เทียบฟอร์ม 3 ยักษ์ใหญ่ ‘เอสซีบี เอกซ์’ งัดเทคโนโลยี แข่ง Virtual bank

เทียบฟอร์ม 3 ยักษ์ใหญ่ ‘เอสซีบี เอกซ์’ งัดเทคโนโลยี แข่ง Virtual bank

เทียบฟอร์ม 3 ยักษ์ใหญ่ ลงสนามชิงไลเซนส์ Virtual bank ‘เอสซีบี เอกซ์’ ผนึกพันธมิตรแบงก์ดิจิทัลอันดับหนึ่งเกาหลี - จีน ใช้เทคโนโลยีเจาะผู้มีรายได้น้อย

เทียบฟอร์ม 3 ยักษ์ใหญ่ ‘เอสซีบี เอกซ์’ งัดเทคโนโลยี แข่ง Virtual bank ยังไม่ทันได้ลงสนามจริง แต่การแข่งขันก็ดุเดือดตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับสนามแข่งที่เรียกว่า Virtual bank หรือธนาคารไร้สาขา หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้ที่สนใจจัดตั้ง Virtual bank ยื่นสมัครขอไลเซนส์ หรือใบอนุญาตได้ตั้งแต่ 20 มี.ค. จนถึง 19 ก.ย.2567 หรือคิดเป็นเวลา 6 เดือนเต็ม โดยเบื้องต้น ธปท. กำหนดให้ไลเซนส์ในการจัดตั้ง Virtual bank ในระยะแรกเพียง 3 ไลเซนส์เท่านั้น

หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ เริ่มออกมาประกาศความสนใจ ในการเข้าร่วมจัดตั้ง Virtual bank เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้า ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบันได้ เช่น กลุ่มรายได้ต่ำ (Underserved) หรือที่เอกสารทางการเงินมีไม่เพียงพอ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมไปถึงเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่อดีตเคยถูก “สถาบันการเงิน” หรือผู้ให้บริการทางการเงิน (นอนแบงก์) ปฏิเสธสินเชื่อมาก่อน กลุ่มเหล่านี้มีอีกจำนวนมากทั่วประเทศไทย

 

ยักษ์ใหญ่ที่สนใจร่วมลงแข่งในสนาม Virtual bank ครั้งนี้ มีใครบ้าง? หลักๆ คือ 3 ทุนใหญ่ ที่ออกมาประกาศตัวแล้ว เริ่มต้นที่ กลุ่มแรก “เอสซีบี เอกซ์” ที่เดินหน้าลุย Virtual bank เต็มสูบ และล่าสุดได้เปิดตัวพันธมิตรทางธุรกิจรายที่ 3 คือ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน หลังก่อนหน้านี้ ประกาศจับมือกับ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ KakaoBank ไปแล้วเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา

จุดเด่นของกลุ่ม “เอสซีบี เอกซ์” ในการเข้ามาช่วงชิง 3 ไลเซนส์แรก หากดูถึงความพร้อมถือว่ามีเต็มเปื่ยม ทั้งประสบการณ์ของทำธุรกิจธนาคาร ทั้งความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ที่ถือเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ลูกค้า และใช้ต่อยอด ในธุรกิจ Virtual bank ได้

อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX มองว่าการเข้ามาชิงเค้กในสนามของ Virtual bank เป้าหมายหลักคือ การเข้ามาตอบโจทย์ผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน กลุ่มด้อยโอกาส Underbanked Underserved เหล่านี้ก็เพื่อช่วย “ลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้” เพื่อช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยให้กลับมาได้รับโอกาสทางการเงินอีกครั้ง!

