'ประชานิยม' พ่นพิษ ต่างชาติเทขายพันธบัตรอินโดฯ เกือบ 4 หมื่นล้าน

'ประชานิยม' พ่นพิษ ต่างชาติเทขายพันธบัตรอินโดฯ เกือบ 4 หมื่นล้าน

นโยบาย 'แจกนมฟรี -อาหารกลางวันฟรี' ของรัฐบาลใหม่อินโดนีเซีย 'ปราโบโว ซูเบียนโต' พ่นพิษ นักลงทุนต่างชาติกังวลฐานะการคลัง แห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียเฉียด 4 หมื่นล้านบาท

นักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ (เกือบ 4 หมื่นล้านบาท) จากความกลัวนโยบายทางการคลัง หลังจบการเลือกตั้งในประเทศ"อินโดนีเซีย" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์  ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ "ปราโบโว ซูเบียนโต" ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับงบประมาณและการใช้จ่ายที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

นับตั้งแต่ปิดหีบการเลือกตั้งผ่านมา 20 วัน พบว่า มีเงินไหลออกสุทธิจากอินโดนีเซียไปแล้วถึง 16 วัน 

ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง "เกาหลีใต้" และ "อินเดีย" กลับมีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ส่วน "ประเทศไทย" พบเงินทุนไหลออกราว 502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน
 

ใช้เงิน 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ แจกนมฟรี-ข้าวกลางวันฟรี 80 ล้านคน  

นโยบายประชานิยมของ "ปราโบโว ซูเบียนโต" ที่ทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะทำให้รัฐบาลมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น นั้นคือ แผนการแจกอาหารกลางวันและนมฟรีให้นักเรียนมากกว่า 80 ล้านคน  รวมไปถึงการเพิ่มเงินบำนาญ และการลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

นโยบายเหล่านี้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนเกี่ยวกับภาระงบประมาณที่จะเพิ่มสูงขึ้น ที่อาจใช้งบประมาณรวมทั้งหมดสูงถึง 460 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าการขาดดุลงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลอินโดนีเซียในปี 2566 เสียอีก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามยืนยันว่า นโยบายเหล่านี้จะได้รับการดำเนินการอย่างยั่งยืน โดยที่ไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับประเทศมากเกินไป จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า นโยบายของปราโบโวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างไร และนักลงทุนต่างชาติจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อนโยบายเหล่านี้ 
 

เอางบประมาณมาจากไหน?

นักกลยุทธ์ของโกลด์แมน แซคส์ มองว่า เหล่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มุ่งเน้นตลาดเกิดใหม่ได้ แสดงความ"กังวล"เกี่ยวกับการผ่อนคลายทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นโดยรัฐบาลใหม่ที่กำลังเข้ามารับตำแหน่ง จากนโยบายประชานิยมเช่นโครงการอาหารกลางวันฟรี ทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะหาเงินทุนมาสนับสนุนโครงการนี้อย่างไร


ทางด้าน จอน แฮร์ริสัน กรรมการผู้จัดการบริษัทโกลบอลดาต้า ทีเอส ลอมบาร์ด ระบุแม้ว่าโครงการอาหารกลางวันฟรีจะมีประโยชน์ด้านสุขภาพในระยะยาว แต่ "การขยายงบประมาณใดๆ ก็ตามจะต้องดำเนินการด้วยวิธีที่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรจับตาดูการใช้จ่ายของนโยบายนี้ในอนาคต"

การใช้งบประมาณมหาศาลยังบ่งชี้ว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (fiscal consolidation) ในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรสกุลเงินรูเปียห์พุ่งขึ้น หรือหมายถึงต้นทุนกู้ยืมพุ่งในประเทศจะพุ่งขึ้นตาม กระทบต่อภาระหนี้ทั้งของรัฐบาลและภาคเอกชน

ขณะที่ธนาคารอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ไม่เปลี่ยนแปลงในสัปดาห์นี้ ซึ่งนักลงทุนยังคงจับตาแนวโน้มของการเคลื่อนไหวในอนาคตของธนาคารกลางอินโดนีเซียต่อไป