BAM คาดบอร์ดไฟเขียวตั้ง JVAMC ภายในพ.ค.นี้

BAM คาดบอร์ดไฟเขียวตั้ง JVAMC ภายในพ.ค.นี้

แบม” เดินหน้าจัดตั้ง “เจวีเอเอ็มซี” ร่วมกับแบงก์รัฐ เตรียมชงบอร์ดอนุมัติต้นพ.ค.นี้ หากไม่ทันเสนอบอร์ดนัดพิเศษอีกครั้ง ชี้หวังผ่านอนุมัติพร้อมจัดตั้งบริษัท ก่อนขอยื่นไลเซนส์ ธปท. ภายในไตรมาส 2 ปี 67 คาดใช้เงินลงทุนเฟสแรก 500-1,000 ล้านบาท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างเร่งหารือกับธนาคารเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) ในการจัดตั้ง JVAMC หรือธุรกิจร่วมทุน เพื่อบริหารสินทรัพย์หนี้ด้อยคุณภาพ

โดยบริษัทเตรียมส่งให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) อนุมัติได้ภายในช่วงต้นพ.ค.นี้ แต่หากพิจารณาไม่ทันอาจมีการนัดประชุมบอร์ดเป็นนัดพิเศษภายในปลายเดือนพ.ค. อีกครั้ง เพื่อพิจารณาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว โดยคาดหลังบอร์ดมีมติเห็นชอบจะสามารถจดทะเบียนตั้งบริษัทร่วมทุนได้ หลังจากนั้นคาดหวังจะเห็นการยื่นขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้

BAM คาดบอร์ดไฟเขียวตั้ง JVAMC ภายในพ.ค.นี้ ทั้งนี้ การตั้งบริษัทร่วมทุน หรือเจวีเอเอ็มซีจะเป็นการถือหุ้นร่วมกันคนละ 50% โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนในการตั้งบริษัท และใช้ซื้อหนี้ภายใต้เจวีเอเอ็มซีในเฟสแรกราว 500-1,000 ล้านบาท

และระยะถัดไปสามารถขยายการลงทุนเพิ่มเติมได้เป็นเฟสถัดไป เพื่อรับซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มได้

ส่วนเงินลงทุนตั้ง JVAMC เชื่อว่ามีกระแสเงินทุนเพียงพอ โดยเฉพาะปีก่อนที่บริษัทสามารถเรียกเก็บเงินสดจากการบริหารหนี้ได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเพียงพอในการนำมาลงทุนต่อยอดธุรกิจในระยะข้างหน้า และรับซื้อหนี้เสียมาบริหารภายใต้ BAM แน่นอน

“ในส่วน BAM มองการตั้ง JVAMC ครั้งนี้ จะมีประโยชน์มากทั้งกับบริษัทและประเทศ ในส่วนบริษัทสามารถรับซื้อหนี้เสียมาบริหาร และช่วยลดหนี้เสียในระบบแบงก์ได้ ซึ่งสิ่งที่เราจะได้คือ ทรัพย์ที่จะเข้ามาให้เราบริหารมากขึ้น และได้ผลตอบแทนเป็นค่าบริหาร และได้กำไรในรูปเงินปันผล แต่เป้าหมายเราที่สูงสุดมากกว่าการทำธุรกิจคือ การช่วยลูกหนี้ ช่วยลดครัวเรือนในระบบให้ลดลง

ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทั้งระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้ และช่วยลูกหนี้หลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้”

อย่างไรก็ตาม มองการสร้างรายได้ธุรกิจเจวีเอเอ็มซีจะเห็นผลได้ชัดเจน หรือมีรายได้เข้ามาคือปี 2568 และขึ้นอยู่กับไทม์มิ่งการโอนทรัพย์เข้ามาภายใต้เจวีเอเอ็มซี หากสามารถดำเนินธุรกิจได้เร็วก็มีโอกาสรับรู้รายได้เร็วเช่นกัน

“เราไม่อยากบอกว่าจะปิดดีลได้ 2-4 ราย เพราะวันนี้ยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ตกผลึก สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ ความพร้อมเงินทุน ราคาซื้อขาย การโอนสินทรัพย์เข้ามาเจวีเอเอ็มซี การจัดการภายใน และกำลังคน ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าเราจะร่วมได้กี่ราย เราก็ต้องดูรายที่พร้อมที่สุด และสิ่งที่สำคัญ ต้องดูไปถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจระยะยาว ตามกำหนดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดทั้ง 15 ปี ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจระยะสั้นๆ 1-2 ปีเท่านั้น จึงต้องคิดให้รอบคอบ”

ส่วนการดำเนินธุรกิจภายใต้ BAM ปีนี้ มองจะเป็นปีทองธุรกิจบริหารสินทรัพย์ เนื่องจากเป็นปีที่สถาบันการเงินขายหนี้เสียออกมาจำนวนมาก โดยคาดไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากหมดมาตรการปรับโครงสร้างการเงินของธปท. แล้ว ทำให้แบงก์กล้าตัดสินใจนำหนี้เสียออกมาขายทอดตลาดมากขึ้น

โดยในส่วน BAM ตั้งเป้าหมายลงทุนซื้อสินทรัพย์ปี 2567 คิดเป็นภาระหนี้รวมที่ 70,000 ล้านบาท เพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 20,000 ล้านบาท และเพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์ และโอกาสทางธุรกิจ โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และทรัพย์รอการขาย (NPAs) อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท

ทั้งนี้ เตรียมลงทุนเพื่อซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารปีนี้ราว 9,000-10,000 ล้านบาท ปัจจุบันซื้อหนี้เข้ามาบริหารแล้ว 4,000-5,000 ล้านบาท ยังมีหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มเติมอีกเป็น 10,000 ล้านบาท ที่เป็นทั้งหนี้ค้างท่อตั้งแต่ปี 2566 และหนี้ใหม่ที่เข้ามาขายทอดตลอดในปี 2567 ในนเร็วๆ นี้ มีแผนออกหุ้นกู้ราว 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์ และใช้เป็นเงินลงทุนหมุนเวียนภายในบริษัทในอนาคต