หลายคนมองว่า การมีฐานลูกค้าเดิมจำนวนมาก นั่นอาจเป็นประตูสำคัญในการทำธุรกิจนี้ แต่ “อาทิตย์” ไม่ได้มองเช่นนั้น เขามองว่า Virtual bank ไม่ใช่ส่วนขยายเดิมของแบงก์ ดังนั้น การที่จะมีฐานลูกค้าในปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่อาจเข้าไปปิดช่องโหว่ หรือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันแม้มีผู้เล่นในระบบการเงินจำนวนมาก ทั้งสถาบันการเงิน นอนแบงก์ นาโนไฟแนนซ์ ฟิโก้ไฟแนนซ์ เหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง จึงเป็นที่มาที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Virtual bank

ดังนั้น การเข้าถึงลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบันได้ “เทคโนโลยีที่ดี” จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่ทำให้ “เอสซีบี เอกซ์” เข้าใกล้กลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น

จึงเป็นที่มาว่า ทำไม เอสซีบี เอกซ์ ถึงเลือกจับมือกับ “KAKAO Bank” ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ด้วย “จุดแข็ง” ของ Kakao bank ที่มีจุดแข็ง และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ Virtual Bank ผ่านการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

บนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ KAKAO Bank ประสบความสำเร็จ หรือสร้างสถิติใหม่ในวงการธนาคารของเกาหลีใต้มาแล้ว ด้วยการมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย หลังจากเปิดดำเนินไปได้เพียง 5 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากที่ทำให้ KAKAO Bank ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้เช่นปัจจุบัน

หรือการจับมือกับ WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีนรายล่าสุด ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีบัญชีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน 362 ล้านบัญชี และคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินทั้งหมดของ WeBank คือกลุ่มชนชั้นแรงงานกว่า 75% ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กลุ่ม Unserved และUnderserved โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

ดังนั้น การมีทั้ง KAKAO Bank ที่ เป็น Consortium ของเอสซีบี เอกซ์ ในการจัดตั้ง Virtual bank และ WeBank ที่เก่งกาจด้านเทคโนโลยีทางการเงินอย่างที่หาตัวจับได้ยาก ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ชิปด้านเทคโนโลยี จะยิ่งเสริมศักยภาพให้กับ Consortium แข็งแกร่งมากขึ้น 

เหล่านี้ ทำให้ “เอสซีบี เอกซ์” มีความแตกต่างกับ ยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ที่สนใจจัดตั้ง Virtual bank ด้วยการใช้จุดแข็งผ่านการใช้ “เทคโนโลยี” มาเป็นอาวุธ ในการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่มากขึ้น นับว่า เป็นคู่แข่งที่ล้มได้ยากในสนามรบ Virtual bank ครั้งนี้ !

ยักษ์ถัดมา ที่เป็นคู่แข่งที่มองข้ามไม่ได้คือ กลุ่มกัลฟ์ หรือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงาน ที่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ร่วมกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อยื่นขอไลเซนส์จัดตั้ง Virtual bank เช่นเดียวกัน

ความเหนือของยักษ์ใหญ่ในกลุ่มที่สอง มีความเด่นคือ “ฐานลูกค้า” ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งฐานลูกค้าผ่านกรุงไทย ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 40 ล้านราย หรือถุงเงินอีก 1.8 ล้านราย รวมไปถึงฐานลูกค้าภายใต้ OR ที่มีฐานสมาชิกกว่า 8 ล้านคน หรือแม้แต่พันธมิตรจากเอไอเอส ที่มีฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านราย ซึ่งเฉพาะภายใต้กลุ่มนี้ปาไปแล้วเฉียด 100 ล้านคน ดังนั้น หากร่อนตะแกรงเฉพาะคนที่ ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากในกลุ่มก็เชื่อว่าจะมีไม่น้อย ที่จะมาเป็นฐานลูกค้า Virtual bank ในอนาคต

ยักษ์ใหญ่กลุ่มสุดท้าย ที่เรียกว่าน่ากลัวไม่แพ้ 2 กลุ่มแรกคือ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง Virtual bank เช่นเดียวกัน

แม้จะยังไม่ได้จับมือกับใคร แต่เฉพาะพาร์ตเนอร์ชิปในเครือ ก็ถือว่าเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งมหาศาล ทั้ง บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ซึ่งมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 27 ล้านคน หรือ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba

ดังนั้นคู่แข่งในเครือซีพี  ที่มีทั้งผู้ที่เก่งกาจในเรื่องเทคโนโลยี และผู้กุมฐานลูกค้าอยู่จำนวนมาก ดังนั้นความพร้อมในการเข้ามาลงแข่งในสนามของ Virtual bank ครั้งนี้ของกลุ่ม “ซีพี” ก็ถือว่าไม่ไกล หรือยากเกินเอื้อมที่จะประสบความสำเร็จได้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์