาย ซึ่งในจำนวนผู้ถือทองคำรายใหญ่ของโลกส่วนหนึ่งก็คือธนาคารกลาง และที่ใหญ่สุดคือธนาคารกลางสหรัฐ ถือครองประมาณ 8,100 เมตริกตัน

ปีนี้ อุปสงค์ทองคำทั้งจากผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างผิดปรกติ แต่ที่ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นมากส่วนหนึ่งมาจากการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางหลายประเทศ และอีกส่วนมาจากการซื้อของนักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารกลางเพื่อกระจายการลงทุน

ดังนั้น ถ้าจะเข้าใจว่าทำไมราคาทองคำเพิ่มขึ้นสูงมากปีนี้ ก็มีสองคําถามที่ต้องตอบ หนึ่ง ทําไมธนาคารกลางเร่งซื้อทองคําตอนนี้ สอง ทําไมนักลงทุนเลือกที่จะซื้อทองคำมากขึ้นตอนนี้เช่นกัน

ปรกติธนาคารกลางซื้อทอง เพราะทองคำเป็นส่วนหนึ่งของทุนสํารองทางการของประเทศ ทุนสํารองทางการโดยทั่วไปประกอบด้วย

หนึ่ง เงินสกุลต่างประเทศที่นับเป็นทุนสํารองเงินตราตามนิยามไอเอ็มเอฟคือเป็น Reserve currency เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน ปอนด์อังกฤษ

สอง ทองคําหรือ Gold 

สาม สิทธิการกู้ยืมพิเศษ (SDR)

อะไรเกิดขึ้นกับราคาทองคำและบทบาทธนาคารกลาง

ที่ไอเอ็มเอฟจัดสรรให้ประเทศสมาชิกที่นับเป็นทุนสํารองทางการ สำหรับสัดส่วนทุนสำรองทางการว่าจะเป็นเงินตราต่างประเทศเท่าไร จะถือในสกุลไหน ในตราสารประเภทไหน และเป็นทองคำเท่าไร ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการบริหารทุนสำรองทางการของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจัยพิจารณาสําคัญก็คือ สภาพคล่อง ความเสี่ยง และผลตอบแทน

ตัวอย่างเช่นถ้าเราเป็นประเทศที่ไม่รวยมาก มีทุนสํารองน้อย ต้องใช้เงินตราต่างประเทศส่วนใหญ่เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ปัจจัยด้านสภาพคล่องจะสําคัญและทุนสำรองส่วนใหญ่จะถือในรูปเงินสกุลต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ

แต่ถ้าเราเป็นประเทศที่มีฐานะ มีทุนสำรองมาก เราก็ถือทุนสำรองทั้งเพื่อสภาพคล่อง นําไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน หรือถือในสินทรัพย์ที่จะให้ความมั่นคงระยะยาวเช่น ทองคำ

ต่อคําถามแรก การเข้าซื้อทองคํามากขึ้นของธนาคารกลางเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่าสองปี นําโดย จีน สิงคโปร์ ตุรกี อินเดีย เหตุผลหลักก็คือการกระจายทุนสํารองทางการออกจากสินทรัพย์เงินสกุลหลักเช่น ดอลลาร์สหรัฐ ไปสู่สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ

อะไรเกิดขึ้นกับราคาทองคำและบทบาทธนาคารกลาง

ซึ่งนัยการตัดสินใจอาจมาจาก

หนึ่ง ความต้องการปรับสัดส่วนของการถือทองคําในทุนสํารองทางการให้สูงขึ้น ใกล้เคียงกับสัดส่วนที่ควรมี ไม่กระจุกอยู่กับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป หรือ

สอง ความห่วงใยในความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีที่มากขึ้น ทั้งจากสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความไม่ชัดเจนในเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศหลักระยะยาวจากปัญหาที่มี เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐ นําไปสู่การกระจายเข้าสู่สินทรัพย์ที่จะปลอดภัยระยะยาว (Safe heaven) เช่น ทองคำ

สาม ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจะไม่ตํ่าอีกต่อไป ทําให้การถือทองคำมากขึ้นจะรักษาอำนาจซื้อของทุนสำรองทางการที่ประเทศมีได้ดีกว่าการถือสินทรัพย์อื่น (Inflation hedge)

นี่คือเหตุผลหรือความเป็นไปได้ที่น่าจะอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของธนาคารกลางที่ซื้อทองคำมากขึ้นในรอบนี้ และน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวของราคาทองคําในระยะยาว

อีกส่วนหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทองคําปีนี้โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนมีนาคม มาจากการลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารกลาง ที่ทำให้ราคาทองคำเร่งตัวขึ้นมาก

อะไรเกิดขึ้นกับราคาทองคำและบทบาทธนาคารกลาง

เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า แม้ทองคำจะถูกมองว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ตลาดทองคำจะทำงานเหมือนตลาดสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทั่วไป เช่น บ้านหรือที่อยู่อาศัย ไม่ใช่แบบสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะอุปทานทองคำในช่วงใดช่วงหนึ่งจะไม่ถูกจํากัดโดยวัฏจักรการผลิต แต่จะขึ้นอยู่กับราคาที่ซื้อขาย

คือถ้าราคาสูงพอก็จะมีคนที่มีทองคำอยู่นําออกมาขาย ทำให้มีอุปสงค์อุปทานทองคําในทุกระดับราคา ที่สำคัญเครื่องมือที่นักลงทุนจะใช้ลงทุนในทองคําก็มีการพัฒนาไปมาก เช่น ETF ทําให้การซื้อขายมีความคล่องตัว เข้าถึงได้โดยนักลงทุนรายย่อย มีสภาพคล่อง ความต้องการลงทุนในทองคําจึงก้าวกระโดด

สําหรับเหตุผลที่ทําให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในทองคำรอบนี้ก็มาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่นักลงทุนคาดว่าจะปรับลดลง อัตราดอกเบี้ยที่จะต่ำลงทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตไปสู่สินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า

เราจึงเห็นราคาทองคำ หุ้น คริบโต ล้วนปรับสูงขึ้นเป็นนิวไฮไปหมด และที่ควรสังเกตคือ เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดออกมาสูง ทําให้ตลาดคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจต้องชะลอไปถึงช่วงครึ่งปีหลัง การปรับขึ้นของราคาทองคำก็เริ่มชะลอ ล่าสุดวันเสาร์ราคาอยู่ที่ 2,344 ต่อหนึ่งทรอยออนซ์ ขึ้นต่อเล็กน้อยจากวันที่ 10 เมษายน

นี่คือความเห็นที่ผมให้ไป ราคาทองคำที่ทํานิวไฮรอบนี้ มาจากปัจจัยระยะสั้นและระยะกลาง ระยะกลางคือการกระจายทุนสำรองทางการของธนาคารกลาง ส่วนระยะสั้นคือการคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะลง

ท้ายสุดมีคําถามว่าถ้านักลงทุนย้ายเข้าทองคำ ทําไมเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า คําตอบคือความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ที่ยังอ่อนแอ

อะไรเกิดขึ้นกับราคาทองคำและบทบาทธนาคารกลาง

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